SKY ICT จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เชื่อมทักษะจากห้องเรียนสู่การปฏิบัติจริง พัฒนา Tech Talent รุ่นใหม่ขับเคลื่อนอนาคตประเทศ พร้อมเตรียมงบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อหนุนทุนวิจัย-ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี เสริมแกร่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ
นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKYเปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือ KMUTT ในการร่วมกันพัฒนานักศึกษาสู่การเป็น Tech Talent ที่ผ่านการปฏิบัติงานจริง และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานบัณฑิตหลังจบการศึกษา ตลอดจนสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนางานบริการทางวิชาการ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต ตามปณิธานของสกาย ไอซีทีด้าน Tech Talent Transformation ที่มุ่งสร้าง Tech Talent สายเลือดใหม่เข้ามาเติมเต็ม Tech Ecosystem ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาประสบการณ์ดิจิทัลภายในท่าอากาศยาน (Digital Airport Experiences) แก่ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนการวิจัยและศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับการบริการภายในท่าอากาศยาน ร่วมกับ Edutainment Socio-Interaction Computing Lab (ESIC Lab) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อยกระดับการบริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้พร้อมก้าวสู่การเป็นท่าอากาศยานอัจฉริยะ (Digital Airport) รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ คือ Connecting Thailand
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือ KMUTT กล่าวว่า มจธ. มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ สร้างสรรค์งานวิจัย ผลิตบัณฑิต ไปจนถึงร่วมส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมตลอดมา ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการระหว่างบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) กับมหาวิทยาลัยในครั้งนี้จะเข้ามาช่วยเชื่อมต่อการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการประยุกต์ใช้จริงได้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานภายใต้สภาพแวดล้อมจริงได้เต็มศักยภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต
ด้าน ผศ.ดร.ปริยกร ปุสวิโร ผู้อำนวยการ ESIC Lab มจธ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชนครั้งนี้สามารถทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นอย่างน้อย 3 ด้าน ประกอบด้วย
1) การพัฒนานักศึกษาให้มีประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมภายนอกห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมสำหรับการทำงานที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมได้หลังจากสำเร็จการศึกษา
2) การนำงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาบริการภายในท่าอากาศยาน เพื่อยกระดับท่าอากาศยานให้เป็นประตูด่านแรกของประเทศ ที่จะสร้างประสบการณ์อันดีให้นักท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ ภาคการศึกษามุ่งหวังว่าจะใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของบุคลากรทางภาคการศึกษาที่มี เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมไปกับภาคอุตสาหกรรม 3) การต่อยอดองค์ความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท่าอากาศยานอัจฉริยะ
ทั้งนี้ ดร.ปิยนิตย์ เวปุลานนท์ หัวหน้าวิจัย ESIC Lab มจธ. กล่าวว่า งานที่สำคัญที่ต้องพัฒนาสำหรับงานบริการอัจฉริยะในท่าอากาศยานคือ งานพัฒนาด้าน Activating Space for Digital Airport ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น การใช้เครือข่ายการตรวจจับแบบไร้สาย การระบุตำแหน่งผู้โดยสารภายในอาคารท่าอากาศยาน การนำทางผู้โดยสาร การเก็บข้อมูลด้วยเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่หลากหลายในพื้นที่ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ การประมวลผลแผนที่ด้วยระบบคลาวด์ รวมถึงเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมไปถึงงานวิจัยในลักษณะสหวิทยาการได้ในอนาคต ทั้งนี้ ทุกองค์ความรู้จะเป็นความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับ Digital Airport Experiences แก่ผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานอย่างรอบด้าน