‘ดนันท์’ เปิดแผนไปรษณีย์ไทย ปี 2566 ปรับบทบาทเป็น ‘ผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ครบวงจรและยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล’ เร่งสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาค หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ธุรกิจด้านการขนส่งหรือโลจิสติกส์ยังคงมีความสำคัญสำหรับสภาพเศรษฐกิจในระดับประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มค้าส่ง/ค้าปลีกสินค้า และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และเพื่อเป็นการยกระดับการขนส่งและโลจิสติกส์ในปี 2566 ให้สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทุกระดับ รวมถึงทั่วโลกได้มากขึ้น ไปรษณีย์ไทยจึงได้ปรับบทบาทองค์กรด้วยการเป็น “ผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ครบวงจรและยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”
พร้อมมุ่งสร้างปรากฏการณ์การดำเนินงานด้วยการเป็น “โซลูชัน” ที่สำคัญสำหรับทุกภาคส่วน โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการถูกดิจิทัล ดิสรัปชัน (Digital Disruption) ทำให้หลายธุรกิจต้องมีการปรับตัวโดยเฉพาะภาคธุรกิจขนส่ง รวมถึงเพิ่มรูปแบบการให้บริการไว้ 4 เรื่องประกอบด้วย 1.การให้บริการเชื่อมโยงไร้พรมแดน (Global Cross Border Service) ด้วยบริการขนส่งและโลจิสติกส์แบบครบวงจรโดยมุ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จะมีบริการรองรับทั้งคลังสินค้า Fullfillment ระหว่างประเทศบนพื้นที่เขตปลอดอากรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 2.การพัฒนาโครงสร้างคลังสินค้าบริการระหว่างประเทศ (Bonded Warehouse) บริการอื่นๆ และ 3.ความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก เช่น เว็บไซต์ Ebay, Amazon มาเป็นช่องทางค้าขายให้อีคอมเมิร์ซไทย รวมถึง 4.ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้งทางภาคพื้น ระบบราง เรือ และอากาศ เชื่อมต่อกับทุกกลุ่มธุรกิจ
“ไปรษณีย์ไทยมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV โดยลงนามบันทึกความร่วมมือกับไปรษณีย์ลาว (ปณล.) เป็นที่แรก และจะขยายความร่วมมือไปยังประเทศเวียดนามและประเทศพม่าต่อไป ซึ่งในการร่วมมือจะมีกรอบความร่วมมือ รวมถึงการเพิ่มบริการที่จะเป็นช่องทางในการขยายบริการของไปรษณีย์ให้ครอบคลุมและตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านขนส่งและโลจิสติกส์ของอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล”
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยจะเชื่อมโยงการขนส่งด้วยข้อมูล (Data) ผ่านการนำข้อมูลที่ทางไปรษณีย์ได้จัดเก็บไว้มาใช้ประโยชน์ในการเสริมศักยภาพของการให้บริการ ได้แก่ การพัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Prompt Post) บริการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamp) บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) รวมถึงการใช้พื้นที่คลังไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศเปิดให้บริการระบบคลังสินค้า (Fullfillment) ระดับจังหวัด และพัฒนาด้านการขนส่งที่สร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ Zero complain ลดข้อร้องเรียนและเพิ่มศักยภาพในส่วนที่มีความได้เปรียบให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งกว่าเดิม จากเครือข่ายที่ครอบคลุมมากกว่า 20,000 แห่ง
รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นการนำจุดแข็งที่มีขององค์กรเข้าไปสร้างประโยชน์ให้องค์กรพันธมิตรในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็น FUZE POST ที่จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ JWD และ FLASH ให้บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิ กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ร่วมมือกับ บริษัท AP เชื่อมต่อระบบของไปรษณีย์ไทยเรียกและนัดหมายให้เข้าไปรับพัสดุและพร้อมต่อยอดไปคืออสังหาริมทรัพย์รายอื่น
อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการ Robinhood และในอนาคตกับรายอื่นๆ เพื่อโอกาสในการสร้างรายได้และขยายช่องทางการขนส่งสินค้าของไปรษณีย์ไทย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งโลจิสติกส์ในการจัดส่งยารักษาโรคในระบบ Telemedicine และร่วมกับสถาบันการเงินโดยการให้สินเชื่อ เสริมสภาพคล่อง รวมถึงยังมีแผนดำเนินธุรกิจในอีกหลายสาขาเพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากไปรษณีย์ไทยได้อย่างเต็มที่
สำหรับการแข่งขันทางด้านธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศไทยในปีหน้านั้น ถือว่ามีความท้าทายและเกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้เล่นในตลาดขนส่งและโลจิสติกส์ได้อยู่เสมอ ไม่เพียงแต่ธุรกิจที่เป็น Tech Start-up ที่เข้ามามีบทบาทและผันตัวมาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมด้านขนส่งเท่านั้น แต่การขยายบริการของไปรษณีย์ไทยอาจจะไปทับซ้อนกับภาคธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ทางไปรษณีย์ไทยอาจจะต้องใช้จุดแข็งที่มีขององค์กรสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการแข่งขันในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีความท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการปรับเปลี่ยนนั้นต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนด้วย
นายดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สัดส่วนรายได้ขององค์กรในปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 47.62% กลุ่มไปรษณีย์ภัณฑ์ 31.26% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 15.90% กลุ่มธุรกิจการเงิน 1.78% กลุ่มธุรกิจค้าปลีก 2.78% และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ 0.66% และคาดว่าผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/2565 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา
นอกเหนือจากการสร้างรายได้จากกลุ่มดังกล่าวแล้ว ไปรษณีย์ไทยยังมีแผนในการแสวงหารายได้ใหม่ ซึ่งเป็น New S-Curve ขององค์กรทั้งการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจไปรษณีย์ภัณฑ์เดิม เช่น แสตมป์ NFT บริการจัดส่งสื่อโฆษณาทางไปรษณีย์หรือ Advertising Mail ที่สามารถจัดส่งสิ่งพิมพ์โฆษณาหรือสินค้าตัวอย่างให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในรูปแบบ Direct Mail บริการ E-Timestamp ประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันมีลูกค้า เช่น หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น สำหรับกลุ่มขนส่งและค้าปลีก เช่น กล่อง On Demand ที่สามารถออกแบบและผลิตได้ตามความต้องการของประเภทธุรกิจวางจำหน่ายโฆษณาสินค้าตามไปรษณีย์ต่างๆ การขยายพื้นที่บริการ FUZE POST เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิและกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น คลังสินค้าบริการระหว่างประเทศสำหรับธุรกิจ e-commerce และผู้ใช้บริการทั่วไป อีกทั้งกลุ่มธุรกิจการเงิน เช่น บริการประกันภัยออนไลน์ การให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินการทำธุรกรรมการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเติมเงินชำระเงินโอนเงินระหว่างประเทศ
ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งพลิกโฉมภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยดิจิทัลและเทคโนโลยีผ่านการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญคือ โครงการดิจิทัลโพสต์ ID เปลี่ยนระบบการระบุตำแหน่งที่อยู่บนกล่องซองจากแบบเดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัลรูปแบบ QR Code โดยทุกภาคส่วนจะได้รับการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย อีกทั้งมุ่งเป็นขนส่งรายแรกที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบงานไปรษณีย์และระบบนำจ่ายจำนวนกว่า 600 คัน ทดแทนรถเดิมที่หมดอายุใช้งานในปี 2566 สอดรับกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมโลก
“ขนส่งและโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ผู้ให้บริการทุกรายจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด โดยเป้าหมายในปี 2566 ของไปรษณีย์ไทยคือการอยู่เคียงข้างคนไทยในฐานะหน่วยงานการสื่อสารและขนส่งของชาติ เน้นการทำงานเชิงรุกเข้าหาลูกค้าเพื่อพัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน พร้อมดูแลคนไทยเพื่อให้ทุกคนไว้วางใจและนึกถึงไปรษณีย์ไทยทุกครั้งที่ต้องการใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเข้าถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้นด้วยการพัฒนาบริการใหม่จากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ และสุดท้ายคือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสนับสนุนให้เกิดความสะดวกเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น”