จากจุดเริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเป็น SI (System Integrator) ในการเข้าไปติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งกล้องวงจรปิด ห้องควบคุม จนถึงสัญญาณเตือนภัยต่างๆ ทำให้ SKY เริ่มมีความเชี่ยวชาญในด้านของการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับซิเคียวริตีเข้ามาให้บริการแก่ลูกค้า
ขณะเดียวกัน ก็เห็นถึงโอกาสในการนำนวัตกรรมทางด้านความปลอดภัยที่สามารถนำมาต่อยอดสู่การให้บริการเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร ทำให้จากพนักงาน 5 คนในช่วงก่อตั้งบริษัท มาจนถึงปัจจุบันที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้น
โดยธุรกิจในช่วงแรกของ SKY คือการรับหน้าที่เข้าไปติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยทั้งในสนามบิน ก่อนเริ่มนำเทคโนโลยี RFID เข้ามาให้บริการรถเข็นในสนามบิน ต่อเนื่องมายังเป็นผู้ติดตั้งโครงข่ายสื่อสารไร้สาย (Wi-Fi) รวมถึงโครงการอย่าง USO Net ในการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation)
ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงปี 2017 ที่เริ่มเข้าไปลงทุนใน ‘จีฟินน์’ (GFIN) เข้ามาจับธุรกิจโซลูชันกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยเต็มตัว ก่อนที่ในปัจจุบัน GFIN ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ SKY หลังเพิ่มทุนเข้าถือหุ้นใน GFIN 99.99%
ปัจจุบัน GFIN ถือเป็นหนึ่งในแกนหลักของธุรกิจ SKY เนื่องจากเป็นทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์กล้องวงจรปิดอย่าง TOSSAKAN ต่อเนื่องมายังแอปพลิเคชันบริหารจัดการผู้มาติดต่ออย่าง VIMARNN ทำให้สามารถขยายธุรกิจออกไปได้กว้างขึ้น
ส่วนในภาพของผู้บริโภคทั่วไป GFIN ถือเป็นผู้ให้บริการศูนย์ควบคุมสั่งการกล้องวงจรปิดกว่า 70,000 ตัว ในกรุงเทพฯ ด้วยการนำจุดแข็งในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกล้องวงจรปิดหลากหลายประเภทเข้ามาบริหารจัดการในที่เดียว
สิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางธุรกิจของ SKY จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้จากการให้บริการเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากรายได้จากโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่นับเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ต่อเนื่องให้แก่ SKY
โดยปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของ SKY Group จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ SKY ICT จะดูแลธุรกิจเกี่ยวกับสนามบินทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันจะครอบคลุมทั้งระบบรักษาความปลอดภัยกล้องวงจรปิดในท่าอากาศยาน ที่ขยายไปยังการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า เพื่อควบคุมการตรวจคนเข้าเมือง การให้บริการรถเข็นกระเป๋า รวมถึงโครงการบริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) และบริการและบำรุงรักษาระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) ซึ่งจะขยายให้ครอบคลุมสนามบินทั้งในฝั่งของกรมท่าอากาศยาน และท่าอากาศยานไทย
ถัดมาคือ โปร อินไซด์ (Pro Inside) ที่จะครอบคลุมการให้บริการด้านบริหารโครงการ การติดตั้ง การดูแลและบำรุงรักษา หรือก็คือธุรกิจ SI เดิม ที่เข้าไปติดตั้งระบบตามโปรเจกต์ต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ซึ่งนับเป็นบริษัทย่อยที่สร้าง Cash Cow ให้แก่ SKY
ต่อด้วย GFIN ที่จะเน้นให้บริการโซลูชันรักษาความปลอดภัยผ่านแพลตฟอร์ม TOSSAKAN และระบบบริหารจัดการผู้มาติดต่อ VIMARNN ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากสามารถขยายไปยังภาคธุรกิจเอกชนได้ทั้งกลุ่มค้าปลีก โรงงานผลิต จนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
สุดท้ายคือฝั่งของแอสโตร โซลูชั่นส์ (Astro Solutions) ที่จะเข้ามาเสริมในฝ่ายขายและการทำตลาดในแง่ของการท่องเที่ยวในการผลักดันแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT ของทาง SKY ที่มีแผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมนี้
นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปลงทุนในบริษัทร่วมทุนและการค้าร่วมอย่าง TKC (เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส) และเอสเอแอล กรุ๊ป (SAL) ที่ลงทุนใน AOTGA หรือบริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการเปิดประเทศ มาตรการภาครัฐที่ผ่อนคลายลง และปริมาณเที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อกลับมาดูถึงสัดส่วนรายได้ธุรกิจของ SKY ในไตรมาส 2/2565 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า รายได้จากการจำหน่ายและวางระบบแบบเบ็ดเสร็จที่แต่เดิมเป็นรายได้หลักนั้นปรับลดลงมาอยู่ที่ 45.94% ในขณะที่รายได้จากการให้บริการปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 51.44% ส่วนรายได้จากการขายอยู่ที่ 2.62% นับว่าเป็นทิศทางที่ชัดเจนว่า SKY ได้ก้าวพ้นจากการเป็น SI สู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีได้เรียบร้อยแล้ว
***ก้าวต่อไปคือ Tech Company
จากการทำธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา SKY ได้เรียนรู้แล้วว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจโครงสร้างเดิมสามารถเปลี่ยนผ่านมาเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลได้ ยิ่งทำให้เกิดความสนใจในเทคโนโลยีมากขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาได้เข้าไปทำงานร่วมกับพันธมิตรทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นโอกาสในการผลักดันให้ SKY ก้าวสู่การเป็น Tech Company
โดยในการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นจะเกิดขึ้นผ่านกลยุทธ์ Connecting Thailand ที่จะเน้นการพัฒนาใน 3 แกนหลัก ประกอบด้วย 1.Advance Tech ด้วยการนำเทคโนโลยีที่มีคุณภาพจากพันธมิตรระดับโลกเข้ามาให้บริการในประเทศไทย ตามด้วย 2.AI Empower นำโซลูชัน AI ด้านเทคโนโลยีประมวลผลภาพทั้งการตรวจจับใบหน้า การจับภาพเคลื่อนไหว จนถึงเทคโนโลยี OCR ที่เป็นพื้นฐานในการยืนยันตัวตนผู้ใช้งานใหม่ผ่านทางออนไลน์มาให้บริการแก่ภาคธุรกิจ
สุดท้ายคือการพัฒนาบุคลากร Talent ที่เข้าไปสนับสนุนตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย เปิดให้ทุนการศึกษา พร้อมรับเข้ามาฝึกงานเพื่อให้ได้เห็นสถานการณ์แข่งขันที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงการลดช่องว่างระหว่างวัยของบุคลากรภายในองค์กร ด้วยการเพิ่มการสื่อสารที่ชัดเจน ทำให้วัฒนธรรมภายในองค์กรมีความสมัยใหม่มากขึ้น
สิทธิเดช กล่าวถึงความท้าทายของ SKY ที่เกิดขึ้นคือการแข่งขันกับตัวเองมากกว่า ในการที่จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้พร้อมกับการเผชิญวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น และต้องยิ่งมั่นใจในการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสในการทำธุรกิจต่อไป
พร้อมยกตัวอย่างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ว่ารายได้หลักของบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะหายไป แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าในอนาคตหลังวิกฤตจะกลับมา ทำให้ SKY เข้าไปลงทุนใน SAL ซึ่งประกอบกิจการให้บริการภาคพื้นอากาศยาน และผู้โดยสารในขอบเขตของท่าอากาศยานไทย
ส่งผลให้ในปัจจุบันพื้นที่การดูแลเกี่ยวกับธุรกิจสายการบินของ SKY ICT ขยายครอบคลุมทั้งกรมท่าอากาศ และ AOT ที่นับเป็นการลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เตรียมที่จะก่อให้เกิดรายได้หลังจากการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา หรือการเพิ่มทุนใน GFIN ก็ถือเป็นอีกการลงทุนที่มาเป็นพื้นฐานในการให้บริการของ SKY ในเวลานี้
*** นำเทคโนโลยีเสริมการท่องเที่ยว
จะเห็นได้ว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นอีกธุรกิจที่ SKY เล็งเห็นแล้วว่ามีโอกาสที่จะสร้างรายได้มหาศาล จากการที่ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นหมุดหมายในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ดังนั้น เมื่อมีการเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงที่ผ่านมาข้อมูลจาก ททท. เผยว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 30-40% ในแต่ละเดือน และมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 70,000-80,000 คนต่อวันในช่วงไฮซีซันที่จะถึงนี้
ประกอบกับที่ผ่านมา SKY ได้พัฒนา SAWASDEE by AOT ที่วางเป้าหมายให้เป็นซูเปอร์แอปทางด้านการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติใช้งาน ด้วยการชูจุดเด่นของการเป็นแอปที่กลุ่มผู้ใช้งานมีกำลังซื้อสูง เพราะในอารมณ์ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพร้อมที่จะใช้จ่ายอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อทำงานร่วมกับพันธมิตรการท่องเที่ยวต่างๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เข้าถึงแต่ละท้องถิ่นได้ด้วย
เบื้องต้น SAWASDEE by AOT จะวางตัวเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้พันธมิตรสามารถเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว อย่างที่ปัจจุบันเริ่มทำงานร่วมกับ King Power ที่พร้อมนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย และธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีฐานข้อมูลของผู้ประกอบการร้านค้าทั่วประเทศมาเชื่อมนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงร้านค้าต่างๆ ได้สะดวกขึ้น เมื่อรวมกับความสามารถหลักเกี่ยวกับการดูข้อมูลการเดินทางต่างๆ จะสามารถก้าวสู่การเป็นซูเปอร์แอปได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ทาง SKY ยังมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาในแง่ของการแข่งขันกีฬาชกมวย ด้วยความร่วมมือกับทางจี เอส วี (GSV) ในการทำตลาดการแข่งขันในเวทีมวยราชดำเนินให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการแข่งขันมวยไทยให้มีมาตรฐาน อย่างการจัดลำดับ การนำ AI มาช่วยในการนับคะแนน
ส่งผลให้ธุรกิจมวยไทยมีความพรีเมียมมากขึ้น ค่าตั๋วที่นั่งต่างๆ ก็สามารถปรับขึ้นราคาได้ ทำให้เกิดรายได้ที่เข้าสู่วงการมวย ส่งต่อไปยังนักกีฬาที่จะมีรายได้สูงขึ้น สภาพการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นด้วย