แอปเปิลการ์ด (Apple Card) เป็นบริการบัตรเครดิตของบริษัทแอปเปิลที่ออกโดยธนาคารโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) การเปิดทางเลือกให้ลูกค้าสามารถทำ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์จาก Goldman Sachs ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.15 เปอร์เซ็นต์ ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 66 นั้นเรียกความสนใจจากชาวโลกได้ถล่มทลาย แต่ก็ชวนให้นึกถึงมุมมืดเรื่องการยอมรับจาก Goldman Sachs ว่าได้สูญเสียเงินหลายพันล้านไปกับ Apple Card ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ย้อนไปเมื่อเดือนมกราคม 66 มีรายงานต่างประเทศระบุว่า Goldman Sachs สูญเสียเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์จากการเป็นพันธมิตรกับ Apple สำหรับการให้บริการ Apple Card แต่บริษัทย้ำว่ายังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรกับ Apple และคาดว่าจะทำกำไรได้ในระยะยาว
เวลานั้นสำนักข่าว The Wall Street Journal รายงานว่า Goldman Sachs เดินหน้าหยุดโปรเจกต์ขยายโครงการบัตรเครดิตอื่นเพิ่มเติมหลังจากที่เริ่มโครงการ Apple Card ซึ่งเป็นหนึ่งในการลงทุนครั้งแรกของ Goldman ในด้านธนาคารเพื่อผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ Goldman จุดพลุบริการบัตรเครดิตสำหรับผู้บริโภคเพียงหนึ่งเดียวโดยร่วมกับแบรนด์ General Motors และมีข่าวว่ากำลังเจรจาเพื่อเปิดตัวบัตรเครดิตร่วมแบรนด์กับ T-Mobile แต่ข่าววงในระบุว่าโครงการนี้ถูกพับไปแบบไม่มีกำหนด
***ไม่ตายใน 6 ปี
การพับโครงการออกบัตรเครดิตใหม่สำหรับผู้บริโภคของ Goldman ถูกมองเป็นการรักษาเนื้อรักษาตัวในธุรกิจธนาคารเพื่อผู้บริโภค แต่ Goldman ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรกับ Apple และ GM ต่อไป แหล่งข่าววงในยังเผยด้วยว่า Goldman ได้ประกาศขยายความร่วมมือกับ Apple จนถึงปี 2029 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่นอกเหนือ Apple Card
ตรงนี้เว็บไซต์ 9to5mac.com มองว่า Apple กำลังเพิ่มความพยายามในการปั้นบริการด้านการเงินส่วนบุคคลของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการพึ่งพา "บริษัทที่สาม" อย่าง Goldman Sachs ตัวอย่างเช่น บริการ "ซื้อตอนนี้ จ่ายภายหลัง" หรือ buy now, pay later ที่ Apple วางกลยุทธ์ใช้เครื่องมือทางการเงินของ Apple เองมากกว่า Apple Card อย่างไรก็ตาม Goldman ยังคงเป็นหุ้นส่วน และผู้ออกสินเชื่อ และแน่นอนว่า Apple กำลังทำงานร่วมกับ Goldman Sachs สำหรับฟีเจอร์ Apple Card Savings Account ที่ได้ประกาศตัวไปแล้ว
ถามว่าทำไม Goldman Sachs จึงขาดทุนหนักกับ Apple Card คำตอบมีอยู่ 2 ข้อคือ 1.Apple Card ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ จากผู้ใช้นอกเหนือจากดอกเบี้ย ในขณะที่บริษัทบัตรรายอื่นเรียกเก็บค่าธรรมเนียมยิบย่อย เช่น ค่าธรรมเนียมจ่ายล่าช้า และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่างประเทศ แต่ Apple Card ไม่เก็บ และแอป Apple Wallet ยังสนับสนุนให้ผู้คนชำระเงินและหลีกเลี่ยงดอกเบี้ย
2.Goldman ต้องบันทึกยอด Charge-offs หรือการหักเงินจากยอดงบคงเหลือในอัตราที่สูงกว่าธนาคารอย่าง Chase และ Bank of America เพราะการให้บริการ Apple Card โดย Charge-offs จะเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกค้าขาดการชำระเงินเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้ว Goldman ได้บันทึกยอดเงินกู้หรือ loan balance ไว้มากกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
***Apple Card ปรับนิสัยการออมคนอเมริกันได้?
สำหรับการประกาศบัญชีออมทรัพย์ใหม่ของ Apple Card ที่ถูกวางเป้าหมายให้เป็นตัวช่วยปรับปรุงนิสัยการออมของชาวอเมริกัน คำถามที่สื่อการเงินแดนลุงแซมสงสัยคือเป้าหมายนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? เพราะที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 แต่ธนาคารใหญ่ในสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ มีแต่บริษัทฟินเทคจำนวนหนึ่งที่พยายามจูงใจผู้บริโภคด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
แต่ด้วยค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ได้ฉวยโอกาสจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเช่นนี้ ประเด็นนี้ finovate.com วิเคราะห์โดยยกข้อมูลจากบริษัท Credit Karma ที่ออกผลการสำรวจซึ่งสะท้อนนิสัยการออมที่ไม่ดีของชาวอเมริกัน รวมถึงความรู้ทางการเงินที่ไม่เพียงพอ เช่น 51% ของชาวอเมริกันไม่รู้วิธีคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของตัวเอง และ 31% ของชาวอเมริกันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 0 ดอลลาร์หรือน้อยกว่า โดย 30% ของ Gen Z ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินของคนดังมากกว่าของตัวเอง ที่สำคัญคือ 27% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าไม่มีเงินเก็บเพื่อการเกษียณในตอนนี้
ไม่ว่าสถิติเหล่านี้จะสะท้อนถึงความท้าทายเพียงใด เราต้องยอมรับว่า Apple Card มีความได้เปรียบสูงมากในตลาดบริการด้านการเงิน และจะยังเป็นบริการบัตรเครดิตในฝันของผู้คนทั่วโลกไม่น้อยกว่า 5 ด้าน ทั้ง 1.ด้านฟีเจอร์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ อย่างการติดตามธุรกรรมแบบเรียลไทม์ หรือความสามารถในการใช้กับ Apple Pay
2.การผสานรวมกับระบบนิเวศของ Apple ทำให้ผู้ใช้สามารถจัดการการเงินและติดตามการใช้จ่ายผ่านแอป Wallet บน iPhone ได้ง่าย 3.ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ที่เด่นคือความสามารถในการสร้างหมายเลขบัตรเสมือนสำหรับการซื้อออนไลน์ และการใช้ Face ID หรือ Touch ID สำหรับการตรวจสอบสิทธิ
4.ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่มีทั้งค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่างประเทศ รวมถึงค่าธรรมเนียมจ่ายล่าช้า ทำให้เป็นตัวเลือกที่โดดเด่นในตลาด และ 5.ด้านสิ่งแวดล้อม Apple Card จะเป็นกลางทางคาร์บอนทั้งหมดโดยการกำจัดข้อความกระดาษและลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตและการขนส่ง
ทั้ง 5 ข้อนี้ทำให้เราต้อง "ดูกันยาวมากๆ" จึงจะได้บทสรุปว่า Apple Card ว่าไหวหรือไม่ไหว เพราะแม้จะเป็นบัตรเครดิตที่เผาเงินหลักพันล้านในช่วงแรก และเพิ่งขายฝันด้วยการระดมเงินฝากผ่านดอกเบี้ยสูงล่อใจ แต่การมุ่งเน้นสร้างความแตกต่างก็ทำให้ Apple Card ถูกยกว่ามีอนาคตสดใส และมีความน่าสนใจมากกว่าบัตรเครดิตอื่นในตลาด ซึ่งพยายามจูงใจให้ผู้คนผ่อนชำระขั้นต่ำแบบไม่ครบเท่าที่ใช้จริง เพื่อดันให้ยอดดอกเบี้ยเงินกู้พุ่งสูง สร้างกำไรให้บริษัทร่ำรวยขึ้น