xs
xsm
sm
md
lg

เปิดธุรกิจใหม่ TKC สู่ผู้นำ 6 สมาร์ทโซลูชัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



TKC ตั้งเป้าขึ้นแท่นผู้นำธุรกิจดิจิทัลโซลูชันเปิดธุรกิจใหม่ 6 สมาร์ทโซลูชัน รับเมกะเทรนด์ในอนาคต คาดภายใน 5 ปีคือสายงานหลักสร้างการเติบโตให้บริษัท เผยแค่ 6 เดือนแรกเซ็นสัญญาไปแล้ว 600-700 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการบริษัทหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ครึ่งปี 65 รายได้รวม 1,251.39 ล้านบาท กำไรรวม 131.34 ล้านบาท

“สยาม เตียวตรานนท์” กรรมการผู้จัดการบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC เปิดเผยว่า หลังจากการนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้ประกาศและวางกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจดิจิทัลโซลูชันโดยครอบคลุมทั้งด้านโทรคมนาคมและไอซีที ทำให้ TKC มีธุรกิจ 4 สายงานหลัก ได้แก่ ด้านโทรคมนาคม ด้านดาต้า คอมมูนิเคชัน ด้านพับบลิก เซฟตี้ และด้านดิจิทัล เซอร์วิสกับ 6 ธุรกิจสมาร์ทโซลูชันซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต ประกอบด้วยระบบ Smart Hospital, Smart Airport, Cyber Security, Smart Platform, Smart Government และ Smart Farming

“ดิจิทัล เซอร์วิส เป็นดีมานด์ที่ใหญ่มาก เช่น Smart Hospital ทุกโรงพยาบาลกำลังเปลี่ยนระบบสู่ดิจิทัล เป็นต้น จะเห็นได้จากช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทเซ็นสัญญาในกลุ่มบริการดิจิทัลไปแล้ว 600-700 ล้านบาท เมื่อเทียบสัดส่วนรายได้แล้วนับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก เป็นธุรกิจที่เรามีคู่ค้าและลูกค้าชัดเจน คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจดิจิทัลจะเป็นสายงานที่สร้างการเติบโตให้บริษัท”

*** เปิดธุรกิจใหม่ 6 สมาร์ทโซลูชัน


TKC วางเป้าหมายขยายการลงทุนในธุรกิจที่เป็นเทรนด์อนาคต ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทเริ่มเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจสมาร์ทโซลูชันทั้ง 6 ธุรกิจ ได้แก่ 1.Smart Hospital หรือโรงพยาบาลอัจฉริยะ TKC สร้างต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยเทคโนโลยี 5G, Hybrid Cloud, AI และ Blockchain สำหรับระบบห้องฉุกเฉิน (Emergency Room) ระบบและรถฉุกเฉิน (EMS) AI สำหรับคลินิกโรคไม่ติดต่อ (NCD) AI สำหรับพยาธิวิทยา (Pathology) การบันทึก Health Record ด้วย Blockchain โดยเฟสแรกมูลค่าลงทุน 60-100 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการขยายการลงทุนต่อเนื่องในเฟส 2 หรือ 3 โดยมีแนวโน้มขยายโมเดลดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ

2.Smart Airport หรือสนามบินอัจฉริยะ TKC เข้าไปติดตั้งระบบเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ติดตามและตรวจนับความหนาแน่นของผู้โดยสารแบบเรียลไทม์ (Real Time Passenger Tracking and Counting System) ซึ่งระบบจะแสดงระยะเวลาที่ผู้โดยสาร (Passenger) ต้องรอคอยระหว่างเข้าคิวในพื้นที่ตรวจบัตรผู้โดยสาร (Check-in Counter) พื้นที่ตรวจค้นผู้โดยสาร (Security Checkpoint) พื้นที่ตรวจหนังสือเดินทาง (Passport Control) โดยผู้โดยสารสามารถตรวจสอบสถานะการรอคอยคิวผ่านจอมอนิเตอร์แบบ Real time ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารทราบ และประเมินระยะเวลาในการรอคอยได้ด้วยตนเอง ระบบสามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่สนามบินถึงความหนาแน่นของผู้โดยสาร เพื่อสามารถบริหารจัดการกระจายไปยังจุดให้บริการที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า และช่วยในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้ด้วย

“ภายในสนามบิน Smart Airport นั้น TKC สร้างระบบ Smart CCTV ด้วยโดย TKC มีโซลูชันระบบบริหารความปลอดภัยจากบริษัทชั้นนำ ได้แก่ Cognyte Symphia ที่มีความเชี่ยวชาญสามารถให้คำแนะนำ ออกแบบการใช้งานด้วยผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น Symphia VMS, Symphia One, Symphia Control, Symphia FaceDetect ซึ่ง TKC เข้าไปดำเนินการในท่าอากาศยาน 4 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ต มูลค่ารวม 350 ล้านบาท”

3.Cyber Security หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ TKC จัดอบรมทางด้าน Cyber Security ให้บุคลากรของหน่วยงาน Critical Information Infrastructure ในประเทศ ในหลักสูตรระดับพื้นฐานมากกว่า 1,200 คน ระดับผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 300 คน ไปจนถึงระดับบริหาร CISO จัดการสอบประกาศนียบัตรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จัดทำระบบจำลองยุทธ์เพื่อฝึกซ้อมทางไซเบอร์ (Cyber Range Platform) และให้คำปรึกษา ออกแบบ และจัดทำระบบและโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีการให้บริการประชาชนจำนวนมาก และมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตี


4.Smart Platform หรือแพลตฟอร์มอัจฉริยะ TKC ดำเนินการสร้างระบบรับแจ้งความออนไลน์ ของกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากกรมทางเทคโนโลยี เป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าแจ้งความกับตำรวจผ่านแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ง่าย โดยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อวางนโยบาย วางแผนปฏิบัติงานป้องกันปราบปรามได้

5.Smart Government โดย TKC เป็นผู้จัดทำระบบ Government Data Center and Cloud ซึ่งเป็นระบบ Cloud กลางภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ใช้ทรัพยากรในหน่วยงานภาครัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากทั่วโลกไปพร้อมๆ กัน มีระบบบริหารจัดการและระบบรักษาปลอดภัยเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และ 6.Smart Farming หรือเกษตรอัจฉริยะเบื้องต้น TKC ทำโครงการสร้างความยั่งยืนให้องค์กร และสร้างความยั่งยืนสังคม เป็นโครงการ ESG (Environment, Social, Governance) ของบริษัทโดยบริษัทนำระบบเทคโนโลยีเข้าไปสอน และสร้างให้เกษตรกรใช้จริง ซึ่งได้เข้าไปดำเนินการให้มูลนิธิณัฐภูมิในจังหวัดลำปาง โดยการนำเทคโนโลยีระบบ IoT เช่น ระบบหยดน้ำ นำระบบโดรน (drone) ในการหว่านเมล็ดพืชและใช้โดรนในการดูคุณภาพของดิน

“สมาร์ทโซลูชันต่างๆ เป็นโอกาสสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ ของเรา โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT สร้างและออกแบบเน็ตเวิร์กและเซิร์ฟเวอร์มาเสริมสร้างประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพในธุรกิจด้านต่างๆ เป็นการยกระดับองค์กรและยกระดับประเทศ”

***กำไรครึ่งปีแรก 131 ล้านบาท


สำหรับผลประกอบการของ TKC งวดไตรมาสที่ 2/2565 ระหว่าง เม.ย.ถึง มิ.ย.2565 มีรายได้ 612.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีรายได้ 590.32 ล้านบาท จำนวน 22.01 ล้านบาท คิดเป็น 3.73% โดยรายได้หลักไตรมาส 2/2565 มาจากงานโครงการ 314.97 ล้านบาท คิดเป็น 51.50% รายได้จากงานบริการวิศวกรรมและการบำรุงรักษา 227.60 ล้านบาท คิดเป็น 37.22% และรายได้จากการขาย 68.98 ล้านบาท คิดเป็น 11.28% ซึ่งรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ไตรมาสที่ 2/2565 บริษัททำกำไรเบ็ดเสร็จ 91.6 ล้านบาท ได้กำไรสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 12.3 ล้านบาท ที่ได้ 79.34 ล้านบาท (YoY) และทำกำไรได้สูงขึ้น 130.59 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ซึ่งอยู่ที่ 39.73 ล้านบาท (QoQ) ทั้งนี้ ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2565 ระยะเวลา 6 เดือน บริษัทมีรายได้รวม 1,251.39 ล้านบาท ทำกำไรรวม 131.34 ล้านบาท

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติอนุมัติการจัดสรรกำไรจากผลการดำเนินงาน สำหรับงวด 6 เดือนแรกประจำปี 2565 เพื่อจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้น เป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท และกำหนดการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 9 ก.ย.2565

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 คาดว่ามีทิศทางการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่ารายได้ในปี 2565 เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% หรือราว 2,600 ล้านบาท ตามแผนที่วางไว้ โดย TKC มีงานประมูลใหม่ที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา 412 ล้านบาท มีงานคงค้างในมือ (Backlog) ประมาณ 3,000 ล้านบาท และเตรียมรอผลประกาศได้งานเพิ่มเติมอีกราว 755 ล้านบาท มีโครงการรอประมูล มูลค่า 5,100 ล้านบาท ที่คาดว่าจะชนะการประมูลไม่ต่ำกว่า 40%

“ด้วยจุดแข็งของบริษัทคือการมีทีมวิศวกรที่มีความรู้และประสบการณ์ ผ่านการอบรมระดับสากล เป็นพันธมิตรกับเจ้าของเทคโนโลยีระดับโลกโดยตรง เช่น Huawei, Nokia และ Cisco และได้รับงานโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ TKC สามารถรองรับงานตามการเติบโตของโครงการรัฐและการขยายการลงทุนของภาคเอกชนได้อย่างแน่นอน”


กำลังโหลดความคิดเห็น