การ์ทเนอร์เปิดรายการเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญในปี 2566 ยก "ความยั่งยืน" (Sustainability) เป็น 1 ใน 10 เทคโนโลยีมาแรงที่ธุรกิจต้องจับตาและศึกษา เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน 12 เดือนนับจากนี้
ฟราสซิส คารามูซิส รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่าเพื่อยกระดับสถานะทางการเงินในช่วงเศรษฐกิจผันผวนขององค์กร ผู้บริหารและผู้นำด้านไอทีทั้งหลายต้องมองการณ์ไกลกว่าแค่การประหยัดต้นทุนไปสู่รูปแบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชันอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่มาแรงในปี 2566 จะพัฒนาขึ้นมาจากสามธีมหลัก ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimize) การปรับขยาย (Scale) และการเป็นผู้ริเริ่ม (Pioneer) ที่เทคโนโลยีสามารถช่วยองค์กรธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพความยืดหยุ่นในการดำเนินงานหรือสร้างความเชื่อมั่น
"เทคโนโลยียังปรับขยายโซลูชันและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะ และริเริ่มรูปแบบการมีส่วนร่วม การตอบสนองใหม่ ๆ ที่รวดเร็ว หรือสร้างโอกาสให้ธุรกิจได้”
อย่างไรก็ตามในปี 2566 การส่งมอบเทคโนโลยีอย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกต่อไป เดวิด กรูมบริดจ์ นักวิจัยอาวุโสของการ์ทเนอร์ กล่าวว่าเนื่องด้วยธีมเหล่านี้ต่างได้รับผลกระทบจากความคาดหวังและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (หรือ ESG) ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการใช้เทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ในทุกการลงทุนทางเทคโนโลยีจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องคำนึงถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต
"คาดว่า “Sustainable by Default" หรือความยั่งยืนเป็นพื้นฐานจะเป็นเป้าหมายในการนำเทคโนโลยียั่งยืนมาใช้”
เทรนด์แรกของ 10 แนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่มาแรงในปี 2566 คือความยั่งยืน (Sustainability) เพราะความยั่งยืนครอบคลุมเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ทั้งหมดในปี 2566 จากการสำรวจของการ์ทเนอร์ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารไอทีมองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในขณะนี้มีความสำคัญสูงสุดติดสามอันดับแรกสำหรับนักลงทุน รองจากเรื่องของผลกำไรและรายได้ นั่นหมายความว่าผู้บริหารต้องลงทุนมากขึ้นกับนวัตกรรมโซลูชันที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับตอบโจทย์ความต้องการด้าน ESG และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ซึ่งองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานด้านเทคโนโลยีที่ยั่งยืนใหม่ ที่เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและวัสดุอุปกรณ์ของบริการไอที ที่จะช่วยทำให้องค์กรมีความยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ
ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการตรวจสอบแบบย้อนกลับ การวิเคราะห์ พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีเอไอ และปรับใช้โซลูชันไอทีเพื่อช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่วางแผนไว้
ความยั่งยืนจะเป็นฐานของอีก 9 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงในปี 2566 โดย 9 เทคโนโลยีถูกแบ่งออกเป็น 3 ธีม ธีมละ 3 เทคโนโลยี ซึ่งธีมที่ 1 คือการบุกเบิกหรือริเริ่ม (Pioneer) เทคโนโลยีที่จะมาแรงในธีมนี้คือเมตาเวิร์ส (Metaverse), ซูเปอร์แอป (Superapps) และ AI ที่ปรับเปลี่ยนได้ (Adaptive AI)
***เมตาเวิร์ส-ซูเปอร์แอป-Adaptive AI
การ์ทเนอร์นิยามว่า Metaverse เป็นพื้นที่จำลอง 3 มิติเสมือนจริง ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาใช้งานร่วมกัน สร้างขึ้นจากการผสานรวมโลกความเป็นจริงทางกายภาพและดิจิทัลไว้ด้วยกัน ซึ่ง Metaverse จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมอบประสบการณ์ที่สมจริงยิ่งขึ้น การ์ทเนอร์คาดว่า Metaverse ที่สมบูรณ์ไม่ได้ขึ้นกับอุปกรณ์และจะไม่มีใครเป็นผู้จำหน่ายหรือเจ้าของแต่ผู้เดียว แต่จะมีระบบเศรษฐกิจเสมือนของตัวเอง โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลและโทเค็นที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (NFTs)
ภายในปี 2570 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่ามากกว่า 40% ขององค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกจะใช้เทคโนโลยีผสมผสานกัน เช่น Web3, AR Cloud และ Digital Twins ในโครงการใด ๆ บน Metaverse โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้
สำหรับซูเปอร์แอป นั้นจะเป็นแอปที่รวมคุณสมบัติของแอป แพลตฟอร์ม และระบบนิเวศไว้ในแอปพลิเคชันเดียว นอกจากมีฟังก์ชันต่าง ๆ ครบครันในแอปแล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้กับบุคคลอื่นได้สร้างสรรค์พัฒนาและเปิดตัวมินิแอป ภายในปี 2570 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในแต่ละวันประชากรโลกมากกว่า 50% จะใช้ซูเปอร์แอปหลายตัว
“แม้ตัวอย่างส่วนใหญ่ของ Superapps จะเป็นแอปในมือถือ แต่แนวคิดนี้ยังสามารถนำไปใช้กับแอปพลิเคชันของลูกค้าบนเดสก์ท็อป อาทิ Microsoft Teams และ Slack ด้วยปัจจัยสำคัญก็คือ Superapp สามารถรวมและแทนที่แอปหลากหลายเพื่อให้ลูกค้าหรือพนักงานได้ใช้งาน” คารามูซิส กล่าว
ในส่วน AI ที่ปรับเปลี่ยนได้หรือ Adaptive AI หมายถึงระบบ AI ที่ปรับเปลี่ยนได้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโมเดลขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องและเรียนรู้ภายในช่วงเวลาการทำหรือใช้งานและอยู่ในสภาพแวดล้อมของการพัฒนา โดยอาศัยฐานข้อมูลใหม่เพื่อปรับระบบให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามสถานการณ์จริงที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้หรือที่ไม่ได้เตรียมไว้ในระหว่างการพัฒนาครั้งแรก ซึ่งตอบโจทย์การให้ฟีดแบคแบบเรียลไทม์ สามารถปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ได้แบบไดนามิกและตรงตามเป้าหมาย ทำให้เหมาะสมสำหรับการดำเนินงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมภายนอกหรือการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
***ธีมที่ 2 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimize)
1 ใน 3 เทคโนโลยีมาแรงในธีมนี้คือระบบภูมิคุ้มกันดิจิทัล (Digital Immune System) การ์ทเนอร์ชี้ว่า 76% ของทีมที่รับผิดชอบผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในเวลานี้มีหน้าที่สร้างรายได้ให้ธุรกิจด้วยเช่นกัน ผู้บริหารไอทีกำลังมองหาแนวทางปฏิบัติและวิธีการใหม่ ๆ ที่สามารถให้ทีมงานนำมาปรับใช้เพื่อส่งมอบคุณค่าทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นได้ พร้อมลดความเสี่ยงและเพิ่มความพึงพอใจแก่ลูกค้า โดยมีระบบภูมิคุ้มกันดิจิทัลอยู่ในแผนงานดังกล่าว
ภูมิคุ้มกันดิจิทัลรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน การทดสอบอัตโนมัติและการทดสอบในสภาวะสุดขั้ว การแก้ปัญหาอัตโนมัติ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ภายในการดำเนินงานด้านไอที และการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทานของแอปพลิเคชัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความเสถียรให้แก่ระบบ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 องค์กรที่ลงทุนในการสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลจะลดการหยุดทำงานของระบบได้มากถึง 80% และนั่นคือการแปลงเป็นรายได้กลับมาสู่องค์กรได้สูงขึ้น
อีก 2 เทคโนโลยีคือการสังเกตประยุกต์ (Applied Observability) และ AI Trust การจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัย (AI Trust, Risk and Security Management)
ข้อมูลการสังเกตหรือ Observable Data สามารถสะท้อนถึงกระบวนการดิจิทัล เช่น บันทึก การติดตาม การเรียก API เวลาที่ใช้ไป การดาวน์โหลดและการถ่ายโอนไฟล์ ที่จะปรากฏขึ้นเมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดำเนินการใด ๆ ความสามารถในการสังเกตประยุกต์ใช้ดึงข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ที่สังเกตได้เหล่านี้กลับมาในแนวทางที่มีการประสานและบูรณาการอย่างสูงเพื่อเร่งการตัดสินใจขององค์กรธุรกิจ
คารามูซิส กล่าวว่าการสังเกตประยุกต์ช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ของตนเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งมีประสิทธิภาพมาก เพราะช่วยยกระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของข้อมูลที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม สำหรับดำเนินการอย่างรวดเร็วตามการกระทำของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับการยืนยันมากกว่าความตั้งใจ เมื่อวางแผนอย่างมีกลยุทธ์และดำเนินการได้สำเร็จ ความสามารถในการสังเกตที่นำไปใช้จะเป็นแหล่งข้อมูลที่ทรงพลังที่สุดในการตัดสินใจสำหรับขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล
ขณะที่ AI Trust หรือการจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัย (AI Trust, Risk and Security Management) เชื่อว่าจะเป็นเทรนด์มาแรงเพราะหลายองค์กรยังเตรียมการได้ไม่ดีพอในการจัดการความเสี่ยงด้าน AI จากการสำรวจของการ์ทเนอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี พบว่า 41% ขององค์กรต่างประสบปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือมีเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยที่เกิดจาก AI
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเดียวกันนี้ยังพบว่าองค์กรที่จัดการความเสี่ยง ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัย AI อย่างจริงจังนั้น ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกับโครงการ AI โดยส่วนใหญ่เปลี่ยนสถานะจากไอเดียที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว (Proof of Concept) ไปสู่การผลิตและสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากกว่าโครงการ AI ในองค์กรที่ไม่ได้จัดการฟังก์ชันเหล่านี้อย่างจริงจัง
การ์ทเนอร์เชื่อว่าองค์กรจึงต้องนำความสามารถใหม่มาใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าแบบจำลองมีความเสถียร เชื่อถือได้ มีความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูล โดย AI Trust การจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัย (หรือ TRiSM) กำหนดให้ผู้เข้าร่วมจากหลายแผนกในองค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อนำมาตรการใหม่นี้มาปรับใช้
***ธีมที่ 3 การปรับขยาย (Scale)
เทคโนโลยีมาแรงในธีมนี้ได้แก่ แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับภาคอุตสาหกรรม (Industry Cloud Platforms), แพลตฟอร์มวิศวกรรม (Platform Engineering) และการรับรู้ถึงคุณค่าของระบบไร้สาย (Wireless Value Realization)
ในส่วนแพลตฟอร์มคลาวด์ การ์ทเนอร์อธิบายว่าแพลตฟอร์มคลาวด์ของภาคอุตสาหกรรมนำเสนอบริการ SaaS แพลตฟอร์มเป็นบริการ (หรือ PaaS) และโครงสร้างพื้นฐานเป็นบริการ (IaaS) อย่างผสมผสาน ด้วยชุดการทำงานแบบแยกส่วนเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการใช้งานของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ความสามารถที่บรรจุไว้ของแพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจดิจิทัลที่ไม่เหมือนใครและแตกต่างได้ พร้อมยังมีความคล่องตัว มีนวัตกรรมล้ำสมัย และลดระยะเวลาการนำออกสู่ตลาด โดยไม่ต้องล็อคอินเพื่อเปิดใช้งานภายในปี 2570 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าองค์กรมากกว่า 50% จะใช้แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเร่งการดำเนินโครงการใหม่ ๆ ของธุรกิจ
ขณะที่แพลตฟอร์มวิศวกรรม จะเป็นแนวทางการสร้างและปฏิบัติงานบนแพลตฟอร์มภายในของนักพัฒนาแบบทำได้ด้วยตนเอง เพื่อการส่งมอบซอฟต์แวร์และจัดการกระบวนการพัฒนาได้อย่างครบวงจร โดยเป้าหมายของแพลตฟอร์มวิศวกรรม คือ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านประสบการณ์ของนักพัฒนาและเร่งการส่งมอบคุณค่าแก่ลูกค้าของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์
การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า 80% ขององค์กรด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์จะจัดตั้งทีมดูแลแพลตฟอร์มภายในปี 2569 และ 75% จะรวมพอร์ทัลการใช้งานด้วยตนเองสำหรับนักพัฒนา
สำหรับการรับรู้ถึงคุณค่าของระบบไร้สาย การ์ทเนอร์ระบุว่า แม้จะไม่มีเทคโนโลยีใดเข้ามาครอบครองตลาด แต่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ จะใช้โซลูชันไร้สายที่หลากหลายเพื่อรองรับกับทุกสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ Wi-Fi ในสำนักงาน ผ่านบริการในอุปกรณ์พกพา ไปจนถึงบริการที่ใช้พลังงานต่ำ และแม้กระทั่งการเชื่อมต่อวิทยุ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 60% ขององค์กรจะใช้เทคโนโลยีไร้สาย 5 อย่างขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
"เมื่อเครือข่ายพัฒนาก้าวหน้าไปไกลมากกว่าแค่การเชื่อมต่อ เครือข่ายจะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกโดยใช้การวิเคราะห์ในตัวและระบบที่ใช้พลังงานต่ำจะสะสมพลังงานไว้ได้โดยตรงจากเครือข่าย นั่นหมายความว่าเครือข่ายจะกลายเป็นแหล่งที่มาของมูลค่าทางธุรกิจโดยตรง" การ์ทเนอร์สรุป "เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์มาแรงที่เปิดเผยล่าสุดในปีนี้นั้นตอกย้ำให้เห็นแนวโน้มเทคโนโลยีที่ผลักดันให้เกิดการหยุดชะงักและสร้างโอกาสสำคัญให้ธุรกิจไปอีก 5-10 ปีข้างหน้า".