หลังประกาศมาตรการยกเว้น Capital Gains Tax จากความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในเดือนมิถุนายน 2565 พบการลงทุนสตาร์ทอัปในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 530 ล้านเหรียญในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566
รายงานจาก Nikkei Asia สะท้อนเงินให้ถึงลงทุนใน Startup ไทยที่เพิ่มสูง โดยพบว่าหลังจากมีการออกมาตรการยกเว้น Capital Gains Tax ในช่วงไตรมาสแรกมีการลงทุนในสตาร์ทอัปไปถึง 530 ล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 ก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด
นอกจากนี้ ข้อมูลของ Cento Report ยังพบว่าในครึ่งปีแรก 2022 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยี (Tech Investment) เพียง 2% และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในช่วงปลายปี 2022 แสดงให้เห็นถึงเงินลงทุนใน Startup ไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบัน สตาร์ทอัป อีโคซิสเต็มในประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 52 จากการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ตอัปโลก ประจำปี 2566 (Global Startup Ecosystem Index 2023) ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศในเอเชียลำดับต้นๆ (อันดับ 6) ที่มีเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศของสตาร์ทอัป
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้สิงคโปร์ได้รับความนิยมในการลงทุนของสตาร์ทอัปเนื่องมาจาก การคอร์รัปชันต่ำ การใช้เอกสารที่ไม่ยุ่งยาก และมีประชากรที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ได้เปรียบว่าประเทศในแถบตะวันตก
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า ข้อมูลจาก Nikkei Asia สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จของสภาดิจิทัลฯ ในฐานะผู้นำภาคเอกชนด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผลักดันกฎหมายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เพื่อสนับสนุนธุรกิจ Startup ไทยให้มีเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้นถึง 530 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกปี 2023 ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญอันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
“จำนวน Tech Startup ในประเทศไทยมีเพียง 1,000 ราย ในขณะที่สิงคโปร์มี Tech Startup ถึง 50,000 ราย จึงสามารถระดมทุนด้านเทคโนโลยีได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ จึงเห็นถึงความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและ Startup ในประเทศไทย จึงได้ผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น”
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ ได้เข้าร่วมเวทีการประชุมเครือข่ายนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SVCA Conference 2023 จัดโดย Singapore Venture Capital & Private Equity Association และได้พบกับ Sequoia Capital ซึ่งเป็นหนึ่งใน VC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึง VC แถวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยสภาดิจิทัลฯ เน้นย้ำยุทธศาสตร์ในการผลักดันประเทศไทยเป็น Hub ของ Innovation & Technology ดังเช่นสิงคโปร์ โดยประเทศไทยได้มีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็น 0% ทำให้ข้อจำกัดทางกฎหมายลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
มาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน Startup มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรจากการขายหุ้น Startup ไทย จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) สนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของ Startup ไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนา Startup Ecosystem เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของ Startup ไทย พร้อมก้าวสู่ระดับสากล
นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน ได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม Startups และอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1) มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในธุรกิจ Startups ไทย 2) ภาษีเงินได้ 17% สำหรับชาวต่างชาติทักษะสูง เมื่อทำงานในไทย 3) ลดหย่อนภาษี 150% หรือสนับสนุน 50% ของค่าจ้างงานทักษะอาชีพด้านดิจิทัล 4) ลดหย่อนภาษี 250% หรือสนับสนุน 50% ของค่าอบรมบุคลากรในทักษะด้านดิจิทัล 5) Convertible Debt, ESOP และ Crowdfunding สำหรับ SMEs และ Startups 6) ตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange สำหรับ SMEs และ Startups 7) ลดหย่อนภาษี 200% เมื่อธุรกิจซื้อซอฟต์แวร์ที่ผลิตในประเทศ 8) บัญชีนวัตกรรมไทย ให้เงื่อนไขพิเศษสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ 9) SMEs ได้แต้มต่อในการประมูลโครงการภาครัฐ