xs
xsm
sm
md
lg

AWS เปลี่ยนเกมคลาวด์ไทย (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใช้คำว่า “ตัวเปลี่ยนเกม” ได้เลยสำหรับอะเมซอนเว็บเซอร์วิสเซส (AWS) ที่พลิกโฉมการแข่งขันในตลาดคลาวด์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องหลายด้านตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่โดดเด่นที่สุดคือ การประกาศแผนทุ่มเงินลงทุน 1.9 แสนล้านบาท แบบยิงยาว 15 ปี ซึ่งแม้การตั้งศูนย์กลางระบบคลาวด์ระดับภูมิภาค หรือ AWS Region บนฐานพลังงานสะอาดในประเทศไทยจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเริ่ม “go live” แต่คน AWS มองเป็นความภูมิใจที่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดคลาวด์เจ้าอื่นให้มาลงทุนในไทยมากขึ้น นำไปสู่การขยายตัวหลายด้านในอนาคต

อีกเกมที่เปลี่ยนไปคือ ราคา AWS ไม่ได้เล่นสงครามราคาแบบเฉือนเนื้อตัวเอง แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ชิปสั่งทำ” หรือ custom chip ที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับระบบคลาวด์โดยตรง วันนี้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนการใช้ชิปของ AWS สูงมากเมื่อเทียบกับระดับโลก เนื่องจากองค์กรไทยเห็นประโยชน์จากการใช้งานเมื่อเทียบกับชิปจากค่ายใหญ่ในตลาดโดยเฉพาะค่าไฟที่ลดลงชัดเจนเพราะชิปใหม่

ไม่เพียงราคา AWS กำลังเปลี่ยนเกมขายคลาวด์ในไทยด้วยการเป็นพันธมิตรกับโลคัลเอสไอรายใหญ่อย่าง “เอสไอเอส” (SIS) ทำให้สามารถขยายผู้แทนจำหน่ายได้กว่า 200 รายเป็นครั้งแรกในเวลาไม่นาน เชื่อว่าตัวเลขนี้จะมีการเติบโตแบบพหุคูณ เพราะเพดานจำนวนดิสทริบิวเตอร์ในมือที่ SIS มีอยู่นั้นมากถึง 6-7 พันราย ซึ่งเป็นโอกาสที่ AWS มองว่าจะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้แบบทั่วถึง

ล่าสุด บริการใหม่ “เอดับลิวเอสโลคัลโซน” (AWS Local Zone) ได้เริ่มให้บริการที่กรุงเทพมหานครแล้ว จุดเด่นคือการลดความหน่วงในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปลายทางกับคลาวด์ให้เร็วขึ้นเหลือไม่เกิน 10 มิลลิวินาที ตอบโจทย์องค์กรกลุ่มเกมโซเชียลโทรคมนาคมผู้ให้บริการที่ต้องการรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ และองค์กรที่ต้องเก็บข้อมูลอ่อนไหวไว้ในพื้นที่ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ AWS ตอบความต้องการตลาดไทยได้ดีขึ้นบนราคาที่ไม่จำเป็นต้องแพงกว่าเสมอไป

***Local Zone มาก่อน AWS Region

พอล เฉิน ประธานฝ่ายสถาปัตยกรรมโซลูชัน AWS ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้ำว่าการเปิดบริการ Local Zone ที่กรุงเทพมหานครจะแยกส่วนชัดเจนกับ AWS Region โดยแม้การทำงานของ Local Zone ที่กรุงเทพมหานครนี้จะเชื่อมโยงกับ Region แต่ Local Zone จะเน้นให้บริการที่มอบความเร็วของการรับและส่งกลับของข้อมูลจากต้นทางไปยังปลายทาง (latency)ในหลักหน่วยของมิลลิวินาที (single-digit millisecond) โดยให้ข้อมูลว่า AWS มีฐานลูกค้าใช้บริการ Local Zone ที่กรุงเทพฯ แล้วขณะเดียวกันหลายองค์กรมีความสนใจที่จะเปลี่ยนจาก Local Zone ที่สิงคโปร์มายังกรุงเทพฯ เบื้องต้นมองว่าระดับราคาค่าบริการ Local Zone กรุงเทพฯ ที่ความหน่วงต่ำเป็นพิเศษนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าถูกหรือแพงกว่า Local Zone ที่สิงคโปร์เนื่องจากจะเป็นไปตามบริการและปริมาณการใช้งาน (economy of scale)

“Local Zone จะแยกจาก Region ลูกค้าจะเลือกว่าจะเชื่อมต่อกับ Region ไหนก็ได้ ราคาค่าบริการที่ต่างกันของ Local Zone และ Region จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งท่อเชื่อมต่อข้อมูล และการทำแบบไฮบริดกับหลาย Region”

Region ที่พอลพูดถึงนั้นหมายถึงตำแหน่งที่ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ที่ AWS กำหนดขึ้นมาแบบกระจาย 35 จุดทั่วโลก ปัจจุบัน AWS Region ที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดคือสิงคโปร์ แต่ล่าสุด AWS ประกาศลงทุนตั้ง Region ในประเทศไทยด้วยงบ 1.9 แสนล้านบาท ที่จะทยอยใช้ในเวลา 15 ปี

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการ AWS ประจำประเทศไทย ยอมรับว่า ไม่เคยคิดว่าจะมีบริษัทไอทีจะมาลงทุนในประเทศไทยโดยตรง สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับหลายประเทศได้สำเร็จคือการมองเห็นศักยภาพทำให้ AWS เดินหน้าลงทุนทั้งด้านอุปกรณ์ พื้นที่ และกำลังคน

“การลงทุนครั้งนี้ข้อดีคือจะเป็นแม่เหล็กดึงคลาวด์อื่นที่จะพร้อมใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น ความท้าทายของประเทศไทยคือต้องเตรียมคนที่มีทักษะเพียงพอ ถ้าไม่พอเราจะเร่งสปีดให้เกิดการลงทุนที่ไม่เร็วพอ”

การพัฒนาคนไม่ได้เป็นโจทย์หลักของประเทศไทยเท่านั้น ในวันที่การลงทุนเกิดขึ้นฝั่ง AWS เองประกาศแผนสร้างทักษะไอทีให้ได้ 29 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2025 ถึงวันนี้บริษัทระบุว่า มีการอบรมไปแล้ว 13 ล้านคนทั่วโลก มีการอัปสกิลหรือเพิ่มทักษะให้คนที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว และการรีสกิลผู้ที่อยู่ต่างสายงาน รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่จะได้เรียนหลักสูตรของ AWS เบ็ดเสร็จแล้วกว่า 7 แสนคนทั่วอาเซียน

การลงทุนคลาวด์ Region ของ AWS ในไทยจะไม่ได้รับผลจากภาวะค่าไฟฟ้าแสนแพงของประเทศไทยเพราะ AWS วางหมากให้ศูนย์คลาวด์ภูมิภาคแห่งใหม่ใช้พลังงานสะอาดแบบ 100% ตามนโยบายที่ตั้งไว้สำหรับพ.ศ.2568 และใน พ.ศ.2583 จะเป็น zero emission ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเลย

“รอยต่อการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาดในช่วงปัจจุบันถึงปี 2568 จะไม่มีเพราะคลาวด์ Region ยังไม่ go live เมื่อไรยังประกาศไม่ได้แต่จะทันกำหนดการแน่นอน” วัตสันระบุ “ตอนนี้เราเริ่มทำแล้วเราระวังการให้ข้อมูลมากทำระดับหนึ่งแล้วแต่ยังบอกไม่ได้เพราะตัวแปรเยอะ ทั้งการอนุมัติจากภาครัฐ และการเตรียมพร้อมพลังงานสะอาด”

การลงทุนนี้จะเป็นผลดีกับทุกงานออนไลน์ที่ต้องการการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง (ความหน่วงต่ำ) เช่น การใช้งานระบบเสมือนจริง AR/VR และแอนิเมชันที่ต้องการระบบความหน่วงต่ำมาก ภาวะที่อีกหลายบริการจะมีศักยภาพมากขึ้นทำให้องค์กรไทยเปิดรับเทคโนโลยีคลาวด์ โดยการสำรวจล่าสุดจากการ์ทเนอร์เชื่อว่าตลาดคลาวด์ไทย (คลาวด์สาธารณะ) จะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ 20% เพราะการเห็นประโยชน์และเริ่มนำคลาวด์มาใช้มากขึ้นขององค์กรไทย โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1.สถาบันการเงิน 2.ธุรกิจค้าปลีก และ 3.ภาคการผลิตที่ AWS ไทยจะโฟกัสเต็มที่ในปีนี้

“เทรนด์เศรษฐกิจปีนี้เหนื่อย เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายเซกเตอร์ ความไม่แน่นอนจะมีผลต่อเศรษฐกิจพอสมควร การเติบโต GDP เป็นตัวเลข 1 หน่วยต่ำๆ แม้มหภาคจะผันผวน แต่องค์กรจะต้องนำเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมาใช้ ทั้งสถาบันการเงิน และธุรกิจค้าปลีกที่นำคลาวด์มาใช้ลดค่าใช้จ่าย สร้างนวัตกรรมใหม่เพราะการแข่งขันที่ต่างจากเดิม การใช้วิธีทำงานแบบเดิมอาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และยังช่วยให้องค์กรเปิดตลาดคลาวด์จะเป็นสปริงบอร์ดที่พาไประดับโลกได้ คลาวด์จะเป็นเครื่องมือเพื่อการเติบโตและอยู่รอดในปีนี้” วัตสันระบุ

***ทุกอย่างเป็นเพราะข้อมูล

วัตสันมองว่าภาวะที่เกิดขึ้นนี้มีต้นเหตุมาจากข้อมูลซึ่งจะเป็นตัวดึงดูดทุกอย่างเข้ามารวมกัน มีการคาดการณ์ว่าปริมาณข้อมูลที่จะเกิดขึ้นบนโลกใน 5 ปีข้างหน้าจะเทียบได้กับ 2 เท่าของจำนวนข้อมูลที่โลกเริ่มรู้จักคอมพิวเตอร์ นี่เป็นเหตุผลที่แสดงว่าทำไม AWS จึงจับเรื่องดาต้าและเน้นสร้างธุรกิจที่ช่วยทำให้การดูแลและการเตรียมข้อมูลทำได้ดีขึ้น

หนึ่งในสิ่งที่ AWS มุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูแลจัดการข้อมูลคือการพัฒนา “ชิปสั่งทำ” เพื่อเป็นทางเลือกท่ามกลางชิปจากอินเทล หรือเอ็นวิเดีย เรื่องนี้ AWS แจงว่าการใช้ชิปในท้องตลาดนั้นตอบโจทย์การใช้งานคลาวด์ได้ไม่เต็มที่ทั้งการจัดการความร้อน และการประมวลผล ทำให้ไม่สามารถลดราคาลงได้

"การลงทุนทำชิปของ AWS ทำให้ลดราคาต้นทุนการใช้งานลงได้ 20-30% ยิ่งกินไฟน้อยลงก็ยิ่งส่งประโยชน์ให้ลูกค้าลดราคาบริการคลาวด์ลงได้อีก" วัตสันกล่าว

วันนี้ AWS มองว่าชิป custom silicon ถูกใช้งานแพร่หลายจนกลายเป็น “เมนสตรีม” แล้วเรียบร้อย โดยเฉพาะลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรมของ AWS ในไทย ทั้งธนาคาร บริษัทประกัน บริษัทผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มลูกค้าขนาดกลางและเล็ก กลุ่ม ISV ผู้พัฒนาระบบเพื่อนำไปให้บริการลูกค้ารายย่อยอีกทอด เช่น กลุ่มผู้ให้บริการเกตเวย์ บริการเอนเตอร์ไพรส์โซเชียล และอีกหลายแอปพลิเคชันที่นำไปจำหน่ายให้องค์กรอื่น รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัปไทยที่มีทั้งเติบโตและล้มหายตายไป

“เราวางแผนขยายการใช้คลาวด์ของลูกค้าขยับจากระดับการรู้จักมาเป็นการเพิ่มการใช้งาน จะใช้วิธีเพิ่มการจัดจำหน่ายเพิ่มพาร์ตเนอร์จากเดิมที่ใช้กลุ่มผู้วางระบบระดับโลก (Global SI) เช่น แอ็กเซนเจอร์ มาเป็นบริษัทระดับท้องถิ่น (Local SI) มากขึ้น จะมีหน่วยงานดูแลพาร์ตเนอร์โดยตรง เพิ่มทักษะจัดการงานให้พาร์ตเนอร์ไทยมากขึ้น” วัตสันกล่าว

กลยุทธ์พาร์ตเนอร์ AWS ที่เคยเน้นตลาดบนและกลางจะมีการเปลี่ยนแปลงเพราะการแต่งตั้ง SIS ให้เป็นโลคัลดิสทริบิวเตอร์รายแรก จุดนี้จะเป็นอีกตัวเปลี่ยนที่ทำให้ AWS ขยายการเข้าถึงคลาวด์เซอร์วิสในตลาดไทยได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น