23 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันวิศวกรรมสตรีสากล (International Women in Engineering Day) วันที่โลกจะเฉลิมฉลองให้ผู้หญิงทุกคนที่มีอิทธิพลต่อวงการวิศวกรรม ท่ามกลางงานวิศวกรหลากหลายด้าน “หัวเว่ย” (Huawei) เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เลือกจัดงานโรดโชว์เพื่อจุดประกายให้ผู้หญิงไทยเข้ามาทำงานสายเทคมากขึ้น ในยุคที่ทีมพัฒนา AI ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ชาย!
“ศิโรรัตน์ สุนทรสุข” Consultant Developer นักพัฒนาอาวุโสของบริษัท ThoughtWorks เล่าในงานโรดโชว์ “Women in Tech” นี้ว่า ปัจจุบันนักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นั้นเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สถิติพบว่านักวิจัย AI ระดับโลกเป็นผู้หญิงเพียง 4 คนจากทั้งหมด 12 คนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญด้าน AI แถวหน้า ภาวะนี้ทำให้ในช่วงแรกของการพัฒนา AI โลกได้เห็นข่าวว่า AI ในระบบที่มีชื่อเสียงอย่าง Siri (สิริ) ของแอปเปิลนั้นมีปัญหาเรื่องการวิเคราะห์เสียงของผู้หญิง ซึ่งการแยกเสียงผู้ชายที่ดีกว่านั้นเป็นภาวะที่เกิดจากการเทรนด์เสียงผู้หญิงที่ไม่มากพอ
“ผลจากการที่ทีมพัฒนามีผู้ชายมากกว่า และแม้ได้พยายามให้เกิดความหลากหลายแล้ว แต่ยังไม่มากพอ” ศิโรรัตน์เล่า “ความไม่หลากหลายในวงการนักพัฒนา AI ยังอธิบายได้ด้วยการทดลองในปี 2017 ที่พบว่า AI ตอบกลับต่อคำพูดที่เข้าข่ายล่วงละเมิดทางเพศว่าขอบคุณ ซึ่งกว่า 80% ของ AI ยุคนั้นตอบข้อความเหล่านี้ว่า ขอบคุณค่ะ”
***คนทำ AI ต้องหลากหลาย
แม้ศิโรรัตน์จะตั้งคำถามให้ผู้เข้าชมงานไปคิดต่อเองถึงผลลัพธ์หากลูกหลานใครได้ใช้ AI ที่สร้างจากความไม่หลากหลายเหล่านี้ แต่สิ่งที่ชัดเจนแบบไม่ต้องคิดต่อคือการมีทีมนักพัฒนาที่หลากหลายจะทำให้ AI สามารถเตรียมคำตอบได้อย่างชาญฉลาด แถมยังเป็นตัวแทนทุกคน ไม่ใช่แค่เพศใด หรือชนชาติใด
อีกตัวอย่างคือการขอสินเชื่อไม่ผ่าน ศิโรรัตน์เล่าว่ามีบางกรณีที่ AI ประเมินว่าลูกค้ามีแนวโน้มใช้เงินกับความรุนเเรง จึงไม่อนุมัติเงินกู้ เหตุที่เป็นเช่นนี้คือข้อมูลจากลูกค้ากลุ่มนี้ยังน้อย จึงทำให้ผลการประเมินนั้นไม่เท่าเทียม ตัวอย่างนี้จึงสะท้อนถึงความจำเป็นที่คนทำ AI ทั่วโลกจะต้องมีความหลากหลายผสมกัน
ทางออกของเรื่องนี้คือการเปิดให้ทุกคน ทุกชนชั้น เข้าถึงงานด้าน AI ได้ และจะต้องไม่ส่งผู้หญิงออกไปจากอุตสาหกรรม ตรงนี้ศิโรรัตน์ชี้ว่าเป็นทางออกที่ทุกคนในสังคมทำด้วยกันได้
“การเรียน การทำงาน การมีครอบครัว ทำไมผู้หญิงถึงต้องเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเมื่อทั้ง 3 เรื่องนี้ไปด้วยกันได้ในเวลาเดียวกัน ตรงนี้มีอคติที่สังคมต้องรับรู้และลดมันลง”
ภาวะคนทำงาน AI ที่มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เป็นเพียงหนึ่งในประเด็นใหญ่จากงาน Women in Tech ที่หัวเว่ยเลือกประเทศไทยเป็นพื้นที่จัดงานครั้งแรกในอาเซียน โดยในงานมีการให้ข้อมูลรายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ประจำปี พ.ศ.2566 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economy Forum) ว่าอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพสำคัญที่มีค่าตอบแทนสูง และจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในอนาคต แต่จำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขา STEM ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพที่ไม่อยู่ในกลุ่ม STEM ผู้หญิงมีจำนวนมากถึงเกือบครึ่ง (49.3%)
ปัจจุบัน อาชีพในสาขา STEM มีผู้หญิงเพียง 29.2% เท่านั้น คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ว่าสัดส่วนผู้หญิงในตลาดงาน STEM โลกนั้นมีเพียง 1 ใน 3 อย่างไรก็ตาม สถิติในประเทศไทยนั้นดีกว่าโดยคิดเป็น 51% หรือราว 1 ใน 2 ถือว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีของผู้หญิง ต่างจากพื้นที่อย่างแอฟริกาที่ผู้หญิงทำอาชีพ STEM ได้ยากเพราะชีวิตในห้องเรียนและชีวิตจริงไม่เชื่อมกัน
***เป้าหมายหัวเว่ย
เพื่อยืนยันว่าหัวเว่ยมีความตั้งใจที่จะผลักดันผู้หญิงเข้าสู่สายงานด้าน STEM มากขึ้น บริษัทจึงเปิดตัวโครงการ ‘Women in Tech’ อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2563 โดยยึดแนวปฏิบัติ 3 เสาหลัก ได้แก่ Tech For Her, Teach With Her, Teach by Her ซึ่งปัจจุบัน โครงการมีการขยับขยายและดำเนินงานอยู่ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ก่อนจะขยับมาประเทศไทยในปีนี้
นอกจากจุดประกายการเรียนรู้ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจจากผู้หญิงต้นแบบและผู้นำหญิงในสายไอที พบกับกิจกรรม Tech Talk และบูทจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่หัวเว่ยร่วมผนึกกำลังกับพันธมิตร เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมกัน บนวัตถุประสงค์ของกิจกรรมโรดโชว์ครั้งนี้คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงรุ่นใหม่หันมาสนใจศึกษาต่อในสาขา STEM เพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันของโลก
แน่นอนว่าหัวเว่ยไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีการร่วมมือกับองค์การยูเนสโก (UNESCO) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย หนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งร่วมบ่มเพาะและเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านไอซีทีให้โลกดิจิทัลของไทยในอนาคต
“ปิยะธิดา อิทธิระวิวงศ์” ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นกล่าวในงานครั้งนี้ว่าในฐานะที่หัวเว่ยเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ยึดมั่นในภารกิจการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย บริษัทได้ร่วมสนับสนุนประเทศไทย และขับเคลื่อนโลกอนาคตแห่งดิจิทัลที่มีความเท่าเทียม
"สำหรับในปี พ.ศ.2566 นี้ หัวเว่ยจะยังคงเดินหน้าเพาะบ่มบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ โครงการนักพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ โครงการวิศวกรพลังงานดิจิทัล และการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล เช่น โครงการ Women in Tech นี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการเหล่านี้กันมากขึ้น”
สำหรับกิจกรรมโรดโชว์ Women in Tech ไม่เพียงจัดแสดงบูทให้ผู้เยี่ยมชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโซลูชันพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือนที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนยิ่งขึ้นให้โลก ผู้ร่วมงานยังจะได้สัมผัสเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน สมาร์ทวอทช์ โซลูชัน AR และ XR ที่เข้ามาช่วยส่งมอบความบันเทิงแห่งอนาคต และบูทนิทรรศการแผนงานและโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการโดยองค์การยูเนสโก
นอกจากนี้ ภายในงานผู้สนใจยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนักพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ยได้ รวมถึงการขึ้นชม ‘รถดิจิทัลเพื่อสังคม’ ที่มาจัดแสดงให้บุคคลทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมรถคันพิเศษที่หัวเว่ย ประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้นักเรียน คนงาน และบุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คนใน 12 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมในโครงการแล้ว 27 โรงเรียน
ได้เวลาบอกลูกหลานสาวที่บ้าน ให้สนใจเรียน AI กันเถอะ!