เมต้า (Meta) ต้นสังกัดเฟซบุ๊ก (Facebook) เผยผลสำรวจล่าสุดพบปี 2565 ค่าเฉลี่ยยอดใช้จ่ายรวมบนอีคอมเมิร์ซของคนไทยลดลงเหลือ 43 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,600 บาทต่อคนต่อปี เชื่อภาวะยอดใช้จ่ายหดตัวจากปีที่แล้วราว 30-40 บาทในทุกหมวดสินค้านี้ไม่มีผลต่อการเติบโตของตลาดซื้อขายสินค้าบนระบบดิจิทัลอาเซียน จับตากระแสชอปปิ้งในช่องทางเลือกอื่นทั้งวิดีโอและการแชตสนทนามากขึ้น ยอมรับพิษเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังเป็นปัจจัยท้าทายหลักในธุรกิจช่วงปีหน้า
น.ส.แพร ดํารงค์มงคลกุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวระหว่างการรายงานประจำปี SYNC Southeast Asia โดย Meta และเบน แอนด์ คอมพานี เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและอนาคตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า ผลสำรวจในรายงานนี้แสดงถึงการขยายตัวของผู้บริโภคดิจิทัล (digital consumers) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความนิยมในการซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา เบื้องต้น เชื่อว่าแนวโน้มการแข่งขันในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงปีหน้าจะดุเดือดยิ่งขึ้นในเซกเมนต์วิดีโอและการซื้อขายผ่านระบบแชต
“จะเห็นว่าความคาดหวังของผู้บริโภคดิจิทัลที่กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ คือ การมองหาประสบการณ์เชื่อมต่อทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ เราจึงมองว่าเป็นโอกาสของธุรกิจต่างๆ ที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองถูกค้นพบได้หลายรูปแบบบนแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะผ่านเทรนด์วิดีโอที่กำลังได้รับความนิยมและส่งอิทธิพลต่อผู้บริโภคได้มาก” แพรระบุ “จากผลการศึกษาที่เราได้แชร์ในวันนี้ นอกจากความนิยมในช่องทางอีคอมเมิร์ซต่างๆ เหมือนที่เคยเป็นมาแล้ว เราจะเห็นความไหลลื่นระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ที่ผู้บริโภคดิจิทัลเปิดรับทั้ง 2 ทาง และเรายังเห็นเทรนด์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีการจับจ่ายใช้สอยหรือชอปปิ้งในช่องทางเลือกอื่นๆ (alternative e-commerce) เช่น การซื้อของผ่านวิดีโอไลฟ์ หรือการเลือกที่จะทักแชตหาร้านค้าเพื่อซื้อ (business messaging)”
รายงานประจำปี SYNC Southeast Asia ที่ Meta ร่วมมือกับบริษัท เบน แอนด์ คอมพานี จัดทำขึ้นนั้น ระบุว่า ไทยเป็นผู้นำในการรับเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ขณะเดียวกัน ภาพรวมอีคอมเมิร์ซยังเป็นไปในเชิงบวกแม้สถานการณ์โลกยังผันผวน โดยภาพรวมระยะยาวของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงแข็งแกร่ง คาดว่าระหว่างปี 2563-2570 ไทยจะเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 14 แซงหน้าตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน
จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 16,000 คน และข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทต่างๆ กว่า 20 คนจาก 6 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม พบว่าภายในปี 2565 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 370 ล้านคน ในขณะที่จะมีประชากรไทยกว่าร้อยละ 72 ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ภายในปีนี้ เบ็ดเสร็จแล้วคาดว่าจะมีจำนวนผู้บริโภคดิจิทัลในภูมิภาครวมกว่า 402 ล้านคนภายในปี 2570
สำหรับผู้บริโภคชาวไทย สถิติระบุว่ามีการชอปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 16.4 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของภูมิภาคที่ร้อยละ 15.3 ยิ่งไปกว่านั้น ช่องทางอีคอมเมิร์ซทางเลือกอย่างการส่งข้อความเชิงธุรกิจและการชอปผ่านวิดีโอไลฟ์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในไทย หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 25 ของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายทั้งหมดในประเทศ
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่าโซเชียลมีเดียสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นการค้นพบผ่านรูปภาพ (ร้อยละ 15) วิดีโอ (ร้อยละ 26) และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น การส่งข้อความ เป็นต้น (ร้อยละ 9) แปลว่าผู้บริโภคมองหาการทดลองและปฏิสัมพันธ์ระหว่างการค้นพบที่จะต่อยอดไปเป็นการสั่งซื้อมากขึ้น
การสำรวจนี้ย้ำถึงแนวโน้มธุรกิจของเฟซบุ๊กที่ยังสดใส เพราะตลาดซื้อขายสินค้าผ่านการทักแชต หรือ Chat Commerce ยังคงขยายตัว โดยร้อยละ 63 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าได้ส่งข้อความเชิงธุรกิจไปในปีที่ผ่านมา ในขณะที่โซเชียลมีเดียสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ถึงเกือบครึ่งในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย โดยพบว่าคอนเทนต์วิดีโอในฐานะแพลตฟอร์มโซเชียลที่สร้างการค้นพบใหม่ๆ มีการเติบโตต่อปีกว่าร้อยละ 50 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563
สำหรับภาพใหญ่ของอาเซียน งานวิจัยระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการเข้าถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล (e-Wallet) สกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) และสินทรัพย์ดิจิทัล NFT (non-fungible tokens) มากกว่าตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมตาเวิร์สอย่างน้อยหนึ่งอย่างไปในปีที่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยระบุว่าได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปในปีที่ผ่านมา
ในมุมประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมตาเวิร์ส เช่น augmented reality, virtual reality, virtual worlds, cryptocurrency และ NFT ที่จะพัฒนาจากแอป 2 มิติในปัจจุบัน สู่โลกเสมือนแบบ 3 มิติภายใน 2-3 ปีข้างหน้า นั้นมีการคาดการณ์ว่าการใช้งาน virtual reality สำหรับธุรกิจต่างๆ เช่น การอบรมและการพัฒนา ไปจนถึงการทำงาน การจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ในโลกเสมือน จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้ในภูมิภาคภายใน 10-15 ปีข้างหน้า
นายดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ตเนอร์และผู้อำนวยการฝ่ายการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีก เบน แอนด์ คอมพานี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ยอดใช้จ่ายอีคอมเมิร์ซของคนไทยในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 43 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,600 บาท ลดลงจากปีที่แล้ว 30-40 บาท ต่อปี เป็นการลดลงเฉลี่ยในทุกหมวด ซึ่งบางรายอาจมีการใช้จ่ายที่มากหรือน้อยกว่านี้ โดยหากเทียบสถิติของประเทศไทยกับประเทศอื่นในอาเซียนจะพบว่าการใช้จ่ายออนไลน์นี้อยู่ในระดับดีแล้ว
“หากเทียบเพื่อนบ้าน เราอยู่ในเกณฑ์ที่ดี” ดิเรกระบุ “การเติบโตโดยรวม (ของอาเซียน) นั้นมาอยู่แล้ว แต่คำถามคือใครจะได้ประโยชน์จากการเติบโตนี้ รวมถึงความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้น ผมในฐานะคนไทยก็อยากให้เป็นบริษัทไทย หรือนักธุรกิจไทยที่ควรจะเป็นหลักตรงนี้ ซึ่งแม้สิงคโปร์จะถูกมองว่ามีความพร้อมที่เหนือกว่าเรื่องการระดมทุน ทำให้มีแนวคิดการใช้สิงคโปร์เป็นฐานลงทุนแล้วจึงค่อยขยายมาที่ประเทศอื่น หรืออินโดนีเซียที่ถูกมองว่ามีประชากรจำนวนมาก แต่หากประเทศไทยสามารถขยายธุรกิจไปที่อื่นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ที่ดีในอนาคต”
ดิเรก เชื่อว่าการไปดิจิทัลมากขึ้นถือเป็นโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ทำให้สามารถแข่งได้ ขอเพียงมีสินค้าและบริการที่แตกต่างจากตลาด ทั้งหมดนี้เป็นโอกาสดีเพราะผู้บริโภคพร้อมที่จะเลือกดูและค้นพบประสบการณ์ใหม่ที่ตรงกับแต่ละคน ขณะเดียวกัน ประโยชน์จากการติดตามประสิทธิภาพของระบบการตลาดยังทำให้เอสเอ็มอีทั้งเล็ก-กลาง-ใหญ่สามารถเข้าถึงคอนซูเมอร์ได้มากขึ้น ทำให้ไม่ต้องลงทุนกับบิลบอร์ดที่ติดตามผลไม่ได้
ที่สุดแล้ว Meta ประเมินความท้าทายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลสำรวจนี้ในช่วงปลายปีหรือปีหน้า ว่า แม้จะเห็นความท้าทายจากสภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งเป็นปัจจัยที่บริษัทจับตามอง แต่จะเห็นว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงสามารถปรับตัวและรับมือกับปัจจัยนี้ได้ในระดับหนึ่ง และมีการคาดการณ์การเติบโต GDP ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ดังนั้นจึงมองว่าในระยะยาวยังถือว่าธุรกิจในภูมิภาคนี้ยังมีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง