xs
xsm
sm
md
lg

"ทรู ออนไลน์" ชี้จุดเปลี่ยนตลาดเน็ตบ้าน สิทธิประโยชน์ลูกค้าต้องมาก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กว่า 20 ปี ในการให้บริการเน็ตบ้านคู่คนไทย ‘ทรู ออนไลน์" เดินหน้าขยายฐานลูกค้า พร้อมยกระดับมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ตอกย้ำการเป็น Game Changer ในธุรกิจ ผ่านความใส่ใจทั้งบริการ คุณภาพ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับบทใหม่ในการสร้างสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าที่ใช้งาน ตอบสนองการใช้งานทั้งครอบครัว

สกลพร หาญชาญเลิศ หัวหน้าสายงานออนไลน์คอนเวอร์เจนซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ว่า ยังมีโอกาสในการเติบโตจากทั้งในแง่ของมูลค่า และจำนวนผู้ใช้งาน เนื่องจากเน็ตบ้านได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัย 5 ของการใช้ชีวิต ที่ตอบสนองทั้งในแง่ของความบันเทิง การทำงาน และการเรียน

“ทรูถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านในเมืองไทยมาตั้งแต่ในยุคของสายโทรศัพท์ ก่อนพัฒนามาสู่สายเคเบิล (Docsis) และกลายมาเป็นโครงข่ายใยแก้วนำแสง หรืออินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ที่ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งด้วยการที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าที่ใช้งานให้มากที่สุด”

สกลพร หาญชาญเลิศ หัวหน้าสายงานออนไลน์คอนเวอร์เจนซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน มูลค่าของอุตสาหกรรมถูกคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสเติบโตเฉลี่ยที่ราว 5% โดยมาจากจำนวนลูกค้าที่ใช้งานเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของครัวเรือนในประเทศไทย เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยของบริการที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากการทำตลาดรูปแบบใหม่ที่เสริมสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้าเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบ้าน ถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังเผชิญกับความท้าทายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั้งอุตสาหกรรม เนื่องจากว่าที่ผ่านมา เกิดการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงในการดึงฐานลูกค้าระหว่างผู้ให้บริการ จนทำให้ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

“การแข่งขันทางด้านราคาถือเป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรม เพราะกลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งการเดินสาย อุปกรณ์ที่เข้าไปติดตั้งในแต่ละบ้านลูกค้า อาจสูญเสียไปเมื่อเกิดการแข่งขันด้านราคารุนแรง จนทำให้กลายเป็นว่าลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ใช่ลูกค้าที่แท้จริง”

เพียงแต่ว่าด้วยการที่ทรู ออนไลน์มีจำนวนลูกค้าใช้งานจำนวนมาก จึงทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่หมุนเวียนใช้งานอยู่สูง อย่างเช่นการย้ายที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนอยู่ต่อเนื่อง ในขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมยังเดินหน้าต่อไป ซึ่งทรู ออนไลน์มั่นใจว่า เมื่อเทียบในระดับราคาที่เท่ากัน ลูกค้าจะได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า

   ธนะพล จันทวสุ หัวหน้าสายงานด้านปฏิบัติการโครงข่ายออนไลน์ ทรู คอร์ปอเรชั่น
ก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายปี 2565 ทรู ออนไลน์ มีการรายงานฐานลูกค้าใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อยู่ที่ราว 4.97 ล้านราย แต่หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์ในการคำนวณลูกค้าก่อนการควบรวมธุรกิจทำให้มีการปรับลดจำนวนลูกค้าที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไป ทำให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทรู ออนไลน์ ยังครองอันดับ 1 ในตลาดเน็ตบ้านด้วยจำนวนลูกค้า 3.83 ล้านราย

ส่วนในปัจจุบัน ทรู ออนไลน์ ณ สิ้นไตรมาส 2/66 มีฐานลูกค้าใช้งานอยู่ที่ 3.82 ล้านราย ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย จากการที่มีการยกเลิกโปรโมชันส่วนลดบางส่วน แต่ทำให้ในภาพรวมค่าบริการเฉลี่ยต่อรายต่อเดือน (ARPU) เพิ่มสูงขึ้น 2.5% เป็น 475 บาทต่อเดือน ส่งผลให้ในไตรมาส 2 ทรู ออนไลน์มีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 5,935 ล้านบาท

ในส่วนของการลงทุน ทรู ออนไลน์ ยังมีการใช้งบประมาณหลักพันล้านบาทในแต่ละปี เพื่อขยายโครงข่ายโดยเฉพาะในส่วนของคอร์เน็ตเวิร์ก เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานแบนด์วิดท์ที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า รวมถึงการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมเพิ่มเติมตามครัวเรือนของประชากรทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้น

สำหรับภาพรวมตลาดเน็ตบ้าน นอกจากทรู ออนไลน์ ยังถือเป็นผู้นำตลาดยังมีคู่แข่งอย่าง AIS ที่ปิดไตรมาส 2 มีฐานลูกค้าอยู่ 2.33 ล้านราย โดยมี ARPU อยู่ราว 414 บาท พร้อมกับเป้าหมายขยายฐานลูกค้าเป็น 2.5 ล้านรายในสิ้นปีนี้ ส่วน 3BB ที่ข้อมูลในช่วงไตรมาส 1 มีลูกค้าอยู่ราว 2.3 ล้านราย ARPU อยู่ที่ 566 บาท ส่วน NT มีผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอยู่ราว 1.8 ล้านรายในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

โดยสัดส่วนการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตบ้านของคนไทย เมื่อเทียบจำนวนต่อครัวเรือนแล้วอยู่ที่ราว 47.5% ทำให้มีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการจะเน้นการเพิ่ม ARPU ด้วยการนำเสนอบริการแบบครบวงจร รวมถึงการจัดหาบริการ และนวัตกรรมที่หลากหลายมาตอบโจทย์การใช้งาน


อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังต้องจับตาการควบรวมกิจการระหว่าง AIS และ 3BB มูลค่ากว่า 32,420 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการรอมติพิจารณาจากทาง กสทช. ว่าจะอนุมัติให้มีการรวมธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการอนุมัติจะทำให้ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของผู้นำตลาด และอาจจะต้องมีมาตรการออกมากำกับดูแลการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มเติม

***ปรับแนวคิด ยกระดับมาตรฐานเน็ตบ้าน

สำหรับทิศทางการให้บริการของทรู ออนไลน์ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา จะเน้นการยกระดับมาตรฐานของการให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งกลายเป็นว่าปัจจุบันลูกค้ากว่า 50% เลือกใช้งานแพกเกจอินเทอร์เน็ตที่ความเร็ว 1 Gbps เป็นมาตรฐาน ซึ่งถ้าย้อนไปราว 3-4 ปีก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่จะเลือกใช้งานแพกเกจที่ความเร็วราว 500 Mbps เป็นหลัก

ความน่าสนใจของแพกเกจ True Gigatex Fibre ในปัจจุบันที่ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นราว 600 บาท ลูกค้าของทรู ออนไลน์ สามารถที่จะเลือกปรับแต่งการใช้งานได้ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละครัวเรือน โดยมีการนำเสนอทั้งแพกเกจที่ให้อินเทอร์เน็ตเริ่มต้น 500 Mbps ต่อเนื่องไปยัง 1 Gbps 2 Gbps และ 10 Gbps ที่สามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอย่างคอนเทนต์ความบันเทิงผ่าน TrueID หรือเลือกรับ Mesh WiFi เพื่อขยายสัญญาณให้ครอบคลุมทั่วบ้านมากยิ่งขึ้น รวมถึงการทำตลาดแบบคอนเวอร์เจนซ์ให้ทั้งลูกค้าที่ใช้งานมือถือเครือข่ายทรูมูฟ เอช และดีแทค รับส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม

จนถึงการนำเสนอแพกเกจล่าสุดคือการให้บริการอินเทอร์เน็ต พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยกล้องวงจรปิด ที่เชื่อมต่อข้อมูลกับ TrueX ทำให้สามารถจัดเก็บวิดีโอย้อนหลังได้ 7 วัน รวมถึงการประกันที่อยู่อาศัย และประกันชีวิต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมนี้ที่เพิ่มความคุ้มครองถึงบ้านให้แก่ลูกค้าที่ใช้งาน

“ทรู ออนไลน์ มองว่าปัจจุบันการให้บริการเน็ตบ้านจะเข้าไปให้บริการถึงบ้านของลูกค้าอยู่แล้ว ในแง่ของการเข้าไปติดตั้ง หรือการเดินสายไฟเบอร์เข้าไปแต่ละบ้านเรือน ทำให้มองถึงการเสริมความคุ้มครองในแง่ของประกันภัยเข้าไป ทำให้ลูกค้าที่สมัครใช้งานได้รับความคุ้มครองจากทั้งภัยพิบัติ การโจรกรรม จนถึงชดเชยไฟดับ และประกันชีวิต กรณีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเข้าไปด้วย”


แน่นอนว่า การเข้าถึงบริการประกันภัยต่างๆ จะช่วยเปิดโอกาสให้ทรู ออนไลน์ สามารถถึงฐานลูกค้าใหม่ให้เข้ามาใช้งานแพกเกจ True Gigatex PRO Security เพิ่มขึ้นราว 15% ในแต่ละเดือน ซึ่งปัจจุบันทรู ออนไลน์มีกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานเน็ตบ้าน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดจาก TrueX อยู่ราว 2.4 แสนราย ในขณะที่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดจะเป็นลูกค้าที่ใช้งานเน็ตบ้าน พร้อมกับ TrueID ที่มีอยู่ราว 2 ล้านราย

ธนะพล จันทวสุ หัวหน้าสายงานด้านปฏิบัติการโครงข่ายออนไลน์ ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานใหม่ของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายใต้คอนเซ็ปต์ 4 มิติ ที่ตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า ทรู ออนไลน์ เป็นผู้นำเน็ตบ้านไฟเบอร์อัจฉริยะ แรง เสถียร รู้ใจ ดูแลฉับไวใน 24 ชั่วโมง ด้วยการนำระบบ AI มาช่วยดูแลคุณภาพสัญญาณ พร้อมด้วยรางวัลการันตีระดับโลกจาก nPerf 3 ปีซ้อน

โดยในมิติของความเร็ว และความเสถียร Speed & Stability ด้วยการนำ AI เข้ามาคอยช่วยในการมอนิเตอร์การใช้งานเครือข่ายเน็ตบ้านของลูกค้า ทั้งในแง่ความครอบคลุมของสัญญาณภายในบ้าน ต่อเนื่องไปยังการเชื่อมต่อระหว่างคอร์เน็ตเวิร์กไปยังชุมสายย่อยก่อนเชื่อมต่อไปยังโมเด็มในแต่ละบ้าน ทำให้เมื่อมีจุดที่สัญญาณขาดการเชื่อมต่อ หรือพบความผิดปกติของความเร็วจะมีการแจ้งเตือนไปยังทีมงานที่ดูแล เพื่อแจ้งเรื่องให้เข้าไปตรวจสอบทันที


ต่อเนื่องไปยังมิติที่ 2 คือเรื่องของการบริการ (Service) ที่จะเข้าไปคอยดูแล และแก้ไขปัญหาภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงในขั้นตอนของการติดตั้งที่ทีมงานจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ลูกค้า ในกรณีที่ติดตั้งแล้วสัญญาณไม่ครอบคลุม สามารถเลือกสมัครใช้งาน Mesh WiFi เพื่อกระจายสัญญาณเพิ่มเติมได้ ทำให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีมิติของการ Synergy ที่เปิดให้ลูกค้าทรู ออนไลน์ สามารถเข้าถึงบริการอื่นๆ ในเครืออย่างด้านคอนเทนต์ และความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น True ID หรือการเลือกรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และบริการสตรีมมิ่งต่างๆ ของพันธมิตร ตามด้วยมิติสุดท้ายคือเรื่องของความปลอดภัย (Security) อย่างการติดตั้งกล้องวงจรปิด และความคุ้มครองประกันภัยเพิ่มเติม

สกลพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยรูปแบบการให้บริการที่เปลี่ยนไปลูกค้าสามารถที่จะเลือกสมัครบริการแบบบอกรับสมาชิก (Subscription) เพิ่มเติมได้ ทั้งการเพิ่มจุด Mesh WiFi ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วบ้าน การเพิ่มกล้องวงจรปิด TrueX ที่เปิดให้ใช้งานได้สูงสุด 5 ตัว จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเพิ่ม ARPU และทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างแข็งแรงต่อไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น