xs
xsm
sm
md
lg

‘LET’ บุกคอนซูเมอร์ นำระบบซิเคียวริตีสู่ครัวเรือน (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านระบบรักษาความปลอดภัยที่ให้บริการภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ‘ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี’ หรือ LET ก้าวออกมาแสดงความพร้อมในการบุกตลาดรักษาความปลอดภัยในครัวเรือน โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุที่ทำให้การเฝ้าระวังความปลอดภัยมีความจำเป็นขึ้น

​แม้ว่าปัจจุบัน สัดส่วนรายได้หลักของ LET มากกว่า 90% มาจากการให้บริการโครงการของภาครัฐ แต่ด้วยเป้าหมายที่จะปลุกปั้น LET ให้เป็นแบรนด์ที่เข้าถึงคอนซูเมอร์มากขึ้น ทำให้คาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้ใหม่จากฝั่งเอกชน และผู้ใช้งานทั่วไปจะสามารถเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 40% ได้ ก่อนที่ภายใน 5 ปี รายได้ของ LET จะขยับขึ้นไปแตะหลักพันล้านบาท

​ยุทธพร จิตตเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (LET) กล่าวว่า จากการให้บริการเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยในระดับเมือง (Public Safety) ทำให้เห็นถึงโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

​“ด้วยการให้บริการหลังบ้านในแง่ของการเฝ้าระวังระบบรักษาความปลอดภัย ทำให้มั่นใจว่า LET จะผลักดันให้การนำระบบเทคโนโลยีที่ใช้งานในระดับเมืองมาให้บริการแก่ประชาชนในแต่ละครัวเรือนได้”

​โดยที่ผ่านมา เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่ในหลายๆ ธุรกิจขาดแคลนแรงงานทางด้านรักษาความปลอดภัย ทำให้ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย


หนึ่งในเทรนด์สำคัญที่เกิดขึ้นคือเรื่องของกล้องวงจรปิดที่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว ระบบตรวจจับใบหน้ามาช่วยในการคัดกรอง และเฝ้าระวังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา LET ได้รับความไว้วางใจ ทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ในพื้นที่ท่าอากาศยานไทย (AOT) รวมถึงโครงการของตำรวจภูธรภาค 5 ก่อนขยายไปภาคอื่นๆ ต่อไป


​อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากเป้าหมายในการสร้างรายได้ประจำที่ยั่งยืน ทำให้ LET ต้องขยับตัวจากการให้บริการแก่ภาครัฐในลักษณะของ B2G ด้วยการเพิ่มรายได้จาก B2B และ B2C เข้ามา ทำให้มีการปรับแผนธุรกิจใหม่ในปีนี้ ด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ให้กลายเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ให้ได้

​ยุทธพร ประเมินมูลค่าตลาดของการให้บริการเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยในฝั่งของ B2B และ B2C ไว้ที่ราว 2,000 ล้านบาท และมีโอกาสเติบโตขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ และมีโอกาสที่จะทำให้รายได้ของ LET เพิ่มขึ้นเป็นหลักพันล้านบาท ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

​เบื้องต้น LET ต้องการชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในปีแรกไว้ที่ 3% ก่อนขยับขึ้นเป็น 7% และ 12% ตามลำดับภายใน 3 ปี ซึ่งถ้าคำนวณจากมูลค่าตลาดที่ราว 2,000 ล้านบาท จะทำให้ LET มีรายได้จากฝั่ง B2B และ B2C ไม่ต่ำกว่า 220 ล้านบาท ก่อนขยับส่วนแบ่งขึ้นเป็น 17% และ 22% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 440 ล้านบาท
​ในปีที่ผ่านมารายได้ของ LET อยู่ที่ 410 ล้านบาท โดยกว่า 90% มาจากภาครัฐ และคาดว่าในสิ้นปีนี้จะขยับขึ้นมาเป็น 500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคำนวณในช่วง 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จะขยับมาเป็นระหว่าง 60% และ 40% เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ระยะยาวได้มากขึ้น

​“ปัจจุบันตลาดเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยนั้น คู่แข่งในตลาดมีความแข็งแรงมากพอสมควรเพียงแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ทำให้ LET สามารถนำจุดแข็งในแง่ของรูปแบบการให้บริการที่ครอบคลุมโดยเฉพาะในส่วนของ Alert & Alerm Monitoring ที่ครอบคลุมมากกว่าที่คู่แข่งมีเป็นจุดเด่นทำตลาด”

***ผนึกพันธมิตรเจาะตลาดคอนซูเมอร์


​สำหรับการบุกตลาดภาคเอกชน และบ้านเรือนที่ต้องการเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ทำให้ LET มีแผนจะนำเสนอ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ และบริการที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญให้บริการแก่ลูกค้า

​โดยครอบคลุม 1.เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยสำหรับที่พักอาศัย (Residence Security) 2.เทคโนโลยีป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ (Cyber Shield) 3.เทคโนโลยีดูแลและช่วยเหลือสังคมผู้สูงอายุ (Residence Elderly Ward) และ 4.เทคโนโลยีไร้มนุษย์ควบคุม (Unmaned Services)


ปัจจุบัน LET มีการให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยที่ย่อส่วนจากระดับเมือง และเขตชุมชนขนาดใหญ่ มาสู่บริการอย่าง LET Care ในการดูแลระดับครัวเรือนที่ต้องการความปลอดภัยมากกว่าแค่กล้องวงจรปิด ด้วยการให้บริการในลักษณะของโซลูชันในการตรวจจับความผิดปกติ ทั้งความร้อน อุณหภูมิ กลุ่มควันภายในที่พัก รวมถึงสามารถควบคุมแสงสว่าง เปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่อยู่อาศัย พร้อมส่งสัญญาณฉุกเฉินแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากเกิดเหตุ อีกทั้งมีทีมตรวจสอบความปลอดภัยเฝ้าระวังผ่านศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Command & Control Center : CCC) ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง

​เพื่อขยายจากบริการเหล่านี้ ทำให้ LET เห็นโอกาสของการเจาะเข้าไปยังตลาดเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยให้กลุ่มผู้สูงอายุที่อาจจะมีอาการป่วยต้องมีคนดูแล ซึ่งตามปกติแล้วคนดูแลจะไม่สามารถอยู่ด้วยตลอดเวลาได้ ทำให้การทำเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีสวมใส่เข้ามาช่วยจะเฝ้าระวังได้มากขึ้น

​โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังแล้วอันตราย อย่างกรณีที่ไม่สามารถรับโทรศัพท์ได้ ในกลุ่มอัมพาต อัลไซเมอร์ ที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ ทำให้ LET เข้าไปร่วมวิจัยและพัฒนากับซีที เอเซีย โรโบติกส์ นำบริการอย่าง ‘น้องปกป้อง’ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุที่สื่อสารได้แบบ 2 ทาง สร้อยคอตรวจจับความเคลื่อนไหวและสมาร์ทวอทช์ ด้วยการนำอุปกรณ์เชื่อมต่อเข้ากับ ‘LET Care’ เพื่อเสริมการดูแลพร้อมแจ้งเตือนและช่วยเหลือผู้สูงอายุกรณีฉุกเฉิน เช่น เกิดการลื่นล้ม เป็นลมหมดสติจากโรคประจำตัว หรือแม้กระทั่งตรวจจับการออกนอกพื้นที่พักอาศัยในระยะที่จำกัดไว้ ผ่านอุปกรณ์ที่สามารถโต้ตอบสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือกับปลายทาง หรือทีม CCC ของ LET ได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง

​นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างหุ่นยนต์ตรวจการณ์ หุ่นยนต์ส่งเอกสารหรือสิ่งของภายในอาคาร ซึ่งต่อยอดจากหุ่นยนต์ส่งอาหารที่ปัจจุบันมีการนำไปใช้แล้วกว่า 350 ตัว ในร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ เพื่อเข้าไปตอบโจทย์ในแง่ของเทคโนโลยีไร้มนุษย์ควบคุม

​ทั้งนี้ LET ถือเป็นหนึ่งในโมเดลการลงทุนของ ล็อกซเล่ย์ ที่เห็นถึงโอกาสธุรกิจรักษาความปลอดภัยทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงในกลุ่มคอนซูเมอร์ ด้วยการปรับนโยบายบริษัทแม่ให้กลายเป็นนักลงทุน ทำให้ LET มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิม โดยปัจจุบันล็อกซเล่ย์ถือหุ้นอยู่ 80%


กำลังโหลดความคิดเห็น