xs
xsm
sm
md
lg

ETDA จับมือภาคการแพทย์และสาธารณสุขไทยดันดิจิทัล ไอดี กระตุ้นใช้บริการอี-เฮลธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ETDA จับมือภาคสาธารณสุข สร้างมาตรฐานดิจิทัล ไอดี กระตุ้นการใช้งานอี-เฮลธ์ วงการแพทย์ให้แพร่หลาย หวังลดความหนาแน่นของโรงพยาบาล ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล เดินหน้าจัดงานเสวนา หัวข้อ ME(i)d Talk : The Secret of e-Health ปลดล็อกการแพทย์ไทย ด้วยดิจิทัลไอดี ในวันที่ 2 ก.ย.2565 เวลา 14.00-16.00 น. ณ สำนักงาน ETDA อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระราม 9 และรับชมผ่านทาง Facebook Live : MEiD มีไอดี เพื่อสร้างการรับรู้และโชว์ยูสเคสการใช้งานดิจิทัล ไอดี กับบริการอี-เฮลธ์ที่ใช้งานได้จริง


น.ส.พลอย เจริญสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาตรฐานดิจิทัล และ Digital ID สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ETDA เดินหน้าสร้างการรับรู้ด้านมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือดิจิทัล ไอดี ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผ่านงานเสวนา ME(i)d Talk : The Secret of e-Health ซึ่งเป็นภาคต่อหลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการจัดงาน The Secret of Financial e-Transaction เกี่ยวกับภาคการเงินการธนาคารเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้ดิจิทัล ไอดีเป็นเครื่องมือสำคัญในการธุรกรรมการเงินต่างๆ กับสถาบันการเงิน ที่สำคัญคือประชาชนมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย จึงต้องมีมาตรฐานเพื่อเป็นกรอบในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงิน


ทั้งนี้ นอกจากภาคการเงินแล้ว ภาคการแพทย์และสาธารณสุขก็เป็นอีกบริการหนึ่งที่เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านการใช้บริการอยู่ในรูปแบบอี-เฮลธ์ ที่คนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการมาพบแพทย์และลดความหนาแน่นของพื้นที่ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 คนไข้ในบางกลุ่มไม่จำเป็นต้องพบแพทย์โดยตรง แต่สามารถรับคำปรึกษา หรือรักษาทางไกลเบื้องต้นได้ผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันทางการแพทย์ต่างๆ ทำให้บริการอี-เฮลธ์ประเภทต่างๆ เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ทว่าบริการ อี-เฮลธ์ยังคงไม่ได้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในการใช้บริการของผู้ใช้ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ ทั้งในแง่ของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อเข้ารับการรักษาหรือการเข้าใช้บริการอื่นๆ รวมถึงยังไม่มั่นใจในการรับคำปรึกษาและรับการรักษาทางออนไลน์ที่ไม่ได้พบแพทย์โดยตรง

ดังนั้น เมื่อมีการพบแพทย์และดำเนินการทางสาธารณสุขในรูปแบบดิจิทัลเกิดขึ้น ผู้ใช้บริการบางส่วนจึงยังมีข้อกังวลในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ที่ค่อนข้าง Sensitive ทำให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล หรือดิจิทัล ไอดีมีความสำคัญมากกับบริการอี-เฮลธ์ เพราะไม่เพียงทำให้มั่นใจว่า ผู้ที่เข้าใช้บริการเป็นใคร เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นๆ หรือไม่ แต่ยังทำให้มั่นใจได้ว่าทุกกระบวนการทางด้านการแพทย์หรือทางด้านสุขภาพที่เข้ารับบริการนั้นได้พบกับแพทย์ตัวจริง และเกิดความเชื่อถือในกระบวนการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเบิกจ่าย ชำระเงิน การออกใบเสร็จ ที่สามารถยืนยันตัวตนได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย ETDA จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างมาตรฐานดิจิทัล ไอดี รวมถึงควบคุมมาตรฐานของการออกดิจิทัล ไอดีของผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ETDA กำหนด ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลสามารถกำหนดระดับความเข้มข้นในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของผู้ใช้งานได้ เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของบริการ เช่น บริการที่มีความเสี่ยงน้อย อาจใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่บริการไหนที่มีความสำคัญเสี่ยงมากอาจต้องยืนยันผ่านการถ่ายรูปคู่บัตรประชาชน ไปจนถึงการใช้ระบบไบโอเมตริก เช่น การสแกนลายนิ้วมือ การสแกนใบหน้า เป็นต้น

“ดิจิทัล ไอดีจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกความกังวลของการใช้บริการอี-เฮลธ์ได้ เพราะหากกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเป็นไปตามที่มาตรฐาน ETDA กำหนด จะทำให้คนมั่นใจ และเชื่อใจในการใช้งานอี-เฮลธ์มากขึ้น และใช้กันอย่างแพร่หลายในที่สุด” พลอย กล่าว

ด้านศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมาย ETDA กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการ อี-เฮลธ์ ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรในปัจจุบัน คือ แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีการออกใบอนุญาตให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการเทเลเมดิซีนได้ แต่มีข้อจำกัดว่าการให้บริการนั้นจะต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาต และแพทย์ต้องเป็นผู้ให้บริการอยู่ในสถานพยาบาลนั้นๆ ขณะที่แนวโน้มความต้องการของการให้บริการอี-เฮลธ์ ไม่ควรจำกัดเฉพาะกับสถานพยาบาล เพราะปัจจุบันยังมีผู้พัฒนาแพลตฟอร์มอี-เฮลธ์ ที่ไม่ใช่สถานพยาบาลอีกจำนวนมากที่สามารถทำได้ ดังนั้น การสร้างและรับรองมาตรฐานดิจิทัล ไอดี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้ครบทุกกลุ่ม

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ไม่ได้เป็นโรงพยาบาล แต่เป็นสื่อกลางที่พัฒนาให้โรงพยาบาลหรือให้แพทย์ได้มาเจอกับคนไข้ ผ่านบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัยรักษา กลไกที่ต้องรองรับ คือ ต้องมีความน่าเชื่อถือทั้งเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ความมั่นคงปลอดภัยของระบบการเก็บรักษาข้อมูลคนไข้ การยืนยันตัวตนอย่างไรให้แน่ใจว่าเป็นคนไข้จริง แพทย์เป็นแพทย์จริงๆ ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนไข้เป็นสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม และต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ETDA จึงต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับ กระทรวงสาธารณสุขในการสร้างมาตรฐานการให้บริการอี-เฮลธ์


พลอย กล่าวต่อว่า “ในงานเสวนา หัวข้อ ME(i)d Talk : The Secret of e-Health ปลดล็อกการแพทย์ไทยสู่ยุคดิจิทัล ไอดี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ก.ย.2565 เวลา 14.00-16.00 น. ณ สำนักงาน ETDA อาคาร เดอะไนน์ทาวเวอร์ แกรนด์ พระราม 9 นี้ จะเล่าถึงความสำคัญของการมีและใช้ได้จริงของเทคโนโลยีดิจิทัล ไอดี เราเชิญผู้ให้บริการดิจิทัล ไอดีมาเจอกับผู้ให้บริการอี-เฮลธ์ เพื่อลดความกังวลของประชาชนในการใช้บริการ สร้างการรับรู้ผ่านกรณีศึกษาจากแอปพลิเคชันหมอพร้อม ของกระทรวงสาธารณสุข และแอปพลิเคชัน ทางรัฐ ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ซึ่ง DGA ถือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่พัฒนาและให้บริการ ดิจิทัล ไอดี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรัฐที่หลากหลาย เช่น สิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นการมีดิจิทัล ไอดี จึงไม่ได้เพียงแค่มีไว้เก็บในโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันด้วย


สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและเข้าร่วมงานได้ฟรี กับ The Secret of e-Health: ปลดล็อกการแพทย์ไทย ด้วยดิจิทัลไอดี ได้ในวันที่ 2 กันยายน 2565 เวลา 14.00-16.00 น. ที่เพจเฟซบุ๊ก MEiD มีไอดี https://www.facebook.com/meid.thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น