xs
xsm
sm
md
lg

อะโดบีโฟกัสตลาดครีเอเตอร์ไทยโตตามเกาหลีใต้ ลุยธุรกิจจัดการข้อมูลเข้มข้นปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแผนอะโดบี (Adobe) ลุยเข้มตลาดไทยปี 66 มองธุรกิจสร้างสรรค์คอนเทนต์และตลาดบริหารจัดการข้อมูลเป็น 2 พื้นที่ที่จะมีการเติบโตชัดเจนในประเทศไทยช่วงปีนี้ ฟันธงตลาดครีเอทีฟไทยมีโมเมนตัมสูงเพราะทุกรายจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้ทันสมัย ส่งให้มีโอกาสเติบโตตามรอยเกาหลีใต้ที่ตลาดบูมต่อไม่หยุด ด้านระบบจัดการข้อมูลเรียลไทม์มาแรง มั่นใจพาแบรนด์ท้องถิ่นไปแข่งระดับโลกได้

นายไซมอน เดล กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียแปซิฟิก และเกาหลี ของอะโดบี กล่าวระหว่างการเปิดเผยรายงานเทรนด์ดิจิทัลของอะโดบี (Digital Trends Report) ประจำปี 2566 ว่าปัจจุบันแบรนด์ชั้นนำทั่วโลกกำลังเร่งลงทุนหลายด้านเพื่อความสำเร็จในปีนี้ ทั้งด้านระบบสร้างสรรค์เนื้อหา (Content Creation) และด้านระบบจัดการข้อมูลที่สามารถช่วยให้องค์กรดำเนินงานต่างๆ ได้ง่ายและเร็วขึ้น (ปรับปรุงเวิร์กโฟลว์) ซึ่งแม้ผลสำรวจนี้จะครอบคลุมองค์กรทั่วโลก แต่เชื่อว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน

"ตลาด Content Creation ของไทยมีลักษณะคล้ายกับเกาหลีใต้ ซึ่งสามารถขยายตัวจนมีการเติบโตสูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสามารถทำได้เช่นกันเนื่องจากมีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะคนที่ต้องการครีเอตงาน" ไซมอนกล่าว "สำหรับระบบจัดการข้อมูลและกลุ่มเครื่องมือดิจิทัลมาร์เกตติ้ง เราเชื่อว่าจะขยายตัวสูงเพราะความจำเป็นต้องปรับใช้การวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ตอบความต้องการของผู้บริโภคได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ระบบชองเราสามารถพาแบรนด์รีเทลไทยไปเติบโตในระดับโลกได้ ทำให้แบรนด์ไทยมี platform ที่เป็นสากล เป็นที่รู้จัก และพร้อมที่จะขยายตัว"

ทิศทางของอะโดบีในประเทศไทยปีนี้สอดคล้องกับผลสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก ที่ชี้ว่า 89% ของผู้บริหารระดับสูงมองเห็นความต้องการด้านคอนเทนต์ของลูกค้าซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ 41% ของผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญด้านการจัดการคอนเทนต์เวิร์กโฟล์วสูงที่สุดในปี 2566

ตัวอย่างอุปสรรคของตลาดงานโปรดักชัน คือกลุ่มนี้ไม่เพียงต้องการเครื่องมือสำหรับคุยประสานงานในบริษัทเท่านั้น แต่จำเป็นต้องคุยครบทั้งตากล้อง เอเยนซี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอก
ผลการสำรวจนี้ถูกเผยแพร่ในรายงานชื่อดิจิทัลเทรนด์ (Digital Trends Report) ประจำปี 2566 เป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร นักการตลาด พนักงานฝ่ายการตลาด และพนักงานเอเยนซีกว่า 9,000 คนทั่วโลกในช่วงพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา จากการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีและกลยุทธ์ที่ช่วยให้องค์กรที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมก้าวล้ำเหนือคู่แข่ง พบว่าแบรนด์ชั้นนำควรให้ความสำคัญกับการลงทุนเพิ่มความเร็ว ความสามารถในการขยายธุรกิจ และประสิทธิภาพในการสร้างคอนเทนต์ รวมถึงขั้นตอนการทำงานหรือเวิร์กโฟลว์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะสะท้อนออกมาสู่ความสำเร็จของภาพแบรนด์ในที่สุด

สิ่งที่อะโดบีต้องการบอกผ่านงานสำรวจนี้ คือความต้องการด้านคอนเทนต์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งในขณะที่ลูกค้าต้องการประสบการณ์ดิจิทัลแบบโต้ตอบได้จากช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่มีเพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่มองว่าตัวเองสามารถสร้างและนำเสนอคอนเทนต์ในระดับดี ขณะเดียวกัน องค์กรเกือบครึ่งหนึ่งยอมรับว่าอยากเปลี่ยนวิธีทำการตลาด และกว่าครึ่งนั้นรู้สึกว่ายังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่จากระบบ AI ที่มี ด้วยเหตุนี้ อะโดบีย้ำว่าองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับปรุง และเพิ่มความคล่องตัวให้ทุกขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ซัปพลายเชนด้านคอนเทนต์ทั้งหมด รวมถึงการวางแผนแคมเปญ การสร้างคอนเทนต์ การส่งคอนเทนต์ และการวิเคราะห์ข้อมูล

“การลงทุนเหล่านี้จะสร้างประโยชน์อย่างเต็มที่ได้ด้วยการติดตามผลงานแคมเปญที่วัดได้จริง นั่นคือการวัดที่ผลตอบแทน ไม่ใช่นับสถิติการมีส่วนร่วมเช่นยอดไลก์ หรือคอมเมนต์เท่านั้น"

หนึ่งในการวัดผลที่เห็นชัดคืออุตสาหกรรมรถยนต์ ไซมอนอธิบายว่าตลาดไทยมีลักษณะเหมือนตลาดเกาหลีในหลายด้าน เช่น การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งล่าสุดมีการปเปลี่ยนผ่านไปสู่รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ดังนั้น การลงทุนที่เพิ่มความคล่องตัวนั้นทำให้บริษัทสามารถสร้างรถได้เร็วจะทำตลาดได้ทันใจขึ้น ทำให้บริษัทกลุ่มนี้ลดเวลาในวงจรการพัฒนาที่มักกินเวลานาน 3 ปี ทำให้กระบวนการยืดยาวถูกหั่นเหลือสั้นลงจนสามารถผลิตได้มากขึ้นในแต่ละปี ผลจากคอนเทนต์ที่มีมากขึ้น และสามารถล้อไปกับซัปพลายเชนในระบบ

ไซมอน เดล กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียแปซิฟิก และเกาหลี ของอะโดบี
ไซมอนย้ำว่า ระบบเวิร์กโฟล์วของอะโดบีครอบคลุมทรัพย์สินดิจิทัลที่ครบวงจรตั้งแต่ส่วนสร้าง ผลิต และทำตลาด เรียกว่ารวมทั้งภาคการผลิต การตลาด ประสบการณ์ผู้ใช้ และการจัดการแคมเปญ ซึ่งไม่เพียงใช้ความเรียลไทม์ต่อยอดดาต้าเลคได้เหนือกว่าเจ้าอื่น อะโดบียังมีเครื่องมือเชื่อมต่อคนทำงานคอนเทนต์ที่สามารถตอบตลาดงานโปรดักชันที่ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการเครื่องมือสำหรับคุยประสานงานในบริษัทเท่านั้น แต่จำเป็นต้องคุยครบทั้งตากล้อง เอเยนซี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายอื่น โดยอะโดบีสามารถทำเครื่องมือที่ครีเอเตอร์สามารถเปิดไฟล์แก้ไขหรือเขียนความคิดเห็นลงในงานได้ง่ายขึ้น ส่งให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"เศรษฐกิจไม่ดีไม่ได้แปลว่าองค์กรจะประนีประนอมได้ เพราะผู้บริโภคคาดหวังไว้สูง ธุรกิจจึงต้องรักษาประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดี รวมถึงภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดี"

การสำรวจของอะโดบียังพบว่า บางองค์กรกำลังมองหาแพลตฟอร์มดิจิทัลและช่องทางการติดต่อสื่อสารในรูปแบบใหม่ โดย 22% ยอมรับว่ากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการตลาดในเมตาเวิร์ส (metaverse) จุดนี้ไซมอนให้ความเห็นว่ายังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าเทคโนโลยี VR จะพัฒนาจนทำให้เกิดการใช้งานแพร่หลาย เชื่อว่าจะเป็นการต่อยอดจากเมตาเวิร์สแบบ 2 มิติที่เกิดขึ้นแล้วในวงการเกม ซึ่งเมื่อใดที่แบรนด์สามารถสร้างอวตาร และมีการเปิดเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์สมจริงมากขึ้นในรูปแบ 3 มิติ เมื่อนั้นเมตาเวิร์สจะมีอิทธิพลมากขึ้นแน่นอน

NFT ไม่รุ่ง แต่ AR และ VR มาแรง
ในส่วนของ AI ที่มีการพัฒนาให้ระบบสามารถสร้างภาพตามข้อความที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป (Generative AI) ไซมอนมองว่าเทคโนโลยีนี้เป็นโอกาสไม่ใช่ภัยคุกคามบริษัท เนื่องจากอะโดบีมีแผนการพัฒนาเทคโนโลยี AI มานานแล้ว ล่าสุดมีการพัฒนา AI ให้เป็นฟีเจอร์ลากเส้นอัตโนมัติ เบื้องต้นเชื่อว่า AI จะยังไม่มาแทนที่มนุษย์ และทุกอย่างยังต้องการความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์อยู่

"AI ไม่ได้คิด มันให้คำตอบจากการคำนวณ ใช้ความน่าจะเป็น แม้จะเชื่อมโยงดีและเขียนออกมาได้ดีตามการฝึกฝนด้วยข้อมูล แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ยังประมวลมาจากเนื้อหาภาษาอังกฤษ การใช้งาน Generative AI ในวันนี้จึงยังเป็นเพียงการตลาดผิวเผิน ที่ยังไม่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจอย่างจับต้องได้ นอกจากนี้ ยังมีความน่ากังวลเรื่องลิขสิทธิ์ เนื่องจากเจ้าของงานจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ AI คัดลอกงาน ดังนั้นจึงอาจเกิดปัญหาในการทำตลาดเชิงพาณิชย์ได้"

ไซมอนทิ้งท้ายว่าทิศทางการพัฒนาฟีเจอร์ AI ของอะโดบีในอนาคตจะไม่เป็นเพียงแค่ผู้ช่วยอัจฉริยะ แต่จะเป็นฟีเจอร์ที่เรียนรู้ปัญหา โดยขณะนี้มีการนำ AI มาใช้ในระบบทดสอบ AB Testing เพื่อนำ AI มาช่วยในการออกแบบและการตัดสินใจ โดย AI จะทำให้ทราบว่าทางเลือกใดดีกว่า หรือทำให้ productivity ดีขึ้น ทั้งหมดนี้อยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนา ซึ่งยังต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้งานมากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น