xs
xsm
sm
md
lg

ETDA เผยพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตไทย Gen Y ใช้เน็ตสูงสุด 8 ชั่วโมง 55 นาที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ETDA (เอ็ตด้า) เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2565 เจาะลึกไลฟ์สไตล์คนไทย "ในวันที่ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้" พบ Gen Y กลับมาใช้เน็ตสูงถึง 8 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวัน เน้น Live Commerce ชนะขาด Gen Z แชมป์เก่าที่ปีนี้ใช้เน็ต 8 ชั่วโมง 24 นาทีต่อวัน

ภาพรวมคนไทยใช้เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน ส่วนใหญ่ใช้เน็ตเพื่อทำ e-Health (จองคิวขอรับบริการทางการแพทย์ออนไลน์) ติดต่อสื่อสารออนไลน์ ดูรายการโทรทัศน์/ดูคลิป/ดูหนัง/ฟังเพลงออนไลน์ ดู Live Commerce เพื่อซื้อสินค้า/บริการ และทำธุรกรรมทางการเงินทางออนไลน์ (e-Payment) ติด TOP 5 กิจกรรมยอดฮิต ส่วนข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐใช้เน็ตมากกว่าอาชีพอื่น สูงถึง 11 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน สะท้อนรัฐพร้อมสู่ดิจิทัลขั้นสุด!

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ETDA ได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย หรือ Thailand Internet User Behavior มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว โดยทศวรรษที่ผ่านมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการสำรวจต่อเนื่องทุกปี พบว่า กิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ กิจกรรมการติดต่อสื่อสารออนไลน์ กิจกรรมออนไลน์เพื่อความบันเทิง อย่างการดูหนัง ฟังเพลง กิจกรรรมการซื้อขายของออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน และการอ่านข่าว โพสต์บทความ หนังสือ ส่วนกิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มลดลงและอาจหายไปในอนาคต ได้แก่ การค้นหาข้อมูล search engine การรับส่งอีเมล เพราะปัจจุบัน คนมักค้นหาข้อมูลและรับส่งข้อมูล ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่นเดียวกับ กิจกรรมการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ เพลง ละคร เกม เพื่อเก็บไว้ดูย้อนหลัง ในอนาคตอาจไม่มีอีกแล้ว เพราะถูกแทนที่โดย Streaming ที่สามารถชมได้แบบ Real time และย้อนหลังได้ผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆ


จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2565 หรือ Thailand Internet User Behavior (IUB) 2022 ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 46,348 รายทั่วประเทศ กระจายตาม อายุ และจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ปีนี้ Gen Y (ช่วงอายุ 22-41 ปี) กลับมาครองแชมป์ ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 8 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวัน แซงหน้า Gen Z (อายุน้อยกว่า 22 ปี) อดีตแชมป์หนึ่งสมัย ที่ลงมาอันดับ 2 ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 24 นาทีต่อวัน ตามด้วย Gen X (ช่วงอายุ 42-57 ปี) 5 ชั่วโมง 52 นาทีต่อวัน และ Baby Boomers ขึ้นไป (ช่วงอายุ 58 ปีขึ้นไป) 3 ชั่วโมง 21 นาที ขณะที่ภาพรวม พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและเหนือ ใช้ไม่ต่างกันมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 59 นาทีต่อวัน 6 ชั่วโมง 45 นาทีต่อวัน และ 6 ชั่วโมง 17 นาทีต่อวัน ตามลำดับ ส่วนภาคใต้ ใช้น้อยสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน

เมื่อพิจารณาตามอาชีพพบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมาก เพราะข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐติดอันดับ 1 ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ รวมถึงความพร้อมของบุคลากรภาครัฐในการยกระดับการทำงานสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Office มากขึ้น รองลงมาคือ นักเรียน/นักศึกษา 8 ชั่วโมง 57 นาทีต่อวัน ฟรีแลนซ์ 7 ชั่วโมง 40 นาทีต่อวัน เจ้าของกิจการ ธุรกิจส่วนตัว 7 ชั่วโมง 29 นาทีต่อวัน และพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน 7 ชั่วโมง 6 นาทีต่อวัน เป็นต้น


ขณะที่ 10 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตขวัญใจสังคมออนไลน์คือ คนไทยนิยมใช้เน็ตเพื่อปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (จองคิว ปรึกษาแพทย์) มากที่สุด 86.16% อาจเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน ตรวจหาเชื้อ และปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น หรือเพื่อลดเวลาที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

รองลงมา คือ เพื่อติดต่อสื่อสาร 65.70% ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ดูหนัง/ฟังเพลง 41.51% ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) 34.10% ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29% อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ 29.51% รับ-ส่งอีเมล 26.62% ชอปปิ้งออนไลน์ 24.55% ทำงาน/ประชุมออนไลน์ 20.67% และเล่นเกมออนไลน์ 18.75% ตามลำดับ

โดยประเด็นที่น่าจับตา คือ แม้กิจกรรมการดู Live Commerce จะเป็นกิจกรรมที่นำมาสำรวจในปีนี้เป็นปีแรก แต่กลับติด TOP 5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตที่คนไทยทำมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า Live Commerce เป็นอีก 1 กิจกรรมที่น่าจับตาว่าเป็นสิ่งที่คนไทยให้ความนิยมมากขึ้น โดยกลุ่มคนที่เข้าชมมากที่สุด คือ Gen Y รับชมมากที่สุดถึง 64.65% และเพศหญิงรับชมมากกว่าเพศชาย นี่จึงทำให้ Gen Y ครองแชมป์ “นักชอปออนไลน์” (88.36%) แซงหน้าทุก Gen รองลงมาคือ Gen X (84.55 %) Gen Z (81.53%) Baby Boomers (74.04%) และ Gen Builders (52.30%)


ประเภทสินค้าที่ Gen Y เลือกซื้อมากที่สุดคือ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ มากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องสำอาง ส่วน Gen X เลือกซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ มากที่สุด รองลงมา สินค้าอุปโภคบริโภค Gen Z เลือกซื้อเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ มากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องสำอาง Baby Boomers เลือกซื้อสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคมากที่สุด

รองลงมา อาหารแห้ง และ Gen Builders เลือกซื้ออาหารสดมากที่สุด เป็นต้น โดยเหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่เลือกซื้อ เพราะราคาถูก 63.10% ความหลากหลายของสินค้า 58.73% แพลตฟอร์มใช้งานง่าย 45.81% การจัดโปรโมชัน เช่น 11.11, 12.12, Flash Sale ที่ 44.39% และค่าจัดส่งถูกหรือฟรี 34.10% โดยช่องทางที่คนไทยเลือกซื้อออนไลน์มากที่สุด คือ e-Marketplace (เช่น Shopee, Lazada, Kaidee) 75.99% รองลงมาคือ Facebook 61.51% Website 39.7% LINE 31.04% Instagram 12.95% และ Twitter 3.81%


สำหรับช่องทาง Social Commerce ที่ผู้ขายนิยมใช้ขายสินค้าหรือบริการมากที่สุด สูงถึง 66.76% คือ Facebook รองมาคือ e-Marketplace 55.18% LINE 32.05% Website 26.67% Instagram 19.91% และ Twitter 9.90% สำหรับช่องทางการชำระเงิน พบว่า คนไทยนิยมชำระเงินโดยการโอนผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันธนาคารมากที่สุดถึง 67.32% รองมาคือ เก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery หรือ COD) 58.49% ชำระด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) 24.43% บัตรเครดิต 17.09% และบริการชำระเงินออนไลน์ เช่น บริการ PayPal หรือ Google Pay 15.51% เป็นต้น


นอกจากประเด็นพฤติกรรมการซื้อขายของออนไลน์แล้ว ผลสำรวจปีนี้ยังพบว่า Gen Y และ Gen Z มีแนวโน้มมุ่งสู่การเป็น Content Creator มากกว่า Gen อื่นๆ เนื่องจากเป็น Gen ที่นิยมสร้าง Online Content มากที่สุด โดยประเภท Content ที่นิยมสร้างมากที่สุด คือ วิดีโอ/คลิป 49.85% เขียนบทความ/คอนเทนต์/เว็บไซต์ 41.79% ถ่ายทอดสด (Live) 36.77% สตรีมมิงเกม/สตรีมมิงอื่นๆ 11.86% จัดรายการวิทยุออนไลน์ 10.32% และจัดรายการพอดแคสต์ 8.98%


กำลังโหลดความคิดเห็น