xs
xsm
sm
md
lg

TKC จูงมือเทคคัมพานียุโรป ปฏิวัติสนามบิน-สมาร์ทซิตีไทย (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สยาม เตียวตรานนท์ (ซ้ายสุด) กรรมการผู้จัดการ TKC กับ 3 พันธมิตร
เปิดโรดแมป ‘TKC’ จับมือ 3 บริษัทเทคโนโลยียุโรป พัฒนาสมาร์ทโซลูชันสำหรับระบบสนามบินอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย มั่นใจความร่วมมือเอ็กซ์คลูซีฟ 3 บริษัทนี้ไม่เพียงช่วยให้เมืองไทยต่อยอดประโยชน์ด้านการนับคนและการวิเคราะห์ ‘ฟุตฟอลล์’ (Footfall) จากโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีอยู่แล้วในสนามบิน อาคาร และพื้นที่โปรเจกต์ตั้งไข่สมาร์ทซิตี แต่จะเป็นแรงดันรายได้ธุรกิจสมาร์ทโซลูชันของ TKC ให้โตขึ้นอีกหลายร้อยล้านบาท สานต่อเป้าหมายรายได้รวมเกิน 3 พันล้านบาทในปีนี้

ถามว่าทำไมการวิเคราะห์ Footfall จึงมีแนวโน้มดึงดูดเม็ดเงินลงทุนหลายล้านบาท? คำตอบนั้นต้องย้อนไปดูความหมายของ Footfall ที่ไม่ใช่แค่เสียงฝีเท้า แต่ Footfall คือจำนวนของผู้คนที่เดินทางเข้าไปในร้านหรือสถานที่หนึ่งในเวลาเดียวกัน ผลการวิเคราะห์ Footfall จะสามารถเป็นฐานให้สนามบิน ร้านค้า บริษัท หรือหน่วยงานใดๆ สามารถตรวจนับความหนาแน่นของผู้คนในพื้นที่แบบเรียลไทม์ เพื่อนำข้อมูลมายกระดับการให้บริการ ลดค่าใช้จ่าย และเสริมธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งเซ็นเซอร์จับ Footfall ให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างยังมีจุดอ่อนเรื่องราคา ทำให้บางหน่วยงานที่มีงบประมาณจำกัดอาจติดตั้งเซ็นเซอร์ 3 มิติเพื่อจับฝีเท้าได้เฉพาะบางจุดของพื้นที่เท่านั้น ทางออกของเรื่องนี้คือการนับ Footfall ด้วยระบบไว-ไฟ (Wi-Fi) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลก เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายที่มีอยู่แล้ว

เพื่อต่อจิ๊กซอว์การนับ Footfall ด้วยระบบไว-ไฟในตลาดไทย บริษัทผู้ให้บริการดิจิทัลโซลูชันที่เข้าตลาดหุ้นไทยไปเมื่อต้นปีที่แล้วอย่าง TKC จึงจับมือกับ 3 เทคคัมพานีสัญชาติยุโรป ทั้งบริษัท ไอเอ็มเอเอส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ IMAS AS Group, บริษัท โซวิส จำกัด (มหาชน) หรือ Xovis AG และบริษัท บัมบี แลบส์ จำกัด หรือ Bumbeelabs ซึ่งเป็น 3 พันธมิตรที่ไปไหนไปกันในธุรกิจ Footfall มานานเกิน 10 ปี และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการทำให้สนามบินกว่า 110 แห่งทั่วโลกสามารถสร้างระบบที่วิเคราะห์ Footfall ได้จากทั้งเซ็นเซอร์ 3 มิติและระบบไว-ไฟ

‘สยาม เตียวตรานนท์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC แสดงความมั่นใจในพิธีเซ็น MOU เพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมสนามบินอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ว่า การฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะเป็นแรงส่งให้ TKC ขยายธุรกิจวิเคราะห์ Footfall ไปนอกเหนือจาก 3 สนามบินที่ได้โปรเจกต์แล้วเรียบร้อย (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ต) ขณะเดียวกัน TKC จะสามารถขยายธุรกิจสมาร์ทโซลูชันสู่อาคารทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชนได้หลากหลาย รวมถึงมีโอกาสสยายปีกสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตีได้อีกหลาย ‘สมาร์ท’ ในอนาคต

***ชิงเค้กก้อนใหญ่ขึ้น


คำพูดว่าการร่วมมือนี้จะทำให้ ‘เค้กรายได้’ ของ TKC ใหญ่ขึ้นอย่างต่ำหลักร้อยล้านบาทนั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะก่อนนี้ TKC ร่วมกับ Xovis ทำโปรเจกต์กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT)ในการพัฒนาระบบสนามบินอัจฉริยะอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อ TKC เข้าตลาดฯ บริษัทได้ตั้งเป้าระดมทุนเพื่อขยายกิจการจากธุรกิจหลักที่มีอยู่ โดยหลังจากชำระหนี้ที่ค้างกับธนาคาร บริษัทได้นำทุนอีกส่วนมาขยายธุรกิจใหม่ นั่นคือสมาร์ทโซลูชันที่เริ่มขยายตัวตามแผนหลังจาก 1 ปีผ่านไป

‘สิ่งที่ TKC ทำไปแล้ว คือเรามีสัญญาทำกับ AOT พัฒนาเรื่องการตรวจจับการไหลเวียนของผู้โดยสาร เป้าหมาย AOT และทุกสนามบินคือต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารใช้เวลาน้อยที่สุด ตั้งแต่ขั้นเช็กอินถึงขึ้นเครื่อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับไทยที่เป็นประเทศซึ่งทำธุรกิจหลักผ่านการท่องเที่ยว’

สยาม เตียวตรานนท์
สยาม กล่าวว่า ในช่วงก่อนโควิด ชาวต่างชาติ 40 ล้านคนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โควิดทำให้คนน้อยลง แต่ปัจจุบัน จำนวนผู้โดยสารกำลังเพิ่มขึ้น ตัวเลขที่เห็นในครึ่งปีแรกคือ 7 ล้านคน สิ้นปีนี้คาดว่าจะเห็น 20 ล้านคน ซึ่งเป็นครึ่งเดียวจากช่วงก่อนโควิด TKC จึงเข้ามาช่วยจัดการการไหลเวียนของฝูงชนโดยเฉพาะสามารถตรวจจับการยืนรอคิวได้

‘แม้ระบบเราจะทำให้บริการเร็วขึ้นไม่ได้ แต่สามารถส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนาได้ จึงเห็นการบริการที่ดีขึ้น กระบวนการรอที่ใช้เวลาน้อยลง’ สยามกล่าวและว่า ‘หลังจากสนามบิน TKC กำลังขยายมาที่อาคาร เราทำอยู่แล้วในอาคารขนาดใหญ่ ระบบของพันธมิตรทั้ง 3 รายจะทำให้บริการจัดการการไหลเวียนของฝูงชน และขยายผลสู่เรื่องการลดพลังงานได้อีก’

สยามยกตัวอย่างในอาคารที่มีจุดผู้คนหนาแน่น และจุดที่ไม่มีคนใช้เลย อาคารอัจฉริยะจะสามารถจัดการพลังงานได้ด้วยการปิดไฟหรือเครื่องปรับอากาศ การบริหารลักษณะนี้ยังสามารถทำได้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือสมาร์ทซิตีที่อาจต่อยอดจากโครงการที่ TKC เคยทำร่วมกับ NT ที่จังหวัดภูเก็ต

‘ตอนนั้นเราแค่สร้างอินฟราสตรักเจอร์เฉยๆ ยังไม่มีการใส่ซอฟต์แวร์ หรือการรองรับ AI และ ML ตอนนี้จึงมีแค่การดูกล้องวงจรปิด ใช้อินเทอร์เน็ต และฟรี Wi-Fi ประสบการณ์ที่มีจะทำให้เราขยายให้สเกลใหญ่ขึ้น ให้เป็นประโยชน์กับจังหวัดและประเทศ’

ดีกรีของ IMAS, Xovis และ Bumbeelabs ซึ่งเซ็น MUO กับ TKC นั้นไม่ธรรมดา เฉพาะ Xovis สัญชาติสวิสนั้นเป็นบริษัทที่คิดค้นพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการบริหารจัดการ Passenger Flow ในสนามบิน ซึ่งประกอบไปด้วย 3D เซ็นเซอร์อัจฉริยะ และซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานของสนามบินโดยเฉพาะ สำหรับการบริหาร ตรวจนับการไหลเวียนของผู้โดยสารในสนามบิน ซึ่งระบบดังกล่าวได้ถูกติดตั้งอย่างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วมากกว่า 100 สนามบินทั่วโลก

สำหรับ IMAS เป็นผู้เชี่ยวชาญที่คิดค้นซอฟต์แวร์การจัดเก็บข้อมูล มีผลงานติดตั้ง 3D เซ็นเซอร์อัจฉริยะร่วมกับ Xovis มากกว่า 30,000 เซ็นเซอร์เพื่อประมวลผลและส่งต่อข้อมูลที่แม่นยำให้ลูกค้ากว่า 100 รายทั่วโลกตลอด 10 ปี คู่ไปกับการให้บริการระบบการตรวจนับคน พร้อมซอฟต์แวร์แสดงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพให้กลุ่มลูกค้าห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ

พิธีเซ็น MOU เพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมสนามบินอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
ปัจจุบัน IMAS ร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์กับ Bumbeelabs ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning (ML) และเทคโนโลยี Wi-Fi เพื่อวิเคราะห์และการคาดการณ์เกี่ยวกับการไหลเวียนของฝูงชนสำหรับพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ภายในอาคาร ความเก่งของ Bumbeelabs คือเทคโนโลยีเก็บข้อมูลสำคัญ เช่น จำนวนผู้เข้าชม เวลาที่อยู่ในพื้นที่ และเส้นทางการเคลื่อนที่ ตลอดจนจำนวนผู้คนที่สัญจรไปมา และการแจ้งเตือนฝูงชนแบบเรียลไทม์ผ่านระบบ Wi-Fi ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลในระยะไกล ในสถานที่เปิดโล่งได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้มาตรฐานกฎระเบียบคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (GDPR) ของยุโรป

‘จุดแข็งของการร่วมเป็นพันธมิตรในครั้งนี้ คือการใช้งบที่จะยืดหยุ่นมาก จุดสำคัญที่ต้องใช้ดาต้าที่ละเอียดมากสามารถติด 3D เซ็นเซอร์ และจุดที่ต้องการดาต้าที่ละเอียดน้อยกว่าสามารถใช้ระบบ Wi-Fi เราเอา 2 อย่างมาวิเคราะห์รวมกันได้ คู่แข่งที่ทำแบบนี้ได้ยังมีน้อยราย เราคาดหวังที่จะให้บริการได้ครบวงจร ทั้งแบบแม่นยำ และแบบงบน้อยลง ต่อยอดประสบการณ์ไปที่อาคาร ห้าง และเมือง’

***สมาร์ทซิตีไทยเงินสะพัด


ในภาพรวม สยามเชื่อว่าประเทศไทยจะพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตีได้นั้นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม จึงจะขยายไปเพิ่มความอัจฉริยะ หรือ ‘สมาร์ท’ ในด้านอื่นได้ทั้งด้านการศึกษาการเกษตร และสุขภาพ ซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นในเขตพื้นที่ห่างไกล แนวคิดนี้ส่งผลโดยตรงต่อการประเมินขนาดตลาดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ที่จะต้องนับตั้งแต่การติดตั้งโครงข่ายพื้นฐาน

‘ขนาดตลาดสมาร์ทซิตีจะต้องนับตั้งแต่การติดตั้งอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ เฉพาะภูเก็ตก็ใช้ไป 200 ล้านบาทในการติดตั้งอินฟราสตรักเจอร์ แต่ยังต้องมีระบบ AI ต้องมีเงินลงทุนต่างหาก รวมถึงค่าใช้จ่ายจากแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องคูณแต่ละจังหวัดเข้าไป’ สยามกล่าว ‘สำหรับ smart buliding เท่าที่เราเซ็นสัญญากับศูนย์ราชการก็ 200 ล้านบาท ช่วงแรกเน้นการควบคุมการเข้าอาคาร เฟสต่อไปจะเน้นการจัดการพลังงาน ต่อยอดสู่การนำข้อมูลมาคิดค่าเช่าพื้นที่ของห้างร้านในศูนย์ราชการ’

ที่สุดแล้ว สยามเชื่อว่าแผนกลยุทธ์ทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ดันให้บริษัทมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเป้า 3 พันล้านบาท โดยธุรกิจสมาร์ทโซลูชันจะคิดเป็น 20% ของรายได้รวม TKC เบื้องต้น สยามไม่กังวลถึงความผันผวนทางการเมือง เนื่องจากทุกพรรคมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดประโยชน์กับประเทศแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น