xs
xsm
sm
md
lg

‘มรกต’ ฉายภาพสำเร็จ นำสายสื่อสารลงดิน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเคล็ดลับความสำเร็จโครงการนำสายสื่อสารลงดิน แผนบันได 3 ขั้น สร้างสภาพบังคับ เดินหมากหักเสา นำสายไฟฟ้า สายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน จูงใจโอเปอเรเตอร์โทรคมด้วยบริการ last mile sharing ที่ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนเดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสง เปลี่ยนเป็นมาเช่า NT แล้วใช้เวลาไปคิดเรื่องการตลาดมาแข่งขันแย่งลูกค้าดีกว่า ‘มรกต เธียรมนตรี’ รอง กจญ.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน NT บอกเหมือนเส้นผมบังภูเขา โมเดลที่ NT กำลังทำได้ประโยชน์ทุกฝ่ายทั้งการไฟฟ้าฯ โอเปอเรเตอร์โทรคม ประเทศชาติและประชาชนที่จะได้วิวทิวทัศน์ท้องถนนที่สวยงาม ไร้ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง

‘ปีนี้จะเป็นปีที่สนุกสำหรับเรื่องสายสื่อสารลงดิน’ มรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ระบุ

การนำสายสื่อสารลงใต้ดินต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีบริการสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน หรือ last mile sharing ที่จะทำให้โอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ตามบ้านพักอาศัย หอพัก คอนโดมิเนียมต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก ผู้ให้บริการรายละเส้นไปยังลูกค้าปลายทาง ซึ่งจะพบปัญหาเมื่อลูกค้ายกเลิกบริการรายเดิมไปใช้บริการรายใหม่ จะต้องเดินสายเคเบิลใยแก้วไปลูกค้ารายนั้นๆ ซึ่งเป็นที่มาให้เกิดสายสื่อสารรกรุงรังจำนวนมากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

last mile sharing จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด โดย NT จะเดินสายผ่านกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แล้วโอเปอเรเตอร์ก็แข่งขันกันด้านการตลาด ใครได้ลูกค้าไปก็มาเช่าใช้สาย NT ซึ่งมีระดับ SLA (Service Level Agreement) ให้โอเปอเรเตอร์มั่นใจในเรื่องคุณภาพบริการได้ และเมื่อลูกค้าต้องการย้ายค่ายบรอดแบนด์ไปโอเปอเรเตอร์รายใหม่ ก็ทำได้ทันทีโดยรายใหม่ไม่ต้องเดินสาย

‘โอเปอเรเตอร์จะจ่ายค่าเช่าให้ NT ตราบเมื่อมีลูกค้า แต่หากลูกค้าย้ายค่ายก็ไม่ต้องจ่าย แฟร์ๆ โอเปอเรเตอร์ไม่ต้องลงทุนเสียเวลาลากสาย เพราะไม่น่าจะคุ้มค่าเท่ามาเช่า NT เมื่อมีลูกค้า’

***NT ชู last mile sharing


ที่ผ่านมา การนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นเจ้าของเสาไฟฟ้าที่โอเปอเรเตอร์โทรคมใช้พาดสายสื่อสารจนรกรุงรังห้อยย้อยเป็นท้องช้าง ที่แม้ว่าจะมีการดำเนินการไปแล้วในบางเส้นทาง ทั้งในบริเวณพื้นที่ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร และหัวเมืองสำคัญตามภูมิภาค อย่างถนนพัทยาเหนือ จังหวัดชลบุรี ถนนอุดรดุษฎี และถนนโพธิ์ศรี เทศบาลเมืองอุดรธานี แต่ยังมีบางเส้นทางที่มีปัญหาและอุปสรรคทำให้การดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเกิดความล่าช้า

โดยเฉพาะเงื่อนไขทางด้านกฎหมายที่ต้องทำให้เกิดสภาพบังคับ เนื่องจากสายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้านั้นยังสามารถพาดได้ ตราบใดที่ยังคงมีเสาไฟฟ้าเหล่านั้นอยู่ อีกทั้งไม่เสียค่าเช่าในการเดินสายสื่อสารเข้าสู่บ้านเรือนของประชาชน

‘สภาพบังคับ คือ เมื่อไหร่ที่เสาไฟฟ้าหายเมื่อนั้นสภาพบังคับจะเกิด กลับกันหากเสาไฟฟ้าไม่หาย อยู่ๆ ใครจะไปบังคับให้โอเปอเรเตอร์ต่างๆ นำสายสื่อสารออกไปได้เพราะหากไปยุ่งกับสายสื่อสารเหล่านั้นถือเป็นคดีอาญา มีสิทธิฟ้องร้องได้ตามกฎหมายเนื่องจากมี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2554 คุ้มครองอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพบังคับไม่เกิด โอเปอเรเตอร์ยังมีสิทธิแขวนสายสื่อสารเหล่านั้นอยู่เหมือนเดิม’

ตราบเท่าที่ยังมีเสาไฟฟ้าอยู่ สายสื่อสารยังแขวนพาดสายอยู่วันยังค่ำ ดังนั้น หากต้องการให้สารสื่อสารลงไปอยู่ในท่อร้อยสายให้เร็วขึ้น จำเป็นต้องรีบหาความร่วมมือสร้างให้เกิดสภาพบังคับให้หักเสาและเอาสายลงดินให้เร็วที่สุด

‘มรกต’ กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการนำสายสื่อสารลงดินจะต้องตอบโจทย์สำคัญคือ เสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าจะหายไปได้อย่างไร ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร ของ กฟน. และในส่วนภูมิภาคของ กฟภ. ที่ต้องสร้างท่อเพื่อรองรับสายไฟฟ้าลงดิน แต่การขุดเจาะท่อจะต้องทำการเปิดหน้าพื้นผิวของการจราจรซึ่งตอนนี้หลายเส้นทางไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นอีกแล้ว

‘NT อยู่ระหว่างเจรจากับการไฟฟ้าฯ เพื่อให้การไฟฟ้าฯ นำสายไฟฟ้าแรงดันกลางและแรงดันต่ำมาใช้ท่อร้อยสายของ NT ที่สามารถใช้งานได้ทันที คาดว่าจะหารือแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.หรือประมาณ 1 เดือนหลังเลือกตั้ง เพราะหากมีแนวทางให้นำสายไฟฟ้าลงดินได้เร็วเท่าไหร่จะสามารถหักเสาไฟฟ้า สร้างสภาพบังคับให้โอเปอเรเตอร์เอาสายสื่อสารลงดินได้เร็วเท่านั้น’

ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ท่อร้อยสายของ NT ร่วมกัน ประกอบด้วย 1.การไฟฟ้าฯ จะสามารถนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินได้เร็ว เนื่องจากในบางพื้นที่ไม่อนุญาตให้เปิดพื้นผิวการจราจรเพื่อขุดเจาะท่อร้อยสาย แต่ NT มีท่อร้อยสายใต้ดินระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ ในที่ตั้งชุมสายโทรศัพท์เดิมของ NT สามารถดำเนินการทำสถานีไฟฟ้าย่อย (substation) เพิ่มเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทางการไฟฟ้าฯ ได้อีกด้วย

2.ระยะเวลาคืนทุนที่สั้นกว่า เมื่อเทียบระหว่างการไฟฟ้าฯ สร้างท่อเองกับการมาเช่าท่อร้อยสาย NT ที่มั่นใจได้ว่าค่าเช่าเป็นแบบมิตรภาพแน่นอน เพราะหวังให้มาเช่าเพื่อหักเสาไฟฟ้า

3.การนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินเป็นโครงการที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้หน่วยงานในพื้นที่ถือเป็นประโยชน์เชิงบวก

4.โอเปอเรเตอร์ที่รีบนำสายสื่อสารลงดินจะได้ประโยชน์จากบริการ last mile sharing ซึ่งวันนี้โอเปอเรเตอร์เห็นคุณค่าถึงกับพยายามอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วย แต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานควรเป็นของรัฐด้วยการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่สามารถสร้างความเป็นกลางให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายไม่เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

‘สภาพบังคับให้หักเสา เอาสายสื่อสารลงดินทำให้โอเปอเรเตอร์อาจจะถูกฝืนใจให้ได้ประโยชน์จาก last mile sharing’


NT จะเริ่มทำโครงการนำร่องของ last mile sharing (pilot project) 3-4 เส้นทางในปีนี้ โดยในเดือน มิ.ย.จะเริ่มที่ถนนเยาวราช ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ระยะทาง 3 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยอยู่ในอำนาจของผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการปรับปรุงทางเท้าของกรุงเทพมหานคร

‘ผมนั่งทับตัวทรัพยากรที่ปลดล็อกเรื่องนี้ได้ แต่ผมไม่รู้เอง’ มรกต กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น