xs
xsm
sm
md
lg

LINE Shopping ยังเมินค่าคอมมิชชัน ลุยใช้ประโยชน์ฐานแฟนยิ่งขึ้นปีหน้า (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไลน์ ช้อปปิ้ง (LINE Shopping) เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซที่แอปพลิเคชันแชตยอดฮิตอย่างไลน์ (LINE) เปิดให้บริการเฉพาะในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2562 ในเวลาไม่กี่ปี ไลน์ ช้อปปิ้งยกตัวเองเป็นผู้นำตลาดซื้อขายสินค้าบนเครือข่ายสังคมอันดับหนึ่งในแดนสยาม ด้วยจำนวน 436,000 ร้านที่เปิดขายสินค้ากับไลน์ ดีกรีนี้ทำให้น่าตื่นเต้นมากเมื่อไลน์ ช้อปปิ้ง ประกาศวิสัยทัศน์ว่าจะรุกหนักด้วยฟีเจอร์ “โซเชียลเซลล์” (Social Sale) เพื่อให้ร้านค้าใช้ประโยชน์กับฐานแฟนที่ไปชักชวนมา “แอดไลน์ร้าน” ได้แบบจริงจังยิ่งขึ้นอีกในปีหน้า

นัยของวิสัยทัศน์นี้คือ ไลน์ ช้อปปิ้งจะปั้นบิสิเนสโมเดลใหม่ที่ช่วยให้ร้านค้าในไทยที่ต้องการสร้างยอดขายใหม่ สามารถซื้อโฆษณาอีกประเภทหนึ่งที่ “เหมือนไม่ใช่โฆษณา” ได้โดยที่ยังคงไม่เข้าไปแตะต้อง “ค่าคอมมิชชัน” หรือค่าส่วนแบ่งจากการขายสินค้าและบริการเหมือนในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วไป ขณะเดียวกัน จุดยืนของไลน์ ช้อปปิ้งยังอยู่ที่การไม่โฟกัสกับแคมเปญดับเบิลเดย์เช่น 8.8 หรือวันที่ 8 เดือน 8 ซึ่งเพิ่งผ่านไป เพราะต้องการให้แบรนด์หรือร้านค้าสามารถขายได้ทุกวัน ไม่ใช่ขายได้เพียง 1 วันในแต่ละเดือน

436,000 ร้านไทย เปิดขายสินค้ากับไลน์
หลักคิดนี้สำคัญกับอนาคตของซีโฮลดิ้งส์ (Z Holdings) บริษัทแม่ซึ่งพาไลน์เข้าสู่เฟสที่ 3 ของการพัฒนาบริษัท โดยช่วงระยะแรก (ปี 2011-2015) ไลน์เน้นสร้างรายได้จากธุรกิจสติกเกอร์ เกม และโฆษณา จนมาเฟสที่ 2 (ปี 2016-2018) บริษัทเน้นขยายธุรกิจโฆษณาแบบดิสเพลย์ และล่าสุดคือเฟสที่ 3 (2019-ปัจจุบัน) ที่ไลน์โฟกัสกับการมองหาพื้นที่ธุรกิจใหม่ในตลาดโฆษณา รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ด้านการเงิน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และคอมเมิร์ซโมเดลใหม่คู่ไปด้วย

แผนพัฒนาเหล่านี้มาถูกทางเพราะไลน์สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 26% ในช่วงโควิด-19 เป็น 2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 หรือ 84,388 ล้านบาท (ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา) โดยมีกำไรสุทธิ 110 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ซึ่งเป็นกำไรครั้งแรกในรอบหลายปี สถิติปี 2564 ชี้ว่ามีผู้ใช้ไลน์กว่า 178 ล้านคนในตลาดหลัก 4 แห่งของโลก ในจำนวนนี้มากกว่า 92 ล้านรายอาศัยในญี่ปุ่น และ 53 ล้านรายในประเทศไทย ขณะที่ 21 ล้านรายอยู่ในไต้หวัน และ 10 ล้านรายในอินโดนีเซีย

  เลอทัด ศุภดิลก
สำหรับประเทศไทย การสำรวจจากฟิวเจอร์ ชอปเปอร์ (Future Shopper) หรือเทรนด์ชอปปิ้ง จากวันเดอร์แมน ธอมสัน ในปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซสูงสุดในโลกอยู่ที่ 88% โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้นมาจากความง่ายในการซื้อ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจมากกว่าราคาหรือการทำโปรโมชัน ขณะที่คนไทย 95% ยืนยันว่าการชอปปิ้งออนไลน์มีส่วนเข้ามาช่วยเรื่องการใช้ชีวิตช่วงเกิดโควิด-19 ในปี 2564 ส่งผลให้การชอปปิ้งออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด และปัจจุบันแซงหน้าการชอปปิ้งออฟไลน์ไปแล้ว โดยในปี 2565 สัดส่วนของชอปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65% จากปี 2564 ที่มีสัดส่วน 35% และมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง

***แอดไลน์คุยกับร้าน พาเทรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซบูม


เลอทัด ศุภดิลก ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เทรนด์การซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซยังคงได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจากเป็นรูปแบบการซื้อขายที่สะดวก รวดเร็ว มีขั้นตอนที่ง่าย และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ผ่านช่องทางแชต ส่งผลให้มีการเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มไลน์ ช้อปปิ้งสูงขึ้น 90% จากปีที่แล้ว และมีการเติบโตของยอดขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม (GMV) สูงขึ้นถึง 45%

“กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ไลน์ ช้อปปิ้งยังคงโฟกัสที่การดึงผู้ขายมาเปิดร้าน พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้ไลน์ ช้อปปิ้งมีฐานะเป็นเครื่องมือของร้านค้าที่มีฐานแฟน ให้สามารถขายของได้ในช่องทางสื่อสารของตนเอง” เลอทัด ระบุ “เราเตรียมปล่อยฟีเจอร์ใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ และยังช่วยร้านค้ากระตุ้นยอดขาย จะมีกิจกรรมทางการตลาด โปรโมชัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ ผ่านการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การแจกพอยนต์เพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า โปรโมชันรวมกับร้านค้าต่างๆ เป็นต้น”

เลอทัด ย้ำว่าไลน์ ช้อปปิ้งไม่มีคู่แข่งโดยตรงในวงการโซเชียลคอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่แตกต่างทั้งในส่วนผู้ขายและเทคนิคการขาย รายได้หลักจากไลน์ ช้อปปิ้งยังคงมาจากโฆษณา ผ่านบริการไลน์ ออฟฟิศเชียล แอ็กเคานต์ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้ากว่า 5 ล้านรายที่ลงทุนซื้อจำนวนข้อความเพื่อส่งให้ฐานแฟนคลับที่มีในมือ เป็นการจ่ายค่าโปรโมตที่ร้านสามารถทำได้กับผู้ที่ให้ความยินยอม


ทั้งหมดนี้ทำให้ชัดเจนว่าธุรกิจของไลน์ ช้อปปิ้งซึ่งเป็นธุรกิจในฐานเดียวกับ “ไลน์แอดส์” (LINE Ads) จะไม่มีการเรียกเก็บค่าคอมมิชชันในเร็ววันนี้ เพราะนี่คือจุดขายที่ไลน์เชื่อว่าจะโดนใจกลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่มีฐานแฟนอยู่แล้วในมือ

“จุดแข็งของไลน์ ช้อปปิ้ง คือทุกคนมีเพื่อนบนเครือข่ายอยู่แล้ว ร้านค้ามีฐานแฟนคลับแล้ว เราจะเป็นเครื่องมือให้คนกลุ่มนี้ขายของได้ทุกวัน เช่น บริษัททัวร์ที่ยังออกทัวร์ไม่ได้ อาจจะขายอย่างอื่นไปก่อน อย่างการขายขนมจากฝรั่งเศส ตอนนี้ไลน์ ช้อปปิ้งมีบริการเครื่องมือจัดการหลังบ้าน มีเครื่องมือทำให้คนซื้อมาเจอร้านค้า แก้ปัญหาคนไม่เจอร้านใหม่จากที่ซื้อร้านเฉพาะอยู่แล้ว”

เลอทัด อธิบายว่า เนื่องจากความเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ ผู้ใช้ไลน์ ช้อปปิ้งจึงมักเสิร์ชค้นหาชื่อร้านค้าหรือบริการ ไม่ใช่เสิร์ชด้วยประเภทสินค้า ทำให้ปริมาณการเสิร์ชที่เติบโตเร็วมาจากร้านค้าของอินฟลูเอนเซอร์ ดังนั้น ไลน์ ช้อปปิ้งจึงวางแผนผลักดันโซเชียลเซลล์อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นในปีหน้า เพื่อให้ผู้ค้าสามารถ “ใช้ประโยชน์กับฐานแฟน” ได้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในการแนะนำร้านที่ตรงใจ ซึ่งจะคำนึงจากความเชื่อมโยงของพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ผู้ซื้อ เช่น ผู้คนที่ซื้อรองเท้าร้าน A มีโอกาสไปซื้อกาแฟที่ร้าน B สูง

“ถ้าผู้ใช้แสดงความยินยอม ไลน์จะสามารถเสนอร้านได้เป็นบิสิเนสโมเดลใหม่ที่จะสร้างขึ้นมา ถ้าร้านค้าต้องการสร้างยอดขายใหม่ จะสามารถซื้อโฆษณาอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่โฆษณา” เลอทัด ย้ำ “ไลฟ์ก็ไม่หมดมนต์ขลัง จะยังต้องอยู่ในโซเชียลเซลล์แน่นอน ที่ผ่านมาร้านต้องใช้เครื่องมือภายนอก แต่ไลน์จะทำเป็นเครื่องมือภายในและปรับนำเข้ามาใหม่ในปี 2023”

ในช่วงที่เปิดให้บริการมา มีผู้ใช้สุดแอ็กทีฟพิมพ์ค้นหาร้านค้าบนไลน์ ช้อปปิ้งเกิน 40 ร้านค้าต่อเดือน ยอดสั่งซื้อเกิน 600 ออเดอร์ และล่าแต้มส่วนลดได้เกิน 5 หมื่นพอยนต์ต่อราย
ปัจจุบัน ผู้ใช้บริการไลน์ ช้อปปิ้งมีจำนวน 12 ล้านรายต่อเดือน เชื่อว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีกเพราะผู้ขายจะชักชวนผู้ซื้อให้เข้าสู่แพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยร้านค้าราว 80% เป็นร้านค้ารายย่อยที่ผลิตเองและจำหน่ายเอง หลายรายไม่มีหน้าเว็บไซต์ของตัวเอง สัดส่วนใหญ่คือกลุ่มค้าปลีกอาหาร รองลงมาเป็นสินค้าแฟชั่นในพื้นที่ และกลุ่มสินค้าสุขภาพความงาม คาดว่าปีหน้ายอดร้านค้าจะเติบโตขึ้นอีก 30% จากที่มีอยู่แล้วเกิน 4 แสนร้าน เบื้องต้นพบว่าประเภทสินค้าที่มีการเติบโตสูงสุดคือหมวดแม่และเด็ก นำหน้าหมวดสินค้าของตกแต่งบ้าน และหมวดอาหาร-เครื่องดื่มที่นิยมรองลงมา ซึ่งไม่แน่ ความร้อนแรงอันดับ 1 ของหมวดแม่และเด็กอาจเกี่ยวข้องโดยตรงกับดีลของไลน์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เข้าถือหุ้นบริษัทเดอะพาเรนท์ ผู้สร้างเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “ดิเอเซียนพาเรนท์” (theAsianparent) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าแม่และเด็กรายใหญ่ของอาเซียนก็ได้

***ขาย 10 ล้านบาทใน 20 นาที


เลอทัดเล่าถึงสถิติน่าสนใจว่า ผู้ขายสินค้าแม่และเด็กบนไลน์ ช้อปปิ้งที่มีความสนิทสนมกับกลุ่มคุณแม่ สามารถจำหน่ายสินค้าได้นับ 10 ล้านบาทในเวลา 15-20 นาที นอกจากนี้ อีกพฤติกรรมที่ขายดีคือการจำหน่ายสินค้าให้ฐานแฟนของศิลปินโดยเฉพาะสินค้าใหม่จากผู้จัดงานคอนเสิร์ต โดยร้านที่ออกสินค้าใหม่มักจะมียอดขายสูง 2 เท่า ทำให้ไลน์ ช้อปปิ้งต้องคอยมอนิเตอร์ร้านเหล่านี้เพื่อทำโปรโมชันร่วมกัน

สถิติจากไลน์ยังระบุอีกว่า ร้านใดที่มีฐานแฟนเกิน 100 คน จะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ทุกเดือน โดยในช่วงที่เปิดให้บริการมา มีผู้ใช้สุดแอ็กทีฟพิมพ์ค้นหาร้านค้าบนไลน์ ช้อปปิ้งเกิน 40 ร้านค้าต่อเดือน ยอดสั่งซื้อเกิน 600 ออเดอร์และล่าแต้มส่วนลดได้เกิน 5 หมื่นพอยนต์ต่อราย

ในช่วงที่เปิดให้บริการมา มีผู้ใช้สุดแอคทีฟพิมพ์ค้นหาร้านค้าบนไลน์ ช้อปปิ้งเกิน 40 ร้านค้าต่อเดือน ยอดสั่งซื้อเกิน 600 ออเดอร์และล่าแต้มส่วนลดได้เกิน 5 หมื่นพ้อยท์ต่อราย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของไลน์ ช้อปปิ้งคือการจัดงานใหญ่ประจำปี “Social Commerce Day 2022 สปาร์คพลังใจ เติมไฟธุรกิจออนไลน์” จุดประสงค์ของงานคือเพื่อเติมเต็มศักยภาพร้านค้าออนไลน์ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนไลน์ ช้อปปิ้ง โดยจะมีการปล่อยฟีเจอร์ใหม่และมีเวทีสัมมนาให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาในวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2565 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 

“เราอยากทำให้ร้านมีความสามารถในการแข่งขัน มั่นใจว่าทุกร้านทำได้ เพียงมีฐานแฟน งานนี้เคยจัดก่อนช่วงโควิด ธีมงานปีนี้คือการทำให้คนมีกำลังใจ เพราะทุกคนเจอสถานการณ์ที่เปลี่ยนผันหลายอย่าง อยากให้ร้านรู้จักกัน เป็นเวทีให้เกิดการแชร์กรณีศึกษา เพราะจุดสำคัญของโซเชียลคอมเมิร์ซ คือการคุยและการดูแลลูกค้าซึ่งต้องฝึกฝนให้ดี”

เลอทัด ทิ้งท้ายว่าไลน์ ช้อปปิ้งยังไม่ตั้งเป้าหมายธุรกิจกับการเชื่อมโยงให้ร้านค้าบนไลน์ ช้อปปิ้งได้รู้จักกัน โดยยืนยันว่างานนี้จะยังมีเอกลักษณ์เรื่องเซลเลอร์มาร์เกต หรือการเชิญร้านขายดีมาร่วมจำหน่ายสินค้า ขณะเดียวกัน จะมีทีมสอนการขายและชักชวนมาเปิดร้านในไลน์ ช้อปปิ้ง รวมถึงสร้างการรับรู้ว่าไลน์ ช้อปปิ้งจะยังเป็นแพลตฟอร์ที่ไร้ค่าคอมมิชชัน และทุกร้านจะสามารถใช้ประโยชน์จากฐานแฟนได้ยิ่งขึ้นอีกในปีหน้า

งานใหญ่ประจำปี “Social Commerce Day 2022


กำลังโหลดความคิดเห็น