NT ชูศักยภาพความพร้อมท่อร้อยสายใต้ดินครอบคลุมทั่วประเทศระยะทางรวม 4,450 กิโลเมตร พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เดินหน้าโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน ลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ลดการลงทุนซ้ำซ้อน อวดโฉมถนนไร้สาย “พัทยาเหนือ จ.ชลบุรี” ปรับภูมิทัศน์เมืองให้สวยงาม เพิ่มศักยภาพและความปลอดภัยของโครงข่ายสื่อสาร
นายพงศกร เหราบัตย์ รักษาการผู้จัดการฝ่ายขายและปฏิบัติการลูกค้าภาคตะวันออกตอนล่าง บริษัท โทรคมนาคมแห่งขาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น Neutral Operator และ Neutral Last Mile Provider ของประเทศ มีศักยภาพความพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน
ที่ผ่านมา มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จหลายโครงการ ด้วยความพร้อมของท่อร้อยสายใต้ดินครอบคลุมทั่วประเทศระยะทางรวม 4,450 กิโลเมตร แบ่งเป็นนครหลวง 3,600 กิโลเมตร ภูมิภาค 850 กิโลเมตร และพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วประเทศ รวมถึงการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน เพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ลดการลงทุนซ้ำซ้อน
โดยผู้ประกอบการโทรคมนาคมลงทุนในโครงข่ายโทรคมนาคมหลัก (Core) และ NT เป็นผู้ลงทุนในส่วนโครงข่ายโทรคมนาคมปลายทาง (Last Mile) ทั้งแบบแขวนในอากาศและแบบที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการในรูปแบบแขวนบนอากาศบริเวณพื้นที่ถนนนาคนิวาส กรุงเทพมหานคร ส่วนแบบ Single Last Mile ที่อยู่ใต้ดินได้มีการดำเนินการในหลายพื้นที่ เช่น ถนนพัทยาเหนือ (จ.ชลบุรี) ถนนอุดรดุษฎี และถนนโพธิ์ศรี (เทศบาลเมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี) ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร และมีแผนการดำเนินการอีกหลายพื้นที่
ในปี 2565 NT มีท่อร้อยสายที่ครอบคลุมพื้นที่ในโครงการสำคัญต่างๆ ทั้งหมด 7 โครงการ รวมระยะทางทั้งสิ้น 449.19 กิโลเมตร ได้แก่ 1.โครงการปรับภูมิทัศน์เกาะรัตนโกสินทร์ 2.โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 12 เส้นทางในเขต กทม. 3.โครงการมหานครแห่งอาเซียน 4.โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า 4 เมืองใหญ่ 5.โครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 6.โครงการปรับสภาพภูมิทัศน์เมืองสำคัญและเมืองท่องเที่ยว 7.โครงการตามข้อตกลงความร่วมมือกับกองทัพเรือ
สำหรับแผนงานในปี 2566 มีแผนการดำเนินการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน จำนวน 6 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมด 57.609 กิโลเมตร ได้แก่
1.โครงการความร่วมมือปรับปรุงท่อร้อยสายสื่อสารโทรคมนาคมและระบบสายนำสัญญาณใยแก้ว กับกองทัพเรือ ระยะทาง 15.745 กิโลเมตร
2.โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ถนนมีชัยช่วงตั้งแต่แยกดอนแดง ถึงตลาดวัดธาตุจังหวัดหนองคาย ระยะทาง 6.03 กิโลเมตร
3.โครงการก่อสร้างถนนรามคำแหง ช่วงที่ 2 ก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง จากคลองบ้านม้า ถึงคลองบางชัน ระยะทาง 20.503 กิโลเมตร
4.โครงการก่อสร้างถนนสุทธิสารวินิจฉัย (อินทามระ) บริเวณถนนพหลโยธิน ถึงถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง 1.39 กิโลเมตร
5.โครงการก่อสร้างถนนเยาวราช บริเวณวงเวียนโอเดียน ถึงคลองโอ่งอ่าง ระยะทาง 1.44 กิโลเมตร
6.โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์จังหวัดสุรินทร์ ระยะทาง 11.73 กิโลเมตร
โดยแผนดำเนินการตามโครงการสำคัญ แบ่งเป็นนครหลวงและภูมิภาค รวมระยะทาง 399.7 กิโลเมตร แบ่งเป็น
- พื้นที่นครหลวง รวมระยะทาง 188.50 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการปรับปรุงทางเท้าร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 เส้นทาง โดยมีเส้นทางเร่งด่วน 2 เส้นทาง คือ ถนนเยาวราช ช่วงจากวงเวียนโอเดียนถึงคลองโอ่งอ่าง และถนนสุทธิสารวินิจฉัย (อินทามระ) ช่วงถนนพหลโยธินถึงถนนวิภาวดีรังสิต โครงการเคเบิลลงดินโดยไม่มีสภาพบังคับ จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทาง 48.70 กิโลเมตร โครงการมหานครอาเซียน จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง 127.30 กิโลเมตร โครงการรักษ์คูเมืองเดิม จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 1.50 กิโลเมตร และโครงการปรับภูมิทัศน์คูน้ำวิภาวดีรังสิต จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 11 กิโลเมตร
- พื้นที่ภูมิภาค รวมระยะทาง 211.2 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการ 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 74 จังหวัด จำนวน 76 เส้นทาง ระยะทาง 80.10 กิโลเมตร โครงการปรับสภาพภูมิทัศน์ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะทาง 40.00 กิโลเมตร โครงการตามข้อตกลงความร่วมมือกับกองทัพเรือ จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทาง 22.60 กิโลเมตร และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า 4 เมืองใหญ่ เป็นการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะทางรวมจำนวน 68 เส้นทาง 68.50 กิโลเมตร ได้แก่ นครราชสีมา หาดใหญ่ (ถ.ธรรมนูญวิถี) เชียงใหม่ และพัทยา (พัทยาเหนือ)
ด้านนายขจรพัฒน์ วรรณศิริ โทรคมนาคมเมืองพัทยา กล่าวว่า ปัจจุบันการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ประเภทท่อ เสา สายโทรคมนาคม ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการปรับสภาพภูมิทัศน์เมืองสำคัญและเมืองท่องเที่ยว โดย NT ได้ก่อสร้างท่อร้อยสายและได้มีการนำสายสื่อสารลงดินเรียบร้อยแล้วหลายจังหวัด และจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วในบางเส้นทาง สำหรับพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี เป็นหนึ่งในโครงการมีจำนวนพื้นที่ที่ได้นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 7 เส้นทาง รวมระยะทาง 16.3 กิโลเมตร ได้แก่ 1.ถนนพัทยาเหนือ ระยะทาง 2 กิโลเมตร 2.ถนนสุขุมวิทระยะทาง 1.80 กิโลเมตร 3.ถนนพัทยากลาง ระยะทาง 2.20 กิโลเมตร 4.ถนนพัทยาสาย 1 ระยะทาง1.80 กิโลเมตร 5.ถนนพัทยาสาย 2 ระยะทาง 1.70 กิโลเมตร 6.ถนนพัทยาสาย 3 ระยะทาง 4.10 กิโลเมตร 7. ถนนพัทยาใต้ ระยะทาง 2.70 กิโลเมตร และมีเส้นทางเพิ่มเติมของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เส้นทางพัทยาสาย 3 เส้นทาง พัทยาเหนือ-พัทยากลาง ระยะทาง 3.31 กิโลเมตร
“การนำสื่อสารลงใต้ดินของเมืองพัทยานั้นมีทั้งหมด 9 เส้นทางที่จะดำเนินการ ผลจากการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเองทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสายสื่อสารได้รับการแก้ไขทั้งหมด ทั้งเรื่องทัศนียภาพของเมือง ความปลอดภัยและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งค่าบำรุงรักษาสายสื่อสารและเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดจากสายสื่อสารมีจำนวนลดลงหลังจากที่มีการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งในส่วนนี้เป็นการทำร่วมกันกับการไฟฟ้าภูมิภาคโดยมี NT เป็นผู้ดำเนินการหลัก และมีอีกหลายเส้นทางที่ยังคงอย่างต่อเนื่อง ทั้งเส้นสาย 3 เส้นสุขุมวิท และเส้นสาย 2 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ส่วนเส้น walking Street มีการขุดท่อร้อยสายใต้ดินเพื่อนำสายสื่อสารลงดินแล้ว เหลือเพียงแค่นำสายสื่อสารลงมาเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้จะต้องทำตามแผนงานของทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของเมืองพัทยานั้นได้รับมาตามแต่ละโครงการและแผนงานที่วางเอาไว้ ซึ่งทางเมืองพัทยานั้นแบ่งโครงการออกเป็น 9 เส้นทาง เพราะฉะนั้น งบประมาณที่ได้รับจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระยะทางและแผนงานที่วางเอาไว้ และเป็นการตั้งงบประมาณจากทางส่วนกลางในการพิจารณา รวมทั้งการจัดหาบริษัทคู่สัญญาด้วย”
อัตราค่าใช้บริการทรัพยากรของทาง NT ทั้งท่อร้อยสายใต้ดิน core fiber ได้มีการกำหนดกรอบราคาจะมีการเรียกโอเปอเรเตอร์ทั้งหมด รวมถึงสมาคมโทรคมนาคมเข้าร่วมรับฟังด้วย เราจะพิจารณาว่าโอเปอเรเตอร์จะสามารถรับราคานี้ได้หรือไม่ เพราะว่าโอเปอเรเตอร์มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะต้องแบกรับเช่นกัน ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดเองโดย Provider ที่เราเป็นผู้ให้บริการเช่าท่อร้อยสาย เพราะฉะนั้น ราคาที่ถูกกำหนดออกมาเป็นราคากลาง โดยคิดอัตราค่าบริการ 100 บาท/เดือนต่อ 1 ผู้ใช้งาน ซึ่งไม่ว่าจะขอเข้าใช้งานในพื้นที่ใดก็ตามจะคิดค่าบริการในอัตราเดียวกัน ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของประเทศมีหน้าที่ในการทำตามกรอบนโยบายและให้บริการแก่ประชาชน และการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานหรือผู้เช่า โดยนำสายที่มีผู้ใช้งานลงดินก่อน เราจึงรื้อสาย ไม่ใช่ว่าหักสายแล้วไม่สามารถใช้งานได้ ขั้นตอนทั้งหมดต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงนำสายสื่อสารที่อยู่ด้านบนมาอยู่ด้านล่าง ดังนั้น ลูกค้าและผู้ใช้งานจะไม่ได้รับผลกระทบ และยังได้รับการบริการที่ดีขึ้นด้วยไม่มีการคิดค่าบริการเพิ่มเติม
“การเช่าใช้ทรัพยากรของทาง NT จะมีค่าบริการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าจะเช่าในส่วนใดบ้างซึ่งเป็นการแบ่งการให้บริการในรูปแบบของการบริการในส่วนธุรกิจและภาคประชาชน ซึ่งความแตกต่างระหว่างการเช่าเดือนละ 100 บาท กับการเช่าท่อหรือ core fiber จะคิดตามข้อตกลงการให้บริการระหว่างผู้ให้บริการและลูกค้า หรือ SLA โดยการเช่า core fiber จะอยู่ที่ราคา 800 บาท/เดือน สำหรับภาคธุรกิจหรือโอเปอเรเตอร์ สำหรับการท่อร้อยสายใต้ดินจะมีอัตราค่าบริการอยู่ที่ 9,650 บาทต่อ 1 กิโลเมตร ซึ่งไม่ว่าจะจ่ายในราคาใดก็ตามระดับการให้บริการจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทาง กสทช.กำหนด ซึ่งในตอนแรกราคาอัตราค่าเช่าจะอยู่ที่ กว่า 12,000 บาทต่อกิโลเมตร และเป็นราคากลางที่กำหนด แต่ที่นี่เป็นพื้นที่พิเศษและได้มีการเจรจากับทางโอเปอเรเตอร์จึงสามารถทำได้ในราคาที่ถูกลง”
ทั้งนี้ โครงการในระยะต่อไปสำหรับเมืองพัทยา คือ โครงการไฟฟ้าเมืองใหญ่ระยะที่ 2 จะเริ่มขยายออกเป็นพื้นที่ริมชายหาดตั้งแต่บริเวณชายหาดจอมเทียนเป็นต้นไป และหลังจากนั้นจะเริ่มขึ้นไปทางฝั่งบกหรือที่ลาดเชิงเขา ซึ่งการดำเนินงานในขั้นต่อไปจะเป็นไปตามแผนที่ กสทช.เป็นผู้กำหนดร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค