xs
xsm
sm
md
lg

‘ชัยวุฒิ’ โชว์ฝีมือ ‘ขุนศึกดิจิทัลดีอีเอส’ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ได้เก่งแค่ปราบเฟกนิวส์ ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ ขุนศึกดิจิทัล กำลังโชว์ให้เห็นประโยชน์ของกระทรวงดีอีเอสครบทุกมิติ ทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นอนาคตของประเทศผ่านดิจิทัล ไอดี และบัญชีบริการดิจิทัล การดูแลประชาชนป้องกันภัยไซเบอร์ทั้งก่อนและหลัง การจัดการแพลตฟอร์มต่างประเทศ OTT ที่ต้องดูแลแบบเข้มข้น การใช้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง และเป้าหมายเชื่อมโยงไปให้ถึงโรงพยาบาลเอกชนในอนาคต ให้ประชาชนเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ที่แซะไปถึงการเมืองว่าดีอีเอสทำให้แล้ว ไม่ต้องไปเขียนเป็นนโยบายพรรคเพื่อหาเสียงให้เสียเวลา

ในปี 2566 ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีเป้าหมายวางรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจกิจดิจิทัล และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยเทคโนโลยีในทุกภาคส่วน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นภารกิจหลักในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยเทคโนโลยี

***ควบคุมแพลตฟอร์ม OTT

รมว.ดีอีเอส กล่าวถึงแผนการทำงานในปี 2566 ว่าได้เร่งผลักดันเรื่องพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่จะต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้กฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งจะตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2566

โดยกำหนดเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยต้องจดทะเบียน โดยมีมาตรการในการดูแลผู้ใช้งาน รายละเอียดเงื่อนไขในการใช้งาน ผลประกอบการของบริษัทที่จดแจ้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้งาน สามารถคุ้มครองผู้ใช้งานในประเทศไทยและกำกับดูแลแพลตฟอร์มได้ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ แพลตฟอร์มการให้บริการรับส่งอาหาร เช่น Grab, Line Taxi เป็นต้น ทั้งนี้ จะเร่งออกกฎหมายรองเพื่อบังคับใช้และกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลอีกทางหนึ่ง โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (ETDA) เป็นผู้กำกับดูแล

‘กฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมกับแพลตฟอร์มที่ยังไม่มีการกำกับดูแลโดยกฎหมายอย่างชัดเจนให้เข้ามาจดแจ้ง เริ่มจากเฟซบุ๊ก ไลน์ ติ๊กต็อก แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มพวกแชร์ริ่ง อีโคโนมี และต่อไปจะออกกฎหมายรองเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในเรื่องของการหลอกลวงฉ้อโกงผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้’

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ที่มักมีการผูกบัญชีม้ากับเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดเพื่อผู้เสียหายสามารถยับยั้งการใช้บัญชีและสามารถปิดเบอร์ตัดเลขหมายได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยจะนำเรื่อง พ.ร.ก.การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือนมกราคมนี้ โดยใจความสำคัญของ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะเพิ่มอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการตัดสัญญาณซิมโทรศัพท์มือถือ เพื่อตัดวงจรของบัญชีม้า และเพิ่มอำนาจให้ธนาคารสามารถสกัดกั้นเส้นทางการโอนเงินที่ผิดปกติได้ภายใน 2 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องมีการสืบทราบ และหลังจากนั้นผู้ได้รับความเสียหายจะต้องแจ้งความทางออนไลน์ภายใน 48 ชั่วโมง

‘เนื่องจากมีความพยายามในการแก้กฎหมายนี้มา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะมีความเชื่อมโยงในกฎหมายการฟอกเงิน และอยู่ในอำนาจของสำนักงาน ปปง. ขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขแต่เพราะมีหลายเรื่องจึงอาจจะล่าช้าไปบ้าง จึงเลือกนำเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อย่างเรื่องของบัญชีม้า และการตัดสัญญาณซิม สาย เสา เหล่านี้แยกออกมาทำเฉพาะเรื่องเป็น พ.ร.ก.ก่อนเพื่อบังคับใช้ เพราะถ้าแก้กฎหมายทั้งหมดอาจจะเกิดความยุ่งยากและเห็นต่างกันในบางเรื่อง’

***คลาวด์ภาครัฐยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

สำหรับโครงการระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ จำนวน 219 กรม 874 หน่วยงาน 3,065 ระบบงาน มีการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 2,500 คน ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้ถึง 30-60% และรัฐบาลมีแผนที่จะทรานส์ฟอร์มทุกหน่วยงานของรัฐ เป็นรัฐบาลดิจิทัล 100% ในปี 2566 นี้

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
‘ชัยวุฒิ’ กล่าวว่า ยังได้ผลักดันเรื่องคลาวด์กลางภาครัฐขยายบริการด้านสาธารณสุข และเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลของประชาชนผ่านระบบ Health Link หรือระบบเชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาทั่วประเทศอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัยและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจุบันมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 150 แห่ง และคาดว่าจะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาลภาครัฐทั้งหมดประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ และในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงโรงพยาบาลเอกชนด้วย

‘ระบบ Health Link ปีที่ผ่านมาเชื่อมโยงไปแล้ว 150 โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ปีนี้จะเชื่อมโยงโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด 1,000 แห่งทั่วประเทศ ดีอีเอสทำให้แล้ว ไม่ต้องไปเขียนเป็นนโยบายพรรคหาเสียงแล้ว’

ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ได้ผลักดันการทำบัญชีบริการดิจิทัลเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกประกาศต่อไป โดยบัญชีบริการดิจิทัลจะช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัป และผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง สิทธิประโยชน์เรื่องภาษี รวมทั้งการทำงานร่วมกันของทางภาครัฐ ลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเนื่องจากมีราคากลางที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

‘สตาร์ทอัปที่อยากทำธุรกิจกับภาครัฐก็มาจดแจ้ง ในบัญชีกลางจะมีเรื่องสเปกบริการ ราคากลางที่เป็นมาตรฐานชัดเจน เพื่อลดปัญหาการทุจริต’

นอกจากนี้ ยังมีระบบ Digital ID หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่ผลักดันโดย ETDA ร่วมกับอีก 7 หน่วยงานในการจัดทำ Digital Framework Phase 1 บูรณาการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 1/2566 เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ทางกระทรวงดีอีเอสพยายามผลักดันให้ทุกหน่วยงานนำระบบดังกล่าวมาใช้เนื่องจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ทำให้ทุกหน่วยงานจะต้องเปิดช่องทางในการให้บริการทางออนไลน์ให้ประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเริ่มใช้งานของกระทรวงมหาดไทยผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA โดยมีกระทรวงดีอีเอสเป็นผู้ดูแลในเชิงเทคนิค และให้คำปรึกษา

‘Digital ID หรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับกรมการปกครองเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลชื่อ นามสกุล ใบหน้า เพราะการทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งหมดต้องใช้ Digital ID หากระบบนี้ใช้กันแพร่หลายเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่นอน’

รวมทั้งยังได้ผลักดันการทำ Digital POST ID ซึ่งเป็นระบบของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) โดยเปลี่ยนจากการจ่าหน้าซองรูปแบบเดิมที่ต้องเขียนชื่อที่อยู่ เป็นการใช้คิวอาร์โค้ดเพื่อระบุพิกัดในการจัดส่งของประชาชน ซึ่งช่วยยกระดับด้านการขนส่งโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ เกิดความเชื่อมั่น สร้างความปลอดภัยทางด้านข้อมูล เกิดความสะดวกสบาย ซึ่งต่อไปจะเป็นรากฐานสำคัญด้านโลจิสติกส์และขยายไปยังธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คาดว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ภายในไตรมาสที่ 2/2566 และภายในปี 2567 ประชาชนจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเองได้ทั่วประเทศ


สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนนั้น ทางกระทรวงดีอีเอสจะนำระบบ Traffy Fondue ซึ่งเป็นระบบที่เนคเทค (NECTEC) เป็นผู้พัฒนาระบบมาขยายผลให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศนำระบบดังกล่าวมาใช้ เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้นำร่องใช้งานก่อนแล้วและเห็นผลสำเร็จ หลังจากนี้ ทางกระทรวงดีอีเอสจะมีการเข้าพูดคุยหารือร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย เพื่อผลักดันให้นำระบบดังกล่าวไปใช้งานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป พร้อมกับขยายการให้บริการสัญญาณฟรี Wifi ในพื้นที่ชุมชน รวมทั้งจะเร่งผลักดันให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน USO โดยได้มีการเข้าหารือกับ กสทช.เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

ส่วนเรื่องการนำสายสื่อสารลงดินหรือจัดระเบียบสายสื่อสารนั้น รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า ทาง กสทช.มีแผนงานที่ได้ดำเนินการมาตลอด คือการจัดระเบียบสายสื่อสารซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนเรื่องการนำสายสื่อสารลงดิน หรือท่อร้อยสายใต้ดิน มีงบประมาณและมีระบบแล้ว คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ในปี 2566 ซึ่งในปี 2565 เป็นเรื่องของการวางแผน ส่วนในปี 2566 จะเป็นการเริ่มทำในทุกพื้นที่ของทุกจังหวัด

‘การนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินไม่สามารถทำพร้อมกันได้ทั่วประเทศ โดยต้องเลือกพื้นที่ที่มีความจำเป็นเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมืองรองรับด้านการท่องเที่ยว หรือจุดที่มีความหนาแน่นของสายสื่อสารก่อน เนื่องจากการทำท่อร้อยสายใต้ดินมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากทั้งจากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องจ่ายค่าเช่าใช้ จึงต้องดำเนินการในจุดที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน เพื่อให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตไม่กระทบต่อประชาชนมากเกินไป’


กำลังโหลดความคิดเห็น