xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เร่งแก้แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รับยุคดิจิทัลดิสรัปชัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. เร่งปรับปรุงร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2563-2568 โดยแก้ไขในหลายเรื่องเพื่อให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ และการถูกดิสรัปชันจากดิจิทัล รวมถึงผลักดันเรื่องการจัดระเบียบคลื่นวิทยุกระจายเสียงที่จะสิ้นสุดระยะเวลาทดลองออกอากาศในเดือนธันวาคม 2567 โดยเสนอแนวทางการจัดทำ Digital Radio เพื่อจัดระเบียบวิทยุชุมชนให้เข้าสู่ระบบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง พร้อมทั้งยกระดับการนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียงกล่าวถึงการแก้ไข (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2563-2568) (ฉบับปรับปรุง) โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์และวิทยุ และภาคประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 โดยหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว จะนำความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ไปปรับปรุงร่างประกาศดังกล่าว เพื่อเสนอให้ทางบอร์ด กสทช.พิจารณา และหลังจากนั้นจะมีประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

โดยร่างแผนฉบับนี้มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เข้าสู่มาตรฐานสากลมีพลวัตสอดคล้องกับบริบทดิจิทัล รวมทั้งการส่งเสริมและกำกับดูแลด้านเนื้อหา การคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เพื่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้บริการและกำกับดูแลที่มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัล ทั้งนี้ ในแต่ละยุทธศาสตร์จะมีเป้าหมายและตัวชี้วัดตลอดจนกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน

"ร่างประกาศฉบับนี้จะมีการปรับปรุงแก้ไขให้หน้าที่และบทบาทของ กสทช.จากการทำหน้าที่กำกับดูแลให้มีบทบาทในด้านการส่งเสริมให้มากขึ้น ซึ่งร่างฉบับปรับปรุงนี้เหลือระยะเวลาอีก 2 ปี มีคำถามที่ตามมาหลายอย่างว่าจะเสร็จทันหรือไม่ และบางความคิดเห็นในวันนี้รู้สึกเห็นด้วยเป็นอย่างมากจะนำไปปรับปรุงแก้ไข รวมถึงจะเป็นแผนงานในอนาคตของทาง กสทช.ด้วย นอกจากนี้ แผนฉบับดังกล่าวอาจจะต้องมีการหารือเพิ่มเติมร่วมกับทางกรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากว่า ตอนนี้การกำกับดูแลเรื่องการสื่อสารมีความเชื่อมโยงกันในหลายหน่วยงานจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน"

สำหรับการปรับปรุงร่างแผนฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ในแผนแม่บทฉบับนี้ได้เร่งรัดในการปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงในระบบแอนะล็อกทั้ง 7 ฉบับใหม่ โดยเริ่มจากการจัดทำแผนคลื่นความถี่วิทยุในระบบ FM ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากลไม่ให้เกิดการรบกวน อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถรองรับความต้องการได้ดั่งเช่นปัจจุบัน จึงได้เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงให้สามารถบริการในระบบวิทยุดิจิทัลได้ ด้วยการศึกษาระบบนิเวศการอนุญาตในระบบดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม แทนการทดลองทดสอบทางด้านเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อให้รองรับความต้องการของผู้ประกอบกิจการ และสามารถเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบการอนุญาตทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และชุมชน ตามที่กฎหมายบัญญัติได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการกระจายเสียงของประเทศไทยยังคงมีความก้าวหน้า ดำรงอยู่ต่อไปได้ภายใต้บริบทของเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีสถานีวิทยุที่ทดลองออกอากาศจำนวน 3,000 สถานี ซึ่งหลังจากที่สิ้นสุดสัญญาการออกอากาศในเดือนธันวาคม 2567 ดังนั้น ร่างแผนฉบับดังกล่าวจึงต้องเร่งจัดทำให้เสร็จก่อนที่วิทยุทดลองออกอากาศเหล่านี้จะสิ้นสุดระยะเวลาออกอากาศ ซึ่งหลังจากนี้ สถานีวิทยุทั้ง 3,000 สถานีจะต้องเข้าขั้นตอนขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง แต่ทาง กสทช.สามารถให้ใบอนุญาตแก่คลื่นวิทยุได้เพียง 1,000 กว่าสถานี เพื่อให้คลื่นความถี่วิทยุไม่รบกวนกัน ดังนั้น จึงพยายามที่จะผลักดันในเรื่องวิทยุดิจิทัล (Digital Radio) เพื่อจัดระเบียบวิทยุที่มีความทับซ้อนกันในเรื่องคลื่นสัญญาณ โดยสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ให้กิจการกระจายเสียงให้สามาถดำเนินการกิจการต่อไปได้ โดยมีแนวทางดังนี้

1.ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคลื่นวิทยุมาเช่าเสาส่งสัญญาณ (MUX) โดยเกิดจากการรวมกลุ่มของวิทยุชุมชนขั้นต่ำ 16 สถานี หรือมากกว่าก็ได้ เพื่อมาเปลี่ยนจากทดลองออกอากาศเปลี่ยนไปสู่ระบบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายวิทยุชุมชน

2.ผลักดันเรื่องการจัดทำ Digital Radio โดยทางสำนักงาน กสทช. ได้ศึกษาโมเดลการจัดทำในเรื่องนี้เพิ่มเติม ทั้งศึกษาแนวทางในการจัดทำการสนับสนุนในด้านกิจการกระจายเสียง ซึ่งการสร้าง Digital Radio จำเป็นที่ต้องสร้างแรงจูงให้ผู้ประกอบการทั้งในเรื่องต้นทุนค่าเช่าที่ต้องไม่แพงมากจนเกินไป และสร้างระบบนิเวศที่รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งผู้ประกอบการและประชาชนผู้รับฟังในระบบวิทยุ

“ขณะนี้ได้ศึกษาในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน ทั้งการศึกษาโมเดลของประเทศอื่นๆ ในการสนับสนุนกิจการกระจายเสียง เป็นเรื่องที่ทาง กสทช.เองอยากให้เป็นไปตามกลไกทางธุรกิจมากกว่าจะเป็นเรื่องที่ทาง กสทช.เข้าไปดำเนินการ ซึ่งปัญหาของคลื่นวิทยุนั้นคือการเปลี่ยนผ่านของวิทยุนั้นไม่เท่ากับการเปลี่ยนผ่านของระบบทีวีที่เปลี่ยนระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัล แต่วิทยุนั้นเคยเปลี่ยนระบบมาเพียงครั้งเดียวจากระบบ AM เป็น FM และไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านกิจการกระจายเสียงของไทยอีกเลย ดังนั้น การถูก disruption จากระบบดิจิทัลในครั้งนี้จึงต้องหาวิธีการ วิทยุต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง”


ด้าน น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า แผนฉบับนี้นำเสนอยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ประกอบด้วย การพัฒนากิจการโทรทัศน์ให้เข้าสู่มาตรฐานสากลสอดคล้องกับบริบทดิจิทัล ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาวิจัยเพื่อแสวงหาฉากทัศน์ (scenario) ที่เหมาะสมสำหรับอนาคต มีการทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันข้ามแพลตฟอร์ม การศึกษาแนวทางและกลไกการกำกับดูแลแพลตฟอร์มผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ให้สามารถผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพแข่งขันได้ในตลาดสากล รวมทั้งมีแผนที่จะส่งเสริมและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเนื้อหาที่เทียบเคียงระดับสากลของผู้ผลิตโทรทัศน์ เช่น co-production การสร้างแรงจูงใจ หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อกระตุ้นการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ

"สำหรับยุทธศาสตร์ด้านเนื้อหาไม่ใช่เพียงกำกับดูแล แต่จะเน้นการส่งเสริมศักยภาพ สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน เรามีแนวทางที่จะพัฒนาระบบ social credit เพื่อส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมควบคู่กับการตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นปัญหา ตัวอย่างแนวทางส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหารายการของปีนี้ เราอยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 คาดว่าช่วงปลายปีน่าจะสามารถเปิดรับโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนโดยจะเน้น 3 กลุ่มคือ กลุ่มรายการสำหรับเด็กและเยาวชน กลุ่มรายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม และกลุ่มรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศซึ่งจะเป็นแถวหน้าในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการไทยไปอีกขั้น และจะได้เป็นการส่งเสริมการส่งออกเนื้อหาสื่อของไทยไปสู่ระดับสากล"




กำลังโหลดความคิดเห็น