xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนเน็ตเวิร์ก ‘AIS’ เดินหน้าลงทุน 5G mmWave (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต่อเนื่องจากการควบรวมธุรกิจที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงไป ในมุมหนึ่งก็คือช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุนโครงข่ายเพื่อการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั้งในแง่ของเครือข่ายไร้สายอย่างโทรศัพท์มือถือ และบรอดแบนด์อย่างเน็ตบ้านของรายใหญ่ที่แข็งแรงทั้งคู่ มาผลักดันให้ประชาชน และผู้ประกอบการรายเล็กสามารถนำดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้

แน่นอนว่าปัจจัยหนึ่งในการให้บริการโครงข่ายดิจิทัล คือเรื่องของการถือครองคลื่นความถี่ ซึ่งปัจจุบันโอเปอเรเตอร์ทั้ง 2 รายต่างมีการนำจุดแข็งของคลื่นความถี่มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ย่านต่ำ ย่านกลาง และย่านสูงที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน และในอนาคตการที่มีหลายย่านความถี่นี้จะช่วยเปิดโอกาสให้การเข้าถึงดิจิทัลทำได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วย

เมื่อเทียบถึงปริมาณในการถือครองคลื่นความถี่ปัจจุบัน จะเห็นว่าทั้ง AIS และ True ที่รวมระหว่างแบรนด์ TrueMove H และ dtac นั้นมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอต่อการให้บริการ ถ้านับในแง่ของจำนวนแบนด์วิดท์ที่ถือครอง AIS เป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ในมือมากที่สุด ในขณะที่ True จะได้ความโดดเด่นในแง่ของการที่มีทุกย่านความถี่ให้ใช้งาน

***รวมจุดแข็งย่านความถี่ต่ำ-กลาง


วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำคลื่นความถี่มาใช้งานในปัจจุบันว่า ด้วยจุดเด่นของคลื่นความถี่ย่านต่ำที่ให้ในแง่ของพื้นที่ใช้งานที่ครอบคลุม ทำให้การมีคลื่น 700 MHz และ 900 MHz มาช่วยเสริมในแง่ของพื้นที่การใช้งาน

“จากความร่วมมือกับ NT ล่าสุด ทำให้ AIS มีคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่เดิมมี 15 MHz เพิ่มมาเป็น 20 MHz ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้ในลักษณะของ Super Block ที่จะดึงประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ออกมาได้มากที่สุดเหมือนก่อนหน้านี้ที่คลื่น 1800 MHz ของ AIS ก็จะมีลักษณะเป็น Super Block เช่นเดียวกัน”


ในแง่ของการขยายเครือข่าย AIS กำลังเร่งขยายคลื่น 700 MHz ไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้รองรับการใช้งาน 5G ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคลื่น 700 MHz จะเข้ามาช่วยเสริมการใช้งาน 5G ในพื้นที่เมืองเพราะจะช่วยในเรื่องของการอัปลิงก์ ที่กลุ่มผู้ใช้งาน 5G นอกจากต้องการความเร็วในการดาวน์โหลดแล้ว การไลฟ์สตรีม หรืออัปโหลดไฟล์ต้องใช้ความเร็วของการอัปโหลดมาช่วยด้วย

ถัดมาในกลุ่มย่านความถี่กลางอย่าง 1800 MHz 2100 MHz และ 2600 MHz จะผสมผสานการใช้งานระหว่าง 3G 4G และ 5G ในพื้นที่เมืองเป็นหลัก เพราะคลื่นความถี่ย่านกลางจะเข้ามาช่วยในแง่ของการรองรับปริมาณการใช้งานที่หนาแน่น ซึ่งด้วยคลื่นความถี่ที่มีในปัจจุบันถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานต่อไปในอนาคตอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยให้การบริหารจัดการคลื่นความถี่ทำได้ดีขึ้นอย่าง 5G EN-DC ที่รวมการใช้งานของคลื่น 4G และ 5G เข้ามาให้บริการ หรือการทำ 5G CA ระหว่างคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz ทำให้ได้ความเร็วในการใช้งานที่ดีขึ้น ความหน่วงต่ำลง และครอบคลุมพื้นที่การใช้งานที่มากขึ้น

นอกเหนือจากการรวมคลื่นแล้ว อีกคุณสมบัติของเครือข่าย 5G ที่น่าสนใจคือ การให้บริการแบบ 5G SA หรือ 5G Stand Alone ด้วยการติดตั้งสถานีฐานที่ใช้สำหรับการปล่อยสัญญาณ 5G เพียงอย่างเดียว เสริมจากก่อนหน้านี้ที่ใช้งานสถานีฐาน 4G และ 5G ร่วมกันในลักษณะของ 5G NSA หรือ 5G Non Stand Alone ซึ่งล่าสุด AIS ได้เปิดให้สมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G SA ทั้ง Android และ iPhone ใช้งานแล้วนับตั้งแต่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2563


ทั้งนี้ จุดแข็งสำคัญที่ทำให้การให้บริการ 5G ของ AIS เกิดขึ้นได้รวดเร็ว และครอบคลุม ส่วนหนึ่งมาจากในยุคของการขยายบริการ 4G ที่ในช่วงเวลานั้น AIS ถือครองแค่คลื่นความถี่ย่านกลาง (1800 MHz) ในการให้บริการ ทำให้ต้องมีการปูพรมติดตั้งสถานีฐานเพิ่มให้รองรับการใช้งานทั่วประเทศ ทำให้ในตอนที่ได้คลื่นความถี่มาให้บริการ 5G สามารถติดตั้งสถานีฐานทั้งแบบ NSA เพื่อให้ใช้งานได้ทันที ไปพร้อมกับการเสริมสถานีฐานแบบ SA เข้าไปเพื่อให้การใช้งาน 5G ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด และกลายเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในยุคของการให้บริการ 5G

***เติม ‘5G mmWave’ กระตุ้นแบรนด์นำดีไวซ์ทำตลาด


อีกหนึ่งช่วงคลื่นความถี่ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต คือการนำคลื่น 5G mmWave มาให้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบัน AIS มีคลื่นนี้อยู่ในมือราว 1.2 GHz ในขณะที่จากรายงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมล่าสุด ระบุว่า ปริมาณคลื่นความถี่ที่เหมาะสมจริงๆ ควรอยู่ที่ 3.5 GHz - 5 GHz

“ถ้าถามว่าคลื่น 5G 26 GHz ที่มีแบนด์วิดท์อยู่ตอนนี้ 1.2 GHz เพียงพอใช้งานหรือไม่ ต้องยอมรับว่าในช่วงเริ่มแรกที่ใช้งานกันยังพออยู่ แต่ในอนาคตถ้ามีการพัฒนาเร็วๆ ดีไวซ์ หรืออุปกรณ์ที่รองรับเริ่มแพร่หลายมากขึ้น การมีแบนด์วิดท์ที่มากขึ้นจะสามารถให้บริการได้ดีกว่า”

ปัจจุบัน แผนการนำคลื่น 5G mmWave มาให้บริการของ AIS จะเริ่มจากการนำไปใช้งานในพื้นที่ที่มีคนใช้งานจำนวนมากพร้อมๆ กัน อย่างในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง สำนักงาน สนามกีฬา มหาวิทยาลัย หรือศูนย์ประชุมที่จัดงานแสดง งานคอนเสิร์ต ซึ่ง 4G และ 5G ในปัจจุบันจะมีปัญหาในแง่ของการอัปโหลดที่เป็นคอขวดในการใช้งาน

เพียงแต่ว่าด้วยต้นทุนของอุปกรณ์ที่สูงขึ้น ทำให้แบรนด์สมาร์ทโฟน หรือสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ยังไม่ได้มีการนำอุปกรณ์ที่รองรับ 5G mmWave เข้ามาทำตลาด ทำให้จากเดิมโอเปอเรเตอร์ที่เคยรอว่าเมื่อมีจำนวนดีไวซ์ที่รองรับในระบบจึงเริ่มลงทุนเครือข่าย กลายมาเป็นการเดินหน้าติดตั้งสถานีฐาน 5G mmWave เพื่อให้แบรนด์ดีไวซ์เห็นว่าเครือข่ายพร้อมให้นำเข้ามาทำตลาดในไทยได้แล้ว

“ประโยชน์หลักของ 5G mmWave คือมีแบนด์วิดท์ที่สูงทำให้สามารถควบคุมอัปลิงก์ และดาวน์ลิงก์ได้ ซึ่งจะเข้าไปช่วยออฟโหลดการใช้งานบนเครือข่ายหลักให้โล่งมากขึ้น เหมือนการออฟโหลดผู้ใช้ไปเชื่อมต่อกับ WiFi ในตอนนี้ ซึ่งถ้าถึงวันหนึ่งที่มีดีไวซ์เข้ามารองรับ ประสบการณ์ใช้งานของทุกคนจะดีขึ้นไปอีก”


ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสนำ 5G mmWave ไปใช้งานได้เหมาะสมที่สุด เพราะเริ่มเห็นแนวทางในการนำไปใช้งานลักษณะของโครงข่ายเฉพาะที่ภายในโรงงาน หรือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการ 5G ไปใช้ในการเชื่อมต่อเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ต้องการทั้งความเร็ว และความแม่นยำ

นอกจากนี้ AIS มีแผนที่จะขยายพื้นที่การให้บริการ 5G Fixed Wireless Access บนคลื่น mmWave เพิ่มเติม ด้วยการพัฒนาให้สามารถส่งสัญญาณ 5G mmWave ได้ไกลมากขึ้น จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ราว 100-300 เมตร ไปสู่ 5-7 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

“การให้บริการ 5G FWA จะเข้าไปช่วยซัปพอร์ตบริการฟิกซ์บรอดแบนด์ในพื้นที่ที่ไม่สามารถลากโครงข่ายใยแก้วนำแสงเข้าไปให้บริการได้ ซึ่งปลายปีที่ผ่านมา AIS เริ่มนำร่องให้บริการในบางจังหวัดแล้ว”




กำลังโหลดความคิดเห็น