'ชัยวุฒิ' กำชับดูแลผู้เสียหายจากเว็บไซต์ 9near ที่อ้างว่ามีข้อมูลส่วนตัวของคนไทยกว่า 55 ล้านราย โดยเร่งประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องหาข้อเท็จจริง รวมถึงเร่งรัดการใช้งาน Digital ID เพื่อยกระดับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีผู้ใช้งานบัญชี “9near” ที่อ้างว่ามีข้อมูลส่วนตัวของคนไทยกว่า 55 ล้านราย บนเว็บไซต์ Bleach Forums ว่านอกเหนือจากที่เร่งหาหลักฐานและตัวคนร้ายแล้ว ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงดีอีเอส ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเร่งหาข้อเท็จจริงเพื่อดูแลผู้เสียหายจาก 9near ตลอดจนเร่งรัดการใช้ Digital ID และยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
โดยในวันที่ 3 เมษายน 2566 ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอีเอส ได้เป็นประธานการประชุม “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานรัฐ” โดยได้เชิญหน่วยงานรัฐที่มีข้อมูลส่วนบุคคลขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมากหารือ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน กกต. เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)
ในการประชุมได้มีการหารือประเด็นสำคัญดังนี้
1.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งฐานข้อมูลของหน่วยงานเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือไม่ มีการตรวจสอบเพื่อป้องกันและแก้ไขช่องโหว่ของระบบที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร
โดยนายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)ได้รายงานในที่ประชุมว่า จากการสุ่มตรวจของ สคส. ได้พบการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมของหน่วยงานของรัฐ และได้ทำการแจ้งเตือนไปแล้ว ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือปรับปรุงตามคำแนะนำ
ด้าน พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า THAICERT ของ สกมช. ตรวจพบว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานถูกโจมตี และยังมีการหลุดรั่วของข้อมูล ซึ่งได้ประสานงาน เร่งแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาอย่างต่อเนื่อง
2.แนวปฏิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลในหน่วยงานของรัฐ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 รวมทั้งประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565 และประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565
ทั้งนี้ หากหน่วยงานทำข้อมูลรั่ว โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต้องรีบแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้เสียหาย รวมถึงควรทำการเยียวยาผู้เสียหายด้วย
3.การช่วยเหลือสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ และดีอีเอส ต่อหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของหน่วยงาน รวมทั้งแนวทางการทำงานร่วมกันในเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากนี้ ได้หารือถึงแนวทางเร่งรัดการใช้ Digital ID เพื่อช่วยยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของหน่วยงาน ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงดีอีเอสได้จัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ.2565 (Digital ID) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 และผลักดันการพัฒนาระบบยืนยันตัวตน National Digital ID ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันข้อมูลรั่วไหล และยืนยันตัวตนได้อย่างมั่นใจมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งการยืนยันตัวตนด้วย Digital ID จะช่วยป้องกันการถูกขโมยข้อมูล รวมทั้งการป้องกันการหลอกลวงประชาชนจากการทำธุรกรรมออนไลน์
โดยที่ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า “วันนี้สรุปได้ว่าการหาข้อเท็จจริงเรื่องที่อ้างว่าข้อมูลขนาดใหญ่รั่วจากหน่วยงานภาครัฐยังดำเนินการอยู่ กรณีที่มีข้อมูลรั่ว หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมีช่องโหว่ หน่วยงานต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข ในขณะเดียวกัน ต้องทำการซักซ้อมแนวปฏิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงขอความร่วมมือหน่วยงาน ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยข้อมูล และช่วยผลักดันการใช้ Digital ID”