xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผน ‘บรอดแบนด์-โมบาย NT’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ถึงกับแสงสว่างจ้าปลายอุโมงค์ แต่ยังไงสว่างริบหรี่ก็ดีกว่ามืดสนิท หลังควบรวม 2 ปี NT เริ่มประสานใกล้เป็นเนื้อเดียวกันผ่านบริการอย่างบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ทำงานให้บริการภายใต้ยุทธศาสตร์แบ่งกันทำช่วยกันขาย ภายใต้โครงสร้างราคาแพกเกจค่าบริการเดียวกัน หรือโมบายที่ยุบแบรนด์เหลือเพียงหนึ่งเดียว ‘my’ เพื่อความกลมเกลียว ไร้ความสับสน และภาพใหญ่ก้าวสู่บทบาท Public Safety เป็นเครื่องมือรัฐสื่อสารกับประชาชนยามเกิดภัยพิบัติ รอความหวังตัดริบบิ้น เปิดโครงการ 700 MHz

เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ได้จัดกิจกรรมผู้บริหารสายงานการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์พบสื่อมวลชน ประกอบด้วย เสกสรรค์ มิตรเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชนินทร์ สีหะโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มตลาดและบริการลูกค้า อภิชาติ สวรรค์คำธรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มตลาดผลิตภัณฑ์ ร่วมพูดคุยในประเด็น ‘กลยุทธ์และเป้าหมายด้านตลาดและผลิตภัณฑ์ของ NT ประจำปี 2566’

‘เป็นปีของการ integration เราจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดการซ้ำซ้อนต่างๆ เราพร้อมเป็นเบอร์ 3 พร้อมเป็นทางเลือกให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นบรอดแบนด์ โมบาย เราจะตอกย้ำความเป็นโทรคมนาคมแห่งชาติให้ชัดเจนมากขึ้น’ รอง กจญ.เสกสรรค์ กล่าว

เป้าหมายที่ท้าทายเชิงตัวเลขของธุรกิจบรอดแบนด์กับโมบายของ NT จากปัจจุบันที่ฐานลูกค้า NT บรอดแบนด์ประมาณ 2 ล้านราย และโมบายประมาณ 2 ล้านรายคือขยับทั้ง 2 ธุรกิจด้วยกลยุทธ์การ Cross Selling ระหว่างกันให้ยอดเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านรายทั้ง 2 ธุรกิจ

‘ตอนนี้โมบายมี 2 ล้านบรอดแบนด์มี 2 ล้านผมต้องการครอสเซลให้ 2 ฝั่งนี้ขยับเป็น 4 ล้านทั้งคู่’ ผู้ช่วย กจญ.อภิชาติ ระบุ


ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจบรอดแบนด์ของ NT ในปี 2566 จำเป็นที่จะต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมพร้อมขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคล SME และ Business ด้วยการพัฒนาคุณภาพบริการในด้านคอนเทนต์โดยเฉพาะบริการ OTT และ Streaming รวมทั้งให้บริการในรูปแบบโซลูชันเพิ่มมากขึ้น

โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าโดยผนวกบริการเสริมที่จะเติมเต็มความคุ้มค่าให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านของ NT ด้วยบริการต่างๆ เช่น บริการโทรศัพท์มือถือ my และ NT MOBILE ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ บริการอินเทอร์เน็ตทีวี (NT Net Play) ได้แก่ กล่อง C nema เป็นกล่องรับสัญญาณระบบแอนดรอยด์ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันพร้อมคอนเทนต์หลากหลายประเภท โดยสามารถเชื่อมต่อ Chromecast และ AirPlay ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ และกล่อง IPTV สามารถเลือกชมภาพยนตร์และซีรีส์จากประเทศเกาหลี จีน อินเดีย รายการท่องเที่ยวญี่ปุ่นจาก NHK World

ตลอดจนแคมเปญสิทธิพิเศษ (Privilege) โดย NT จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้า เช่น การสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกซื้อสินค้ารวมถึงส่วนลดต่างๆ ผ่านร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ สปา เกมออนไลน์

‘ตอนนี้โมบายกับบรอดแบนด์เป็นเนื้อเดียวกัน ซื้อบรอดแบนด์ NT ได้ซิมไปแล้ว ตอนนี้กำลังสร้างการตระหนักรู้และกระตุ้นให้ลูกค้าโมบายใช้บรอดแบนด์’

ความยากลำบากของธุรกิจบรอดแบนด์คือต้องใช้เงินลงทุนสูง การแข่งขันดุเดือดรุนแรง ลูกค้ามีการย้ายค่ายบ่อย หรือ churn rate สูง นำไปสู่แนวทาง NT อาจต้องแตกตัวบริษัทลูกหรือ spin-off ออกมาจากบริษัทแม่เพราะถ้าอยากอยู่ต่อให้ได้ต้องมีความคล่องตัวและต้องหาคนมาร่วมทุน

‘บรอดแบนด์ลงทุนเยอะ ทั้งลากสาย อุปกรณ์ที่ติดตั้ง กว่าจะคุ้มทุนที่ลงไปลูกค้าต้องอยู่อย่างน้อย 2 ปี หรืออย่างน้อย 16-17 เดือนที่ค่าบริการประมาณ 400-500 บาทต่อเดือน ถ้าลูกค้าอยู่ไม่ถึง 17 เดือนก็ไม่คุ้ม เพื่อรักษาลูกค้าต้องมีบริการเสริมมีอุปกรณ์เสริม มีอุปกรณ์ IoT มาให้’

การ spin-off บรอดแบนด์ในมุมของ ‘ผู้ช่วย กจญ.อภิชาติ’ ยังมองเห็นไม่ชัดเจนนักเพราะเชื่อว่าคนที่เข้ามาต้องมีประโยชน์ มันไม่ใช่เรื่องง่ายและถ้า spin-off จะเอาอะไรออกไป เอาทรัพยากรออกไป ค่าใช้จ่ายไม่เอา ต้นทุนที่เป็นภาระไม่เอาเพราะถ้าเอาไปด้วยจะไปรอดหรือไม่ ซึ่งเรื่องทรัพย์สินถ้าเอาออกไม่ได้ ก็สามารถเช่าได้แต่ต้องกดราคาให้ต่ำเพื่อให้บริษัทลูกอยู่รอดให้ได้

‘กรณี spin-off ต้องทำเพื่อให้เกิดความคล่องตัวแล้วขยายตลาดได้ ถ้าออกไปแล้วขยายตลาดไม่ได้ ทำผลตอบแทนมาจุนเจือบริษัทแม่ไม่ได้ ก็ไปไม่รอด และตอนนี้สถานการณ์ในตลาดโลกเปลี่ยนไปจากปัญหาการขาดแคลนชิปเซ็ต ส่งผลคนที่เคยสนใจจะมาร่วมทำธุรกิจก่อนโควิด เอาอุปกรณ์มาขาย เอาคอนเทนต์เข้ามา ก็ไม่มาแล้วหยุดหมด’

ผู้ช่วย กจญ.อภิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘พาร์ตเนอร์ควรจะมาเติมเต็มเรา ผมมองว่าก่อนดีลทรูดีแทค คนนั้นควรเป็นดีแทค เพราะดีแทคไม่มีบรอดแบนด์ แล้วทรัพยากรอย่างช่องทางจำหน่าย เขาได้เลย เหมือนเอไอเอสกับ 3BB เลย แต่ตอนนี้ยังมองไม่ออก ถามว่าจะมีโอเปอเรเตอร์รายอื่นจะมาร่วมกับ NT หรือไม่ ผมก็ไม่มั่นใจ บรอดแบนด์วันนี้ไปลงทุน ก็ไม่น่าทำ’

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณบวกภายในที่ทำให้เห็นว่าการควบรวม TOT กับ CAT เป็น NT ผ่านมา 2 ปี เริ่มค่อยๆ ประสานเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว อย่างการทำธุรกิจบรอดแบนด์ เพราะถึงแม้มี 2 ระบบแต่การขายก็แบ่งแยกกันได้ชัดเจนว่าอยู่ใกล้ใครพร้อมให้บริการมากกว่ากันก็ให้คนนั้นขาย ไม่ต้องไปแย่งกันขายลูกค้ารายเดียวกัน และใช้แพกเกจโปรโมชัน โครงสร้างราคาเดียวกัน

***โมบายยุบเหลือแบรนด์เดียว ‘my’

ไม่เพียงแค่บรอดแบนด์ แต่ธุรกิจโมบายก็กำลังหลอมรวมกัน โดยเริ่มด้วยการยุบจาก 2 แบรนด์คือ NT MOBILE (ของ TOT เดิม ความถี่ 2100,2300 MHz) กับ my (ของ CAT เดิมความถี่ 850,1800 MHz)ให้เหลือเพียงแบรนด์เดียวคือ my ซึ่งมีอายุนานกว่า และมีฐานลูกค้าประมาณ 2 ล้านราย ในขณะที่ NT MOBILE เพิ่งเปลี่ยนชื่อแบรนด์และมีฐานลูกค้าประมาณ 1.2 แสนราย

ด้านโมบายของ NT ฝากอนาคตไว้กับ 2 ความถี่คือ 26 GHz กับ 700 MHz ที่ประมูลได้มาจาก กสทช. ซึ่งความถี่ 26 GHz ถือว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าเพราะ ครม.ได้อนุมัติหลักการโครงการบริการ 5G สำหรับลูกค้าองค์กรของ NT กรอบวงเงิน จำนวน 4,964.30 ล้านบาท และรับทราบกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 1,741.3 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินตลอดโครงการระยะเวลา 14 ปี 6,705.6 ล้านบาท

โดยมีกลุ่มเป้าหมายองค์กรที่จะรับบริการตามโครงการนี้ภายในระยะเวลา 6 ปี ทั้งสิ้น 438 ราย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 11 ราย กลุ่มโรงพยาบาล 47 ราย กลุ่มสถาบันการศึกษา 30 ราย และโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น อีอีซี 350 ราย ให้บริการ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access:FWA) 2.ให้บริการเชื่อมต่อในพื้นที่จำกัด (Campus Network) เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่ง ท่าอากาศยาน และ 3.ให้บริการเพื่อสนับสนุนการบริการสาธารณะและการบริการภาครัฐ เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และดิจิทัลไทยแลนด์ จะเน้นบริการ 5G ลักษณะเฉพาะองค์กร (Private 5G Network) ที่การออกแบบตามความต้องการใช้งานต่างๆ

ดังนั้น NT จะมีการลงทุนงานที่เป็นลักษณะโครงการเป็นรายๆ (Project-based) เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจและลูกค้าที่แน่นอน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานประกอบด้วย การลงทุนพัฒนาระบบโครงข่ายหลักและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง การลงทุนพัฒนาสถานีฐาน 5G และให้บริการ Business solution

โครงการนี้มีระยะเวลา 14 ปี ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 6,705.6 ล้านบาท จากรายได้ของ NT แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) เช่น ค่าลงทุนระดับโครงข่ายหลัก (Core Network) สถานีฐาน 5G ต้นทุนอุปกรณ์ ค่าบริการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องวงเงิน 4,964.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงข่าย วงเงิน 1,741.3 ล้านบาท

ทั้งนี้ NT ประเมินแล้วโครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีผลตอบแทนทางการเงิน อยู่ที่ 28.71% มีระยะเวลาคืนทุน 6 ปี 6 เดือน ขณะที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 16% เกิดมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 263 ล้านบาท มากกว่าศูนย์ ซึ่งหมายความว่าโครงการสามารถสร้างรายได้เหนือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโดยเฉลี่ย

ส่วนความถี่ 700 MHz จะให้บริการในลักษณะแมส และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการจากสภาพัฒน์ ปัจจุบัน NT มีความถี่ให้บริการประกอบด้วยความถี่ 2100, 2300, 1800 และ 850 MHz

‘คุณลักษณะของ 2 โครงข่ายดีเด่นไม่เหมือนกัน ฝั่ง NT Mobile มี 4G 2 แพลตฟอร์ม ความถี่ 2100 กับ 2300 MHz ดาต้าจะดีมาก ตอนนี้ซิมดาต้าอันลิมิต 999 บาท 1 ปี ค่ายอื่น 1,500 บาท 1,300 บาท ซื้อในชอปปี้ได้ ฝั่ง my อาศัยดีลเลอร์ จะมีคนวิ่งขายเยอะ ฝั่ง NT Mobile มีช่องทางออนไลน์ ตอนนี้บวกกันแล้วเอาซิม my ไปขายในช่องทางออนไลน์ ดีลเลอร์เราขาย NT Mobile ตอนนี้เป็นแนวคิดเอาทั้ง 2 แพลตฟอร์ม NT Mobile กับ my รวมกันให้เหลือชื่อเดียว my เนื่องจากชื่อ my ทำตลาดมานานกว่า การรับรู้ my มีพอสมควร ผมไม่อยากทิ้งไป’


สำหรับภาพรวมโมบาย ในมุมของ ‘ผู้ช่วย กจญ.อภิชาติ’ คือการก้าวไปสู่บริการ Public Safety และ Public Communication เพื่อตอบสนองกับนโยบายของรัฐบาล และใช้ในการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนในทุกพื้นที่ภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติ และไม่ใช่แค่เพียงความถี่ 700 MHz เท่านั้น

‘หลังปี 2568 NT จะเหลือเพียงความถี่ 700 MHz กับ 26 GHz เราวางบทบาทการให้บริการ Public Safety ทำอย่างไรให้รัฐมีบริการพื้นฐานที่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ในทุกสภาวการณ์ ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติ เกิดพายุ ความถี่ 1800 MHz ที่จะหมดปี 2568 ผมว่าไม่น่าจะต้องแย่งกันแล้ว เพราะตอนนี้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายมีความถี่หลากหลายและจำนวนมากในมือ ขอให้จัดสรรให้เลยภายใต้หลักการนำไปทำเรื่อง Public Safety และ Public Communication ซึ่ง NT ไม่ได้ขอไปสร้างความได้เปรียบเพื่อไปแข่งกับเอกชนในเชิงพาณิชย์ โดยผมอาจขอ 850 MHz มาอีก 10 MHz (รวมกับ 700 MHz ที่ NT ดำเนินการเอง) กับ 1800 MHz 15 MHz ทำให้ภาวะวิกฤตทุกคนเข้าแอปได้ ออกอินเทอร์เน็ตได้ รับ sms ประกาศจากรัฐบาลได้’

อภิชาติ กล่าวต่อว่า ‘ขอแค่ 10% จากคนใช้มือถือ 80 ล้านคนขอแค่ 8 ล้าน คือไปที่ไหนก็ตามใน 10 คนอย่างน้อยต้องมี 1 คนที่ใช้ระบบของรัฐ อันนี้แนวคิดของผมที่เห็นว่าควรเป็นอย่างนั้น’

ทั้งนี้ ข้าราชการในพื้นที่ อสม.ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน คือ จุดที่จะสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนให้มาใช้มือถือ NT รัฐสนับสนุนแค่เดือนละ 150 บาทก็พอไปต่อได้ สามารถสร้างเครือข่ายในการดูแลประชาชนได้จริงไม่ใช่เกิดภัยพิบัติขึ้นมาไอ้นี่ล่ม ไอ้นั่นล่ม สื่อสารกันไม่ได้

‘ผมมองว่าเราไม่ได้แข่งกับรายใหญ่ในตลาดที่บี้กันเรื่องราคา แต่ทำแบบนี้ต้นทุนจะสูง เพราะเซลไซต์ต้องมีพลังงานที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า แสงแดด ใช้ทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันอยู่ได้ทุกสภาวะแล้วลิงก์เชื่อมโยง ไม่ใช่มีแค่ไฟเบอร์อย่างเดียว อาจต้องใช้ลิงก์ดาวเทียมเพื่อให้เซลไซต์สามารถสื่อสารกับผู้คนในพื้นที่ได้ ส่ง sms เตือนภัยได้ มั่นใจว่าเมื่อรัฐมีประกาศอะไรออกมาทุกคนจะได้รับ อันนี้เป็นแนวคิด หากจะให้ NT ทำต่อ เพียงแต่ผลตอบแทนมันอาจจะต่ำต้องใช้เวลาคืนทุนนาน’

หากความถี่ 700 MHz ถ้าผ่าน ครม.ไม่เกิน 3 เดือน สามารถขึ้นระบบได้เลยคือย้ายลูกค้าจาก 850 MHz มาขึ้นแล้วลูกค้าใหม่ก็เข้าตรง 700 MHz เลย แต่ในภาวะที่ยังรอ ครม.อนุมัติอยู่คงต้องโรมมิ่งเครือข่ายระหว่างกัน

‘ไอเดียผม ตอนนี้เบสต้องเป็น 850 MHz เพราะเป็น voice แล้วดาต้ากระเด้งไป 1800, 2100, 2300 MHz ตอนแรกไม่ได้ทำเพราะไม่อยากลงทุนเพิ่ม แต่ตอนนี้มี 700 MHz มารองรับมีอนาคตที่ต้องทำตลาดต่อ ถ้าไม่ทำตอนนี้จะไปยังไงต่อ’


อย่างไรก็ตาม เขากล่าวย้ำว่า ‘การควบรวมแจ้งเกิด NT เปลี่ยนวิสัยทัศน์ไประดับหนึ่งเลย มองว่า NT จะเป็นกลไกให้ภาครัฐ เป้าหมายคือรับงานไอซีทีภาครัฐ ส่วนทรัพยากรที่เหลือจะไปให้บริการทั่วไป แต่จะไม่ไปลงทุนแมส ขยายแข่งจะไม่ทำ เพราะทำไปไม่ได้รีเทิร์นแน่นอน’

สรุปได้ว่าแผน 700 MHz ภาพใหญ่คือเดินไปสู่การเป็น Public Safety แต่ระหว่างทางต้องทำตลาดหาลูกค้าให้มากที่สุด 26 GHz ต้องมาทำ fixed broadband เพื่อให้บริการในคอนโดฯ หรืออาคารสูง อย่างในกรุงเทพฯ ที่สัญญาณมือถือไปได้ไม่เกิน 10 ชั้น คอนโดฯ หลายที่ใช้การเดินสายทองแดงความเร็วเน็ตก็ไม่สูงมากแค่ 50 เม็กอยากใช้เร็วกว่านี้มีคนพร้อมจ่ายแต่ไม่มีของให้บริการ แต่ fixed broadband ตั้งเสาสาดสัญญาณขึ้นไปจบเลย

ผู้ช่วย กจญ.อภิชาติ กล่าวสรุปว่า ‘ปากก็บอกว่าให้ NT เป็นโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อทำอะไรตอบสนองภาครัฐ แต่นโยบายที่จะออกมาเพื่อเอื้อให้เราทำมันไม่มี บางครั้งรัฐต้องการให้ทำอย่างนี้ แต่ไม่มีงบสนับสนุน NT ก็ทำให้ต้องแบกต้นทุน เมื่อทำแล้วขาดทุนหน่วยงานควบคุม ชี้วัดก็บอก NT ขาดทุน’


กำลังโหลดความคิดเห็น