xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสผนึก 16 แบงก์เพิ่มช่องทางแจ้งภัยออนไลน์-เฟกนิวส์ผ่านแอปธนาคาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
ดีอีเอส ร่วมมือ 16 แบงก์ เพิ่มช่องทางแจ้งเตือนภัยออนไลน์ และเฟกนิวส์ผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร เพื่อให้รู้เท่าทันรูปแบบการโกงออนไลน์ โดยขยายผลจากความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีคนใช้งานกว่า 40 ล้านคน ทั้งนี้ จากจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งทั้ง 16 ธนาคารมีมากกว่า 100 ล้านบัญชี คาดว่าข่าวสารจะสามารถเข้าถึงประชาชนกว่า 30 ล้านบัญชี

วันนี้ (3 พ.ค.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการบริการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอีเอส และธนาคารในสมาคมธนาคารไทยทั้ง 15 แห่ง และธนาคารออมสิน พร้อมด้วย น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชนและสาธารณชนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันการหลอกลวงออนไลน์ และข่าวปลอม ป้องกันการถูกหลอกลวง ลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เป็นการขยายผลการดำเนินการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์รู้เท่าทันมิจฉาชีพ จากการที่ดีอีเอสได้นำร่องจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีประชาชนใช้งานกว่า 40 ล้านคน ซึ่งเป็นช่องทางแจ้งเตือนภัยออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (AFNC) ไปยังแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ เพื่อให้เผยแพร่การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางการเงิน หรืออาชญากรรมทางการเงิน (Financial Fraud) และข่าวปลอมในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์แก่ประชาชน เพื่อให้รับทราบและเท่าทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น


สำหรับ 16 ธนาคารที่เข้าร่วมลงนามครั้งนี้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเกียรตินาคินจำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเป็นความร่วมมือระหว่างดีอีเอส ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ 16 ธนาคารในการลดอาชญากรรมออนไลน์ต่อเนื่องจากการที่ดีอีเอสได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ 17 มีนาคม 2566 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์โดยออกมาตรการต่างๆ เช่น ธนาคารงดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล ธนาคารต้องแจ้งเตือนบน Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการโทรศัพท์ปิดกั้น SMS และเบอร์ Call Center รวมกว่า 167,000 เบอร์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ส่งรายชื่อบุคคลพฤติกรรมเสี่ยงสูงหรือต้องเฝ้าระวัง กรณีบัญชีม้า (รหัส HR-03) ผ่านระบบให้ธนาคารเฝ้าระวัง

“ความร่วมมือของธนาคารในครั้งนี้ โดยการเผยแพร่การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงออนไลน์จะนำไปสู่การลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน และเชื่อมั่นว่าการนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการนําข้อมูลดิจิทัลไปใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนกลไกการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างยั่งยืนได้”

ยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงินสมาคมธนาคารไทย
ด้านนายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงินสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ที่ทางสมาคมธนาคารไทยได้ร่วมมือกับดีอีเอสมาโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ใช้ช่องทางโมบายแบงกิ้งจำนวน 135 ล้านบัญชีผู้ใช้ โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะมีแอปพลิเคชันธนาคารอย่างน้อย 3-4 แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพราะฉะนั้น การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงภัยทางออนไลน์รูปแบบใหม่จะสามารถเข้าถึงประชาชนได้กว่า 30 ล้านคน ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่าประโยชน์ของทางธนาคาร

“หลังจากที่ พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ พ.ศ.2565 ได้ประกาศใช้มาแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ถือว่ากฎหมายฉบับนี้ช่วยในการจับบัญชีม้าและสามารถปิดบัญชีม้าได้เป็นพันบัญชี แต่การตามเงินที่สูญหายจากการหลอกลวงทางออนไลน์นั้นยังตามได้ไม่เยอะเท่าที่ควร ซึ่งหลังจากนี้ทางสมาคมธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือกันต่อไปเพื่อหามาตรการในการป้องกันและสร้างความปลอดภัยในการใช้งานธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ให้ประชาชน”




กำลังโหลดความคิดเห็น