xs
xsm
sm
md
lg

กรมการปกครองแนะนำคนไทยใช้ 'ThaID' ช่วยยืนยันตัวตน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พร้อมนำแอปพลิเคชัน ThaID (ไทยดี) ยกระดับการให้บริการประชาชนภายใต้รัฐบาลดิจิทัล ด้วยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านทางแอป ThaID ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ลดความเสี่ยงปลอมแปลงเอกสาร สามารถใช้แทนบัตรประชาชนได้ในการรับบริการต่างๆ จากภาครัฐ ปลื้มหลังจากเปิดตัวไตรมาสแรกปี 66 มียอดดาวน์โหลดกว่า 5.8 ล้านครั้ง ปัจจุบันพร้อมใช้ยืนยันตัวตนกับภาครัฐได้ถึง 11 ระบบ เผยขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ขออนุญาตใช้งานการยืนยันตัวตนถึงกว่า 70 หน่วยงาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ชวนคนไทยดาวน์โหลดและใช้งานได้ฟรี ทั้งระบบ Android และ iOS

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมการปกครอง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตามแผนพัฒนาภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย โดยได้ดำเนินการจัดทำและพัฒนาแอปพลิเคชัน ThaID เพื่อเป็นระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รองรับการใช้งานของประชาชนทั้งประเทศ ติดต่อกับราชการโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงาน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการใช้ทรัพยากรกระดาษที่สิ้นเปลือง ลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม สร้างมิติใหม่ของการทำธุรกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถบริการพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยระบบการทำงานของแอปพลิเคชัน ThaID คือ การแสดงภาพบัตรประจำตัวประชาชนในรูปแบบดิจิทัล ทั้งด้านหน้าบัตร และหลังบัตร เพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Digital ID) รวมถึงการเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification System) ทางดิจิทัล เมื่อประชาชนเข้าไปใช้บริการจากทางภาครัฐหรือภาคเอกชนที่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน ก็สามารถเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชัน ThaID เพื่อยืนยันตัวตนได้เลย โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลหรือใช้เอกสารยืนยันตัวตน

สำหรับแอปพลิเคชัน ThaID ได้เปิดตัวให้ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดและใช้ยืนยันตัวตนได้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดกว่า 5.8 ล้านครั้ง ตามวัตถุประสงค์ของแอปพลิเคชันคือ “การพิสูจน์และยืนยันตัวตน...ของคนไทย” ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่ขออนุญาตใช้งานการยืนยันตัวตน จำนวน 50 หน่วยงาน พร้อมด้วยหน่วยงานภาคเอกชน 24 หน่วยงาน ซึ่งขณะนี้มีระบบบริการที่ใช้ยืนยันตัวตนได้แล้ว 11 ระบบ ดังนี้

1) งานทะเบียนออนไลน์ โดยกรมการปกครอง เช่น การใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง การตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ การแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเอง การมอบหมายปลูกสร้างบ้านใหม่ (ขอเลขที่บ้าน) การคัดรับรองเอกสารด้วยตนเอง 2) ยื่นภาษีออนไลน์ โดยกรมสรรพากร 3) ระบบ Health Link โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) 4) ระบบยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมออนไลน์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน 5) แอปพลิเคชันเงินเด็ก โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน 6) ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 7) ระบบแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ 8) ระบบ DIP e-services โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา 9) ระบบ SEIS โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 10) ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต ของกรมการขนส่งทางบก และ 11) ระบบ LandsMaps ของกรมที่ดิน และจะมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมใช้ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกับกรมการปกครองเพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป


ทั้งนี้ กรมการปกครองได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ThaID โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลเป็นหลักการที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เช่น มีข้อความเตือน (Notification) ทุกครั้งที่มีการขอเข้าถึงข้อมูล การให้ข้อมูลเจ้าของข้อมูลจะต้องให้ความยินยอม โดยต้องใส่รหัส 8 หลักตามที่ตั้งไว้เอง ถ้าไม่ยินยอมหรือรหัสไม่ตรงกับที่ตั้งไว้ ข้อมูลจะไม่มีการส่งออกไป สามารถตรวจสอบรายการที่ให้ข้อมูลได้ด้วยตนเองจากประวัติการให้ข้อมูล สามารถใช้งานได้เพียงโทรศัพท์เครื่องเดียวเท่านั้น ถ้ามีการลงทะเบียนเครื่องใหม่สำเร็จ เครื่องเก่าจะถูกยกเลิกทันที โทรศัพท์ที่มีการแก้ไขระบบของเครื่อง (Jailbreak) จะไม่สามารถใช้งาน ThaID ได้ เป็นต้น โดยกรมการปกครองได้เน้นย้ำบุคลากรในพื้นที่ทั้ง 878 อำเภอ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ร่วมสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนในการดาวน์โหลดและใช้แอปพลิเคชัน ThaID บนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้นำไปเผยแพร่ให้บุคคลในครอบครัวได้ใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชัน ThaID อย่างกว้างขวาง

สำหรับแอปพลิเคชัน ThaID สามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้บนโทรศัพท์มือถือ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งระบบ Android และ iOS โดยดำเนินการได้ 2 ช่องทาง คือ ช่องทางที่ 1 ลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ โดยนำโทรศัพท์มือถือและบัตรประจำตัวประชาชน มายังสำนักทะเบียนทั่วประเทศ และช่องทางที่ 2 ลงทะเบียนด้วยตนเอง ผ่านแอปพลิเคชัน ThaID และยืนยันตัวตันตามขั้นตอนในระบบ โดยกรมการปกครองยังคงมุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชัน ThaID ภายใต้ความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล


กำลังโหลดความคิดเห็น