"พล.อ.ประวิตร" นั่งประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนัดแรก ประจำปี 2565 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย การพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 เมืองเพิ่มเติมจากปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด คาดเกิดโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากภาคเอกชนมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท พร้อมเสนอ เชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง ฉะเชิงเทรา เพิ่มเป็นสมาชิกในเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า และผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ณ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่มี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เป็นประธาน โดยเฉพาะประเด็นการมอบตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองการเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ 15 พื้นที่ใน 14 จังหวัด ประกอบด้วย
1) นครระยอง เมืองอัจฉริยะและน่าอยู่ จังหวัดระยอง
2) คันทรงโมเดล เมืองแห่งความสุขที่พึงประสงค์และสังคมแห่งการแบ่งปัน จังหวัดชลบุรี
3) เมืองอัจฉริยะจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
4) โครงการพิษณุโลกนครอัจฉริยะอย่างยั่งยืน จังหวัดพิษณุโลก
5) นครเชียงรายสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดเชียงราย
6) เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดน่าน
7) โคราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครราชสีมา
8) Smart City อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
9) กระบี่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดกระบี่
10) จังหวัดพังงาสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดพังงา
11) Satun Smart City จังหวัดสตูล
12) พัฒนาเทศบาลนครเกาะสมุย สู่เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
13) หาดใหญ่เมืองอัจฉริยะสีเขียว จังหวัดสงขลา
14) ปัตตานีเมืองอัจฉริยะ จังหวัดปัตตานี
15) เมืองสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
ส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกว่า 20 ล้านคน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ และกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะจากบีโอไอ โดย 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทยที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมวันนี้จะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากภาคเอกชนมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาการเสนอเมืองเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network : ASCN) เพิ่มเติม ประกอบด้วย เชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง และฉะเชิงเทรา จากเดิมที่มีเมืองเข้าร่วมแล้วคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งทั้ง 7 เมืองนับเป็นเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของรัฐบาล โดยอาเซียนได้กำหนดหลักเกณฑ์การเป็นสมาชิก ประกอบด้วย มิติความพร้อมใช้งานของวิสัยทัศน์เมืองอัจฉริยะ การแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะผ่านการมีส่วนร่วมในเครือข่าย ความพร้อมในการทำงาน การเชื่อมโยงที่ชัดเจนของโครงการเมืองอัจฉริยะ ความพร้อมใช้งานของแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะหรือโซลูชัน และการเตรียมพร้อมบุคลากรที่มีทักษะและศักยภาพในการมีส่วนร่วมทำงานกับเครือข่าย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบผลการจัดกิจกรรมสานต่อความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network : ASCN) ผลการดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในปี 2565 ผ่านกิจกรรมการพัฒนากำลังคนด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เช่น โครงการนักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากำลังคนดิจิทัลรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะดิจิทัลให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กิจกรรมส่งเสริมและสร้างความตระหนัก เช่น การจัดประกวด The Smart City Solution Awards 2022 เพื่อมอบรางวัลแก่ผู้ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อการบริการภาคประชาชน และการจัดนิทรรศการ Smart City Expo 2022 ที่จะมีขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2565
"ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ตามแนวทางที่แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีได้วางไว้ โดยการประชุมในวันนี้เพื่อรับทราบผลการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2565 กิจกรรมการพัฒนากำลังคนด้านเมืองอัจฉริยะ การสร้างกลไกการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพิจารณาเพิ่มเมืองเพื่อเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของประเทศ เนื่องจากเป็นวาระแห่งชาติ และจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของภาคประชาชน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยเฉพาะหมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว