xs
xsm
sm
md
lg

โฉมใหม่ ปณท กับแพลตฟอร์ม Prompt Post ‘ตู้จดหมายดิจิทัล’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไปรษณีย์ไทย ปรับลุครับยุคดิจิทัล เปิดแพลตฟอร์ม Prompt Post ในรูปแบบ ‘ตู้จดหมายดิจิทัล’ บริการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ‘บิ๊ก-ดนันท์’ ซีอีโอไปรษณีย์ไทย เล็งไตรมาส 3 ลุยอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ กรุยทางสู่การเป็น ‘Data Company’ ให้บริการวิจัย สำรวจ พร้อมพัฒนาศักยภาพบุรุษไปรณีย์ไทยรับส่งออเดอร์สินค้า

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวถึงแผนพัฒนาธุรกิจและสร้างศักยภาพบริการไปรษณีย์ไทยว่า ไปรษณีย์ไทยได้สร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาให้บริการระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรในระบบ Prompt Post เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยที่ระบบ Prompt Post จะมีรูปแบบเป็น “ตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล” ซึ่งแพลตฟอร์มใหม่นี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว เที่ยงตรงแม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง

ทั้งนี้ ปกติไปรษณีย์ไทยให้บริการ ‘ตู้จดหมาย’ ที่อยู่หน้าบ้านของประชาชนทั่วประเทศอยู่แล้ว เมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้น ตู้จดหมายกลายเป็นที่รับจดหมายของทุกคนในบ้าน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งอีกต่อไปซึ่งจริงๆ แล้วเอกสารหรือจดหมายนั้นควรจะเป็นของใครของมัน ดังนั้น เมื่อไปรษณีย์ไทยเสนอเปลี่ยนตู้จดหมายที่อยู่หน้าบ้านให้เป็น ‘ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์’ ก็จะเป็นการเพิ่มระดับการอำนวยสะดวกให้ประชาชน

ดนันท์ กล่าวว่า ในด้านความปลอดภัยของการใช้ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์นั้น จะต้องผ่านระบบการยืนยันตัวตนจากบัตรประชาชนซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบดูว่าบุคคลนั้นๆ มีเลขบัตรประชาชนถูกต้อง มีตัวตนอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ถ้าได้รับการยืนยันตัวตนถูกต้องก็สามารถใช้ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ได้

‘การรับ-ส่งเอกสารเหมือนกับการส่งจดหมายธรรมดาตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น จดหมายลงทะเบียนที่เกี่ยวกับธุรกิจ เมื่อเขียนเสร็จต้องเซ็นชื่อหรือลายเซ็น เมื่อมาเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็เปลี่ยนเป็นลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ซิกเนเจอร์ (e-signature) กำกับความถูกต้องและการันตีว่าไม่มีการปลอมแปลง’

ทั้งนี้ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์นี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในศาลได้ และเมื่อจดหมายส่งออกไปที่ปลายทางจะมีการบันทึกอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamping) กำกับเวลาไว้ด้วยว่าเป็นเวลาเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเวลาที่อ้างอิงจากศูนย์มาตรวัดเวลาโดยตรง สามารถตรวจสอบกลับมาได้ นอกจากนี้ เวลาปิดซองยังมีตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-seal อีกด้วย เป็นเหมือนกับจดหมายกระดาษทุกประการ รวมไปถึงตู้ไปรษณีย์ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลเมล์บ็อกซ์เช่นเดียวกัน

ส่วนข้อแตกต่างระหว่างดิจิทัลเมล์บ็อกซ์และอีเมล์นั้น ดนันท์ กล่าวว่า อีเมล์นั้นเวลาใครส่งอะไรเข้ามาในเมล์ของเราบางทีมีสแปม (spam) หรือข้อความที่ส่งมาผ่านอีเมล์โดยไม่ได้ร้องขอและไม่รู้ว่าใครส่งอะไรมา แต่ Prompt Post เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นระบบปิด เพราะฉะนั้นคนส่งอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน จะต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน และจะต้องรู้จักลูกค้าพิสูจน์ตัวตนได้ถูกต้อง หรือ KYC ( Know Your Customer) ก่อน

‘คนที่ใช้ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์จะรู้ตัวตนทั้งที่ต้นทาง-ปลายทางทั้งหมด ทุกอย่างคือของจริง ไม่มีสแปมโผล่มาโดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐซึ่งให้บริการสาธารณะ จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมากเวลาต้องส่งเอกสาร บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน’ ดนันท์ กล่าวและว่า ทุกอย่างสามารถแปลงมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเก็บไว้ในตู้เซฟหรือกล่องเมล์บ็อกซ์ เมื่อต้องการส่งหรือจะใช้หลักฐานเอกสารต่างๆ สามารถดึงไฟล์จากเมล์บ็อกซ์ส่งได้เลย ทางหน่วยงานรัฐจะรับเอกสารเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ ยกตัวอย่าง พาสปอร์ต สามารถทำเอกสารและส่งเป็นดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ให้ผู้ขอพาสปอร์ต หรือสั่งพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ใส่ซองส่งไปที่บ้านของผู้รับก็ได้เช่นกัน

‘ระบบนี้ขั้นตอนแรกจะโฟกัสที่หน่วยงานภาครัฐก่อน ฐานลูกค้าภาครัฐคือฐานลูกค้าคนทั่วประเทศ เช่น กรมสรรพากร กรมการปกครอง และภาคบริการต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลเมื่อทุกอย่างถูกเปลี่ยนเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จ ถูกส่งผ่านระบบดิจิทัลเข้าไปที่เมล์บ็อกซ์ของลูกค้าที่มีเมล์บ็อกซ์เช่นกัน ทุกอย่างสามารถใช้ได้สะดวกขึ้น หรือภาคการศึกษาจะส่ง อี-ทรานสคริปต์ในแพลตฟอร์มนี้ และส่งอี-ทรานสคริปต์นี้ไปสมัครงานได้เลย ถ้าที่ทำงานนั้นมีลงทะเบียนดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ไว้กับไปรษณีย์ไทย ก็ทำได้ไม่ยาก’

นอกจากนี้ ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-signature) ก็ไม่มีการปลอมแปลงแน่นอน เพราะทุกอย่างต้องผ่านระบบการยืนยันตัวตน เวลานี้ไปรษณีย์ไทยหารือกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานเพื่อทำโครงการนำร่องคาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้เริ่มใช้ได้เลยทันที

‘ระบบเราพร้อมแล้วไม่ว่าจะเป็น e-timestamp e-signature หรือ e-seal จะมีการปรับให้เข้ากับการใช้งานของแต่ละที่ ซึ่งที่ได้เริ่มไปแล้วคือ พัฒนาโปสการ์ดแบบกระดาษเป็นโปสการ์ดออนไลน์ ได้ใช้แล้วในการทายผลฟุตบอลโลกและปัจจุบันได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำโปสการ์ดออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถออกแบบได้ด้วยตัวเองทุกอย่าง เช่น เลือกวิว เลือกกรอบ เขียนข้อความเสร็จแล้วส่งมาที่เรา สามารถพิมพ์ออกมาเป็นโปสการ์ดได้เลย จะส่งเป็นกระดาษไปถึงบ้าน หรือส่งให้ใคร หรือจะส่งเป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ทั้งนั้น’

ทั้งนี้ เมื่อไปรษณีย์ไทยเปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นดิจิทัลเมลบ็อกซ์แล้ว ไปรษณีย์ไทยจะไม่มีการปรับลดพนักงาน แต่จะปรับเปลี่ยนหน้าที่พนักงานบางส่วน พัฒนาให้บุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่กว่า 20,000 คน แนะนำสินค้าให้คนในชุมชน รับออเดอร์สั่งซื้อ และนำสินค้ามาส่งได้แบบตามต้องการ หรือที่เรียกว่าธุรกิจค้าปลีก (retail) เป็นการนำจุดแข็งของบุรุษไปรษณีย์ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนเข้ามาใช้

ดนันท์ กล่าวว่า เมื่อการส่งจดหมายแบบเดิมๆเปลี่ยนมาเป็นเมล์บ็อกซ์ บุรุษไปรษณีย์สามารถมาทำอีคอมเมิร์ช ตรงนี้จะโตขึ้น เพราะต่อไปเมืองมีการขยายตัว พื้นที่ในการส่งของก็กว้างขึ้นตลอดเวลา พื้นที่กว้างขึ้นก็ต้องใช้คนมากขึ้น ไปรษณีย์ไทยจำเป็นต้องบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และอีกหนึ่งโรดแมปสำคัญของไปรษณีย์ไทย คือ ไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการขนส่ง แต่จะเป็น Data Company ด้วย

‘ผมมองไปรษณีย์ไทยในอนาคตคือ เราจะเป็นอินฟอร์เมชัน โลจิสติกส์ (Information Logistics) นี่คือวิชันที่เราจะก้าวต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องข้อมูล (Data) ที่เกิดจากการขนส่ง โลจิสติกส์ อินฟอร์เมชันเหล่านี้แหละคือธุรกิจในอนาคตของไปรษณีย์ไทย’ ดนันท์กล่าวและระบุว่า เบื้องต้นในการทำธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูล ขณะนี้ไปรษณีย์ไทยใช้เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ซึ่งมีครอบคลุมทั่วประเทศ ร่วมกับศูนย์บริการวิจัยของจุฬา ทำเรื่องวิจัยการตลาด เช่น ใช้สำรวจสินทรัพย์ให้บริษัทที่ทำหน้าที่บริการสินทรัพย์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและตรวจสอบจริง ไว้ใจได้


กำลังโหลดความคิดเห็น