AIS - วิศวะจุฬาฯ เปิดศูนย์ 5G R&D ‘AIS 5G Play Ground & 5G Garage’ ติดตั้ง 5G Live Private Network ด้วยสถานีฐาน 5G 2600 MHz + 26 GHz ให้นิสิตได้ทดสอบใช้งาน เพื่อส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรม ต่อยอดไอเดียสู่ภาคอุตสาหกรรม
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า การเลือกนำ 5G บนคลื่นความถี่ 2600 MHz และ 26 GHz ที่เป็น mmWave มาใช้งานในศูนย์ฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนา Use Case ที่หลากหลาย
“ทั้ง 2 คลื่นความถี่เหมาะกับการนำไปใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาเกี่ยวกับ Holograms จนถึงการให้บริการ Fixed Wireless Access โดยเฉพาะในช่วงคลื่น 26 GHz ที่มีแบนด์วิดท์ปริมาณมหาศาล และมีความหน่วงต่ำมาก”
ในอนาคตเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคของ 5G Advance เครือข่าย 5G จะเพิ่มขีดความสามารถให้กว้างขึ้นอีก จากเดิมที่เข้ามาตอบสนองในแง่ของความเร็วในการเชื่อมต่อ ความเสถียรสูง ความหน่วงต่ำ รองรับอุปกรณ์จำนวนมาก แต่ในอนาคตจะขยายไปถึงการระบุตำแหน่งที่ชัดเจน จากความสามารถในการทำ Beam Forming ทำให้สามารถต่อยอดเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นได้
การเลือกตั้ง AIS 5G Play Ground & 5G Garage ที่อาคาร 100 ปี วิศวะจุฬาฯ มีเป้าหมายคือให้นิสิตสามารถเข้าถึงเครือข่าย 5G บนสภาพแวดล้อมจริง ด้วยการนำ Use Case ที่น่าสนใจมาจัดแสดง พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้ได้ทดสอบ ทดลองเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เบื้องต้น มีการนำเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ทั้งหุ่นยนต์ Walkie ที่เป็นหุ่นยนต์ให้บริการในครัวเรือน หุ่นยนต์ไข่มุก มาช่วยดูแลเกี่ยวกับสุขภาพ หุ่นยนต์ Rehab แขนกลช่วยเหลือผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนถึงรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ ที่ได้รับทุนจาก กทปส. และ IntaniaVerse ที่ทำโลกเสมือนในการศึกษาโรงไฟฟ้า ณ เขื่อนทุ่งนา รวมถึงหลักสูตรการศึกษาในโลกเสมือนด้วย
ส่วนเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือการเปิดพื้นที่ให้ทั้งนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่สนใจได้เข้ามาร่วมกิจกรรมอบรม รวมถึงต่อยอดเข้าไปใช้ในหลักสูตรเพื่อพัฒนาให้นิสิตวิศวกรรมศาสตร์ สามารถนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทดสอบ ทดลองใช้งานจริง ไปต่อยอดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้จะส่งเสริมให้นิสิต และคณาจารย์ได้ใช้เป็นแหล่งทำงานวิจัย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมบน Sandbox ได้อย่างดี ที่สำคัญถือเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีจากเราและภาคปฏิบัติที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานจริงของ AIS ที่จะมาช่วยเสริมทักษะให้แก่นิสิตและคณาจารย์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศไทย