xs
xsm
sm
md
lg

อีริคสันชี้ไทยมีศักยภาพในการนำโซลูชัน 5G มาใช้งาน พร้อมติดปีกแน่ถ้าคลื่น 3500 MHz ถูกจัดสรร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีริคสันชี้ไทยมีศักยภาพในด้านการนำเครือข่าย 5G มาต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในอนาคต ชี้ภาคอุตฯ 5G จะได้ประโยชน์มากขึ้นหากมีการนำคลื่น 3500 MHz มาจัดสรรให้โอเปอเรเตอร์ให้บริการแบบ 5G Stand Alone ดึงจุดเด่นโซลูชัน 5G ขับเคลื่อนประเทศ


อิกอร์ มอเรล ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมการใช้งานเครือข่าย 5G ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ให้บริการเครือข่ายมากกว่า 218 เน็ตเวิร์กทั่วโลกเริ่มให้บริการ 5G ครอบคลุม 35% ของประชากรทั่วโลก และในจำนวนนี้กว่า 130 เน็ตเวิร์ก ใน 56 ประเทศ ใช้งานเครือข่ายของอีริคสัน

“ปัจจุบันโลกได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การใช้ชีวิตในแบบออฟไลน์ และโลกที่สื่อสารกับผ่านออนไลน์ ซึ่งอินเทอร์เน็ต และ 5G ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ทำให้รูปแบบการติดต่อยุคใหม่เกิดขึ้น เตรียมพร้อมไปสู่ยุคของเมตาเวิร์สภายในปี 2030 นี้”

เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งสำคัญมากที่สุดคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้ทั้งเศรษฐกิจเติบโต ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น ด้วยการนำโซลูชันที่หลากหลาย และเหมาะสมมาใช้งาน

“โอเปอเรเตอร์ทั่วโลกต้องลงทุนในเครือข่าย 5G เพื่อให้รองรับการใช้งานที่ต่อเนื่องของผู้บริโภค ความเสถียรในการใช้งาน รวมถึงความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ที่ต้องมีโซลูชันที่ต้องครอบคลุมการใช้งานเหล่านี้”


ทั้งนี้ ข้อมูลจากการคาดการณ์ระบุว่าภายในปี 2025 จำนวนผู้ใช้งานเครือข่าย 5G ในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นถึงราว 40.8 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของจำนวนผู้ใช้งานมือถือในไทย ทำให้ในฝั่งของคอนซูเมอร์เชื่อว่าจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่งของภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยยังมีความท้าทายค่อนข้างมาก เนื่องจากในแถบยุโรปที่ลงทุนโซลูชัน 5G ส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์บนคลื่น 3500 MHz ที่ประเทศไทยยังไม่ได้นำมาจัดสรรเพื่อให้บริการ 5G โดยเฉพาะการนำมาใช้งานแบบ Stand Alone (SA) ที่จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานของ 5G ได้ดีที่สุด

อิกอร์ ยังชี้ให้เห็นว่า การสื่อสารในอนาคต ต้องมาในรูปแบบของอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันต้องมีความปลอดภัย และความเสถียรในการใช้งานที่ต่อเนื่อง เพื่อให้รองรับปริมาณการเชื่อมต่อจำนวนมากจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่เข้ามาใช้งานร่วมกัน ผลักดันให้ก้าวสู่การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้งาน

ที่ผ่านมา อีริคสันได้มีการนำเสนอโซลูชัน พร้อมกรณีศึกษาที่หลากหลาย ทั้งโซลูชันการสื่อสารผ่านโฮโลแกรม (Holographic Communication) เทคโนโลยีเกษตรกรรมอัจฉริยะในเมตาเวิร์ส (Smart Agricultural Technology in Metaverse) นวัตกรรมสื่อสารที่ต้องการความแม่นยำสูง (Time-Critical Communication) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นถึงประโยชน์ของการนำไปใช้งาน


ในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำ 5G มาใช้งานในภาคอุตสาหกรรม จะต้องมีความร่วมมือระหว่างพันธมิตรผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดการใช้งาน จนถึงการกระจายเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเข้าถึงได้

ที่จะครอบคลุมทั้งในเรื่องของการผลักดันอีโคซิสเต็มอย่าง Digital Valley ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มีการนำนวัตกรรมและทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกในการนำประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเข้าสู่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการนำยูสเคสที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทย และต่างประเทศมานำเสนอให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมได้เห็นถึงประโยชน์ และประสิทธิภาพ ต่อเนื่องไปถึงการนำความสามารถที่แท้จริงของ 5G มาใช้งาน ต่อเนื่องไปถึงการสนับสนุนในการพัฒนาทักษะ และความรู้พื้นฐานตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย

อิกอร์ ทิ้งท้ายว่า การที่ไทยจะขึ้นเป็นผู้นำในอนาคตได้จะต้องมาจากการที่ภาคอุตสาหกรรมสนใจที่จะลงทุนในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมากช่วย พร้อมกับการที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. มีการนำคลื่น 3500 MHz มาจัดสรร และที่สำคัญคือภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่ต่อเนื่องด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น