xs
xsm
sm
md
lg

Veeam คว่ำ Dell ดันธุรกิจสำรองข้อมูลโตแรง หวั่นการเมืองไม่นิ่งทำตลาดไอทีไทยซบเซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วีม (Veeam) เฮขึ้นเบอร์หนึ่งตลาดโซลูชั่นบริหาร-จัดเก็บ-กู้คืนข้อมูล ระบุเหนือกว่าเจ้าตลาดอย่างเดลล์ (Dell Technologies) ในแง่การเติบโตแบบไม่เห็นฝุ่น ชี้ปัจจัยบวกพาไทยมีมาร์เก็ตไซส์โตอันดับ 1 ในภูมิภาค วางเป้าหมายในตลาดไทยที่การเพิ่มรายได้และพันธมิตร ยอมรับเห็นความท้าทายเรื่องความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยที่อาจทำให้การลงทุนโปรเจ็กต์ใหญ่ในประเทศหยุดชะงักช่วงปีหน้า

นายเบนิ เซีย รองประธานประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี บริษัท Veeam กล่าวระหว่างการจัดงาน VeeamOn Forum Thailand เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า Veeam เป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตต่อปี 14.8% ถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในบรรดาคู่แข่งทุกราย โดยเฉพาะเดลล์ที่มีอัตราการเติบโตลดลง -10.9% คาดว่าจะทำให้ Veeam ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดระบบปกป้องข้อมูลในแง่รายได้และส่วนแบ่งตลาด

"ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเติบโต คือ Veeam เป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการระบาด เนื่องจากสถานการณ์หลังการระบาดบีบบังคับให้ผู้คนใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ซึ่งต้องมีการสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่ โดยข้อมูลเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินการของธุรกิจ ดังนั้น ระบบสำรองและกู้คืนข้อมูลจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นของแถม แต่กลายเป็นสิ่งที่จะถูกนึกถึงและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก"

เบนิ เซีย
Veeam ระบุว่าตัวเองเป็นผู้นำตลาดโซลูชั่นการปกป้องข้อมูลที่มีความทันสมัย และได้รับการยกย่องจาก IDC ให้ขึ้นเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นระดับ T1 จากผลสำรวจ IDC Semi-Annual Software Tracker: Data Replication & Protection โดยจัดเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตไวที่สุดแบบปีต่อปี และยังได้รับการจัดอันดับจาก Gartner Magic Quadrant ให้เป็นผู้นำตลาดด้าน Enterprise Backup & Recovery Solutions ถึง 6 สมัย

ส่วนแบ่งการตลาดของ Veeam จากทั่วโลกคือ 11.7% ไล่ติดกับ Dell ที่มี 12.0% นำหน้าเวอริทัส (Veritas) และไอบีเอ็ม (IBM) ที่เป็นคู่แข่งในตลาด สถิติยอดลูกค้าทั่วโลกมากกว่า 4.5 แสนราย จาก 180 ประเทศ

Veeam ทำส่วนแบ่งการคลาดไล่ติดกับ Dell นำหน้าคู่แข่ง Top 5 ในตลาด
ผลประกอบการของ Veeam มีการเติบโตเป็นเลข 2 หลักหรือ double-digit ถึง 18 ไตรมาสต่อเนื่อง โดยมีผลกำไรแบบ ARR จากทั่วโลกอยู่ที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 27 โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ซึ่งเป็นไตรมาสที่ 18 ของการเติบโตอย่างต่อเนื่องมีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 22 ขณะที่การเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น Veeam มีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 32 และร้อยละ 27 เฉพาะไตรมาสที่ 2 ปี 2565 โดยมีสัดส่วนลูกค้าใหม่เข้ามาที่ร้อยละ 31 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ซึ่งการเติบโตของภูมิภาคเอเชียแปซิกและญี่ปุ่นนี้กล่าวได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนมีตัวเลขการเติบโตเฉพาะภูมิภาควิ่งแซงหน้าการเติบโตในระดับโลก

นายเจษฎา ภาสวรวิทย์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กล่าวถึงผลสำเร็จของธุรกิจในประเทศไทยว่า จากออเดอร์แรกในปี 2005 และช่วงที่ Veeam มีพนักงานไทยคนแรกในปี 2015 บริษัทสามารถเติบโตก้าวกระโดดตลอด 7 ปีที่ดำเนินธุรกิจจริงจังในไทย โดยไทยถือเป็นฐานตลาดที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์ในมุมของ business size มีลูกค้าที่นำซอฟต์แวร์ของ Veeam มาใช้งานในระบบมากกว่า 400 องค์กร

"ปัจจุบัน Veeam มีการเติบโตแบบ double-digit ทั้งในปีงบประมาณ 2564 และในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 และมีพันธมิตรมากกว่า 400 ราย และมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในด้านกำลังคนโดยมีการเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นมาถึงร้อยละ 62 ในช่วงปี 2561 – 2565 และมีลูกค้าที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทิพยประกันภัย และ TRC ซึ่งโซลูชั่นการบริหารจัดการ การจัดเก็บและกู้คืนข้อมูลของ Veeam ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าเหล่านี้สามารถประสบผลสำเร็จจากความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญได้"

แนวทางการลงทุนของบริษัทในช่วง 5 ปีหลังสุดคือการลงทุนด้านบุคลากร สำหรับปีนี้บริษัทสามารถดึงองค์กรใหญ่เข้ามาเป็นลูกค้าเพิ่มเติมได้มากกว่า 4 ราย คาดว่าปีหน้า Veeam จะมีการเติบโตต่อเนื่องครอบคลุมองค์กรทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในทุกขนาด เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายด้านที่ผลักดันให้องค์กรต้องให้ความสำคัญกับระบบสำรองและกู้คืนข้อมูล

เจษฎา ภาสวรวิทย์
ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร Veeam เจษฎาให้คำมั่นว่าจะลงทุนและทำกิจกรรมพัฒนาคู่ค้าให้แข็งแรง ขณะเดียวกันก็จะมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาให้นักศึกษาสามารถเข้าใจและนำโซลูชั่นไปใช้งานได้จริง โดยปัจจุบันตลาดระบบปกป้อง สำรอง และกู้คืนข้อมูลมีมูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมทั้งระบบเก็บข้อมูลทางกายภาพและบนระบบคลาวด์ ซึ่งมีการขยายตัวสูงมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของตลาดไทย กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้แล้วถือเป็นส่วนส่งเสริมให้ธุรกิจ Veeam มีการขยายตัวสูงในไทย ล่าสุด Veeam ใช้กลยุทธ์ในการเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยซึ่งมีการใช้ Veeam เป็นระบบสำรองและกู้คืนข้อมูลอยู่แล้ว คาดว่าพันธมิตรธุรกิจในส่วนนี้จะมีการขยายตัวไม่แพ้พันธมิตรกลุ่มธุรกิจ SI หรือผู้วางระบบไอที เนื่องจากระบบของ Veeam สามารถลดต้นทุนในการดูแลระบบ และช่วยให้ operator ผู้ให้บริการคลาวด์สามารถนำระบบ Veeam ไปใช้โดยไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญและไม่ต้องการการดูแลมากนัก ในราคาที่สมเหตุสมผล

ปัจจุบัน Veeam มีการเติบโตแบบ double-digit ทั้งในปีงบประมาณ 2564 และในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 และมีพันธมิตรมากกว่า 400 ราย
ในภาพรวม เจษฎาระบุว่าได้วางเป้าหมายการดำเนินงานหลักไว้ที่การขยายฐานรายได้และพันธมิตร ซึ่งมั่นใจว่าปัจจุบันได้ขยายตัวเกินครึ่งจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยบริษัทเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม SI แล้วมากกว่า 300 ราย คาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10% นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรในรูปแบบ oem ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายฐานรายได้ให้บริษัทได้อีกต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองเห็นความท้าทายในตลาดไทย นั่นคือความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การหยุดชะงักของงบประมาณการลงทุนของรัฐบาล จุดนี้ผู้บริหารระบุว่าอาจเกิดผลกระทบต่อทุกบริษัทที่จำหน่ายระบบไอทีในโครงการใหญ่ของรัฐในช่วงปีหน้า

ด้านเรย์มอนด์ โกะ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมระบบ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ของ Veeam กล่าวถึงแนวโน้มต่อไปของเทคโนโลยีสำรองและกู้คืนข้อมูล Veeam ระบุว่าคือการ reuse ข้อมูล หรือการนำข้อมูลกลับมาใช้ใหม่ แนวโน้มนี้นำไปสู่การติดตั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในซอฟต์แวร์ของ Veeam ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับระบบปัญญาประดิษฐ์และ machine learning เพื่อใช้ประโยชน์จากการค้นหาไฟล์ข้อมูลที่มีอยู่ให้มากขึ้น

เรย์มอนด์ โกะ
นอกจากนี้แนวโน้มการขยายตัวของ blockchain ซึ่งมีการสำรองข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ยังทำให้เทคโนโลยีในการสำรองและกู้คืนข้อมูลต้องขยายการทำงานให้ครอบคลุมมากกว่าการปกป้อง โดยต้องสามารถตรวจสอบในลักษณะการยืนยันข้อมูล ถือเป็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งต้องมีพื้นฐานและการป้องกันที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม blockchain ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ซึ่งหลายหน่วยงานในหลายประเทศยังไม่แน่ใจว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ดังนั้นหลายฝ่ายจึงดำเนินการศึกษาใกล้ชิดในขณะนี้ เช่น สิงคโปร์ที่มีการใช้ blockchain กับตลาดเหรียญดิจิทัลแล้ว ซึ่งแม้ blockchain จะเป็นระบบที่มุ่งกระจายการตรวจสอบ แต่หน่วยงานสิงคโปร์ก็ยังต้องการกำกับดูแลและตรวจสอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังย้อนแย้งอยู่พอสมควร

สำหรับงาน VeeamOn Forum Thailand เป็นงานประชุมแบบออนไซต์ที่จัดขึ้นหลังจากเว้นวรรคไป 3 ปีช่วงโควิด ที่ผ่านมา VeeamOn มักจะจัดขึ้นที่ลาสเวกัส แต่ปีนี้มีการขยายมาจัดใน 2 ประเทศของเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ประเทศไทยและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตสูงเป็นพิเศษ ล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากกว่า 800 คน สูงกว่างานในครั้งก่อนหน้าที่มีผู้ลงทะเบียน 600 คน.


กำลังโหลดความคิดเห็น