xs
xsm
sm
md
lg

dtac Safe Internet เดินหน้าให้ความรู้นักเรียนในสังกัด กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



dtac Safe Internet เริ่มโครงการอบรมให้ความรู้นักเรียนในสังกัด กทม. หลังข้อมูลชี้เด็กไทยเสี่ยงตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ (Online Child Exploitation) สูงถึง 20% สัดส่วนผู้กระทำผิดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ผ่านความร่วมมือกรุงเทพมหานคร-กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ตำรวจไซเบอร์

พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) กล่าวว่า ถ้าดูจากสถิติที่ได้รับรายงานจาก NCMEC พบว่าตั้งแต่ปี 2562 ประเทศไทยได้รับรายงานการตรวจพบสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในปี 2562 พบ 117,213 รายงาน ในปี 2563 พบ 396,049 รายงาน ในปี 2564 พบ 586,582 รายงาน และในปี 2565 พบ 523,169 รายงาน ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน พบว่า เว็บมืดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการหาแสวงผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในไทยยังมีการเติบโตสูงถึง 5 เท่า

“จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า คนร้าย 1 คน สามารถสร้างความเสียหายต่อเหยื่อที่เป็นเด็กได้ถึง 1,000 คน เด็กถึง 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ และเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว พบว่า 56% ของเด็กเลือกที่จะไม่บอกใคร ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและไม่เท่าเทียมทางรายได้ยังส่งผลให้เด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผลิตและเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอทางเพศด้วยตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงิน หรือสิ่งของต่างๆ”


นอกจากนี้ ยังพบว่าการสื่อสารออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายและรวดเร็ว ใช้ประโยชน์จากความเปราะบางของเด็กเพื่อหลอกลวง บีบบังคับ ชักชวน และแสวงหาประโยชน์จากพวกเขา กลไกการคุกคามของอาชญากรถือเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ทำลายซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรี และความมั่นคงของมนุษย์

ทั้งนี้ ตามกฎหมายไทย ความผิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ตำรวจไม่สามารถแจ้งความผิดต่ออาชญากรได้ในขั้นตอนแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่องพฤติกรรมตัวตนและความชอบของเหยื่อ (Cyber Stalking) การสร้างความเป็นมิตร เข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจเพื่อล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง (Child Grooming) รวมถึงบทสนทนาว่าด้วยเรื่องเพศ (Sexting)

ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลให้เด็กด้วยองค์ความรู้ รู้จักระแวดระวังและแนวทางการรับมือกับปัญหาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ก่อนที่จะเกิดเหตุบานปลายขึ้น ซึ่งอาชญากรไซเบอร์นั้นจะเก็บภาพเหยื่อไว้บนออนไลน์ (Digital footprint) ซึ่งยากต่อการลบให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง


นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ภายใต้โครงการดีแทค Safe Internet ที่มุ่งให้ความรู้แก่เด็กและครูเกี่ยวกับการความปลอดภัยและการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบ

โดยได้ร่วมมือกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหาครตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 จัดทำหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้ในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ที่มีมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยให้ความร่วมมือและริเริ่มในการหยุดยั้งภัยดังกล่าว รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคมและการมีส่วนร่วมของพลเมืองอินเทอร์เน็ตผ่านแคมเปญการสื่อสาร และจะขยายผลการอบรมให้ครอบคลุมนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมปีที่ 5-6 ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

“การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการรับมือกับปัญหานี้เท่านั้น เพราะการจบปัญหานี้ยังคงต้องการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ช่วยกันสร้างความตระหนักในสังคม และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นระบบและตัดตอนได้อย่างทันท่วงที”


กำลังโหลดความคิดเห็น