xs
xsm
sm
md
lg

ประธาน กสทช. ทุ่มงบ 3,000 ล้านบาท ดันโครงการเทเลเมดิซีน คาดเห็นผล พ.ค.66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘นพ.สรณ’ ประธาน กสทช. เดินหน้าโครงการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยใช้งบกองทุน USO จำนวน 3,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในเดือนพฤษภาคม 2566

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้เร่งดำเนินการโครงการเทเลเมดิซีน (Telemedicine) หรือแพทย์ทางไกลร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบแพทย์ทางไกล พ.ศ.2564 เพื่อรองรับระบบดูแลสุขภาพทางไกล

โดยเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เทคโนโลยี 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หรือในพื้นที่ชายขอบที่มีปัญหาการเดินทางเข้ามาใช้บริการยังโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งงบประมาณที่จะใช้จะนำมาจากกองทุน USO คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวในช่วงระยะแรกตามแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น โดยเป้าหมายหลัก คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

“ตอนเข้ามาสมัครเป็น กสทช.ได้แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องแพทย์ทางไกล เมื่อได้รับเลือกแล้วจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการเข้ามาเป็น กสทช. จะสามารถผลักดันโครงการนี้ได้ดีกว่าการไปอยู่ในตำแหน่งในหน่วยงานอื่นๆ เพราะมีระยะเวลาทำงานยาวถึง 6 ปี โดยตอนนี้มีคณะทำงานขึ้นมาทำงานแล้ว และกำลังเร่งทำงานในเรื่องนี้ โดย กสทช. จะเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้”

นพ.สรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยทุกคนจะมีแพทย์ประจำตัว 1 คน ที่คอยให้คำปรึกษาเวลาเจ็บป่วย ซึ่งการรักษาและให้คำปรึกษาของแพทย์ในบางกลุ่มโรคไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล หากใช้เทเลเมดิซีน ด้วยการวิดีโอคอล เพื่อให้เห็นหน้าพูดคุยถึงอาการก็สามารถวินิจฉัยพร้อมสั่งยาได้ โดยที่คนไข้ไม่ต้องเดินทางและสามารถรอรับยาอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งช่วยในการประหยัดเวลาและค่าเดินทางได้มาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ในเดือนพฤษภาคม 2566

ส่วนประเด็นเรื่องฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้น ประธาน กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมามีมติเอกฉันท์ 6:0 ให้ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ระบุว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่การกีฬาแห่งประเทศไทยได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดนั้นประชาชนต้องได้รับชมผ่านทุกช่องทาง และให้ปฏิบัติตามกฎมัสต์แคร์รี่ (Must Carry) ที่ กสทช.กำหนดไว้ 

ภายหลังจากการประชุม กสทช.วาระพิเศษ ได้ส่งหนังสือให้ทาง กกท.รับทราบถึงมติดังกล่าว และหากไม่ปฏิบัติตาม ทาง กกท.ต้องดำเนินการคืนเงิน จำนวน 600 ล้านบาทภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการส่งหนังสือไป แต่ถ้าหากว่าทาง กกท.ยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามกฎมัสต์แคร์รี่มาโดยตลอดและปฏิเสธที่จะคืนเงิน การดำเนินการหลังจากนั้นอาจจะต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ชี้ขาดในเรื่องดังกล่าวต่อไป

“เงินจำนวน 600 ล้านบาทนั้นเป็นเงินจำนวนแรกที่องค์กรได้สนับสนุนให้ กกท.สามารถดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายได้ ซึ่งสิ่งที่ กกท.ทำหลังจากนั้น คือ ดำเนินการทำสัญญากับคู่สัญญารายอื่นๆ เพื่อหางบประมาณมาให้ครบตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ จึงต้องมาพิจารณาถึงข้อกฎหมายอีกครั้งว่ากฎหมายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งจากมุมมองของประธาน กสทช.เห็นว่า กฎมัสต์แคร์รี่ (Must Carry) นั้นมีน้ำหนักและควรจะปฏิบัติตาม และการถ่ายทอดสดนั้นประชาชนคนไทยควรจะได้รับชมในทุกแพลตฟอร์มตามที่ได้มีการพูดคุยกับทาง กกท.ก่อนที่จะมีการทำสัญญาไว้ก่อนแล้วถึงกฎมัสต์แคร์รี่ (Must Carry) ซึ่งทาง กกท.ก็รับทราบและเข้าใจตรงกัน”

ทั้งนี้ ทางประธาน กสทช.ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะต้องกลับมาทบทวนเรื่องกฎ Must Carry หรือปรับปรุงให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น