เมต้า (Meta) เจ้าพ่อเฟซบุ๊กกระตุ้นครีเอเตอร์ไทยเติบโตบนเวทีโลกด้วย Meta Spark AR ย้ำสถิติผู้คนกว่า 700 ล้านคนทั่วโลกใช้งานเทคโนโลยี AR ทุกเดือนบนแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ของ Meta ระบุกว่า 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า AR เป็นวิธีการที่สนุกในการโต้ตอบกับแบรนด์ ในขณะที่ 74% เชื่อว่าเทคโนโลยี AR จะเข้ามาเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์
แพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวในช่วงเปิดตัวโครงการ Rediscover Thailand ว่าเทคโนโลยี AR ช่วยให้ทุกคนแสดงออกถึงตัวตน วัฒนธรรม และความคิดเห็นที่หลากหลายกับคอมมิวนิตี้ทั่วโลก ทั้งยังช่วยให้เชื่อมต่อกับแบรนด์และลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่ออีโคซิสเต็มของ Meta ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เหล่าครีเอเตอร์ AR ก็ควรที่จะได้รับความสนใจและใส่ใจมากขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนอาชีพของทุกคน ในขณะเดียวกัน ยังเห็นได้ชัดว่าธุรกิจและสังคมไทยก็มีความกระตือรือร้นในการเฉลิมฉลอง ส่งเสริม และทำความรู้จักกับครีเอเตอร์มากความสามารถอย่างชัดเจน
"เราจะยังคงลงทุนไปกับการสนับสนุนครีเอเตอร์จากทั่วโลก เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงาน AR ที่โดดเด่นไม่ซ้ำใครให้ทุกคนเห็น และเรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นผลงานอื่น ๆ ที่จะถูกรังสรรค์ออกมาอีกมากมายบนหนทางสู่โลกเมตาเวิร์สนี้”
Meta นิยามว่า Augmented Reality (AR) หรือเทคโนโลยีเสมือนจริง นั้นช่วยให้ชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลก สามารถแบ่งปันประสบการณ์ร่วมให้กับผู้คนผ่านรูปภาพและวิดีโอได้อย่างเหนือชั้นยิ่งขึ้น เติมเต็มความหมายใหม่ให้กับโลกและสร้างโอกาสในการฟูมฟักความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและมีความหมายยิ่งกว่าเคย
และเมื่อตลาดสำหรับเทคโนโลยี AR ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มหันมาใช้บริการครีเอทีฟสตูดิโอและที่ปรึกษาเพื่อเตรียมตัวรับมือกับอนาคตที่กำลังจะมาถึง ซึ่งกว่า 75% ของผู้บริหารคาดว่าจะใช้งานเทคโนโลยี AR และ VR ภายในปี 2566 ในขณะที่สมาชิกในคอมมิวนิตี้ AR/VR เพิ่มสูงขึ้นถึง 74% ระหว่างปี 2562 และ 2563 ดังนั้นจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่จะต้องดูแลคอมมิวนิตี้เหล่านี้ให้เติบโตและพัฒนายิ่งขึ้น
***ปลดล็อกโอกาสประเทศไทยผ่าน Meta Spark AR
นอกจากจะเดินหน้าพัฒนาและแนะนำผู้คนสู่โลกเมตาเวิร์สอย่างต่อเนื่อง Meta ยังมุ่งมั่นสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่มีความหลากหลาย โดยแพลตฟอร์ม Meta Spark AR ได้สร้างอีโคซิสเต็มที่รวบรวมเหล่าครีเอเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์เนอร์ ศิลปิน อนิเมเตอร์ หรือนักพัฒนา ไปจนถึงบริษัทต่าง ๆ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างและนิยามเทคโนโลยีใหม่นี้ให้เป็นรูปเป็นร่างยิ่งขึ้น
"วันนี้ Meta Spark นับเป็นแพลตฟอร์ม AR สำหรับมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยครีเอเตอร์กว่า 400,000 ชีวิต จาก 190 ประเทศ (โดย 55% ของครีเอเตอร์เหล่านี้เป็นผู้หญิง) ที่ได้สร้างสรรค์เอฟเฟกต์ AR จำนวนมหาศาลไปกว่า 1.2 ล้านชิ้นบน Facebook และ Instagram โดยพวกเขาสามารถเข้าถึงเครื่องมือ แรงบันดาลใจ และทรัพยากรมากมาย ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถต่อยอดทักษะและสร้างโอกาสใหม่ไม่รู้จบได้ในอนาคต"
Meta ย้ำว่าผู้คนกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกต่างใช้งานเอฟเฟกต์และฟิลเตอร์ AR ที่พัฒนาโดย Meta Spark บน Facebook, Instagram, และ Messenger ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับเหล่าครีเอเตอร์ AR ที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในสังคมไทยสมัยใหม่ โดยปัจจุบันมีการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงเกี่ยวกับเทคโนโลยี AR ตลอดทั่วทั้งอุตสาหกรรม
ตัวอย่างเช่น แคมเปญ “100 Days to Beat Plastic Pollution” หรือ 100 วันสู่การเอาชนะมลพิษจากพลาสติก โดย มูลนิธิ MeshMinds ในความร่วมมือกับ The United Nations Environment Program (UNEP) และ SEA Circular แคมเปญนี้ทั้ง Meta, The United Nations Environment Program, มูลนิธิ MeshMinds และผู้นำทางความคิดและนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมกว่า 45 คน ได้ร่วมมือกันให้ความรู้และสร้างคอมมิวนิตี้ของนักรณรงค์ขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษจากพลาสติก และได้เปิดตัวเกม เอฟเฟกต์บนใบหน้า และเอฟเฟกต์ที่แสดงผลในโลก AR จำนวน 4 แบบ คือ Clean Our Oceans, Say No to Single-Use, Drowning in Plastic, และ Meet the Reusables ที่ถูกแชร์ไปทั่วโลกโซเชียลเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนหันมา #เอาชนะมลพิษจากพลาสติก หรือ #BeatPlasticPollution
นอกจากนี้ เทคโนโลยี AR ยังมีความโดดเด่นในวงการศิลปะ โดย Meta ได้ผนึกกำลังกับครีเอเตอร์ Spark AR จากเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ ในการเปิดตัวโครงการระดับภูมิภาคอย่าง Art Reimagined เพื่อทลายขอบเขตทางกายภาพ และสร้างมีเดียมใหม่ในการเสพงานศิลปะดั้งเดิมผ่านเทคโนโลยี AR โดยโครงการดังกล่าวจุดประกายผลงานสุดสร้างสรรค์โดยศิลปินพื้นบ้านชาวเกาหลีอย่าง พัคอึนจู นักร้องแนว Neo-Soul/R&B ชาวพื้นเมืองไต้หวันอย่าง ABAO และศิลปินแนวประเพณีจากสิงคโปร์อื่น ๆ ซึ่งได้เปลี่ยนผลงานศิลปะสู่รูปแบบ AR และ NFT ยกระดับและเติมเต็มประสบการณ์ด้านศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับผู้คน โดยโครงการ Art Reimagined ของ Meta สร้างการเข้าถึงผู้คนกว่า 17.3 ล้านคนทั่วโลก โดยมียอดเอนเกจเมนต์ถึง 2.6 ล้านครั้ง บน Facebook และ Instagram
ขณะเดียวกันก็มีการโปรโมทการท่องเที่ยวท้องถิ่นผ่านเทคโนโลยี AR ไปกับโครงการ Rediscover Thailand ซึ่งเป็นแคมเปญร่วมระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), Holowisp และครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์จาก Meta Spark AR ในการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวและประเพณีสำคัญของไทย เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 พร้อมตอกย้ำศักยภาพอันน่าทึ่งของการมีส่วนร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการทำงานเชิงสร้างสรรค์ของบรรดาครีเอเตอร์ หรือ “เศรษฐกิจครีเอเตอร์” (Creator Economy) ในประเทศไทย
งานนิทรรศการและแคมเปญดิจิทัลประกอบไปด้วยเอฟเฟกต์ AR ล้ำสมัยรวมทั้งหมด 9 ชิ้น ซึ่งแต่ละเอฟเฟกต์ได้ถูกสร้างสรรค์และพัฒนาโดยครีเอเตอร์ไทยจากคอมมิวนิตี้ Meta Spark AR เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
ครีเอเตอร์ไทยที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเกมอย่าง "พรรษวุฒิ เคหสุขเจริญ" และ "วนิศรา ชมภูรัตน์" ได้สร้างสรรค์เอฟเฟกต์ AR ที่จับเอกลักษณ์สะดุดตาของภาคเหนือไทยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเอฟเฟกต์ ร่มบ่อสร้าง ที่พาไปสัมผัสประสบการณ์สีสันสดใสในหมู่บ้านหัตถกรรมทำร่ม และเกม อาหารเหนือจากเชียงใหม่ ที่ให้ผู้เล่นได้ลองสร้างสรรค์อาหารเหนือจานเด็ดจากวัตถุดิบในท้องถิ่น
ด้านศิลปินดิจิทัลอาร์ตและคนทำหนังอย่าง "โอภาศ แสงอื้อ" ได้พัฒนาเอฟเฟกต์ AR ที่โดดเด่นสะดุดตาเพื่อเป็นตัวแทนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผสมผสานวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมเข้ากับอารมณ์ขันไปกับผลงาน ประเพณีบุญบั้งไฟ ที่พาไปสัมผัสเทศกาลประจำจังหวัดยโสธร และ ผีตาโขน ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ออกแบบหน้ากากผีตาโขนในแบบของตนเอง
ด้าน "คีตะพล บุญประจักษ์" สมาชิกของ Meta Spark Partner และนักพัฒนาเชิงเทคนิคมากความสามารถ รับผิดชอบสร้างสรรค์ผลงานตัวแทนภาคกลาง โดยได้สร้างเอฟเฟกต์ AR วัดไชยวัฒนาราม ภายใต้โครงการ Rediscover Thailand เพื่อจำลองวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัดอยุธยา ไปจนถึงการหยิบขนมหวานแสนอร่อยของจังหวัดอย่าง โรตีสายไหม มาให้ร่วมสนุกผ่านประสบการณ์ AR
"ซูฟีย์ ยามา" นักออกแบบประสบการณ์ AR/VR และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเชิงครีเอทีฟ ได้ใช้ประสบการณ์การเล่าเรื่องผ่านสื่อเสมือนจริงของเธอในการสร้างเอฟเฟกต์ รำมโนราห์ เพื่อแสดงเอกลักษณ์การร่ายรำประจำภาคใต้ที่ได้รับการรับรองโดย UNESCO รวมไปถึงเอฟเฟกต์ พะยูน ที่ให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ผูกมิตรกับสัตว์ทะเลสุดน่ารักที่พบเห็นได้ตามทะเลภาคใต้ในจังหวัดตรังอีกด้วย
คาดว่าในอนาคต Meta จะลงมือกระตุ้นครีเอเตอร์ไทยให้ไปสู่เวที AR มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ AR เป็นตลาดงานถัดไปที่จะบูมมากขึ้นอีกในช่วงไม่กี่ปีนับจากนี้.