xs
xsm
sm
md
lg

Google Cloud Region มาไทย สัญญาณเฟสใหม่คลาวด์แข่งดุ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


   แจ็คกี้ หวาง
เป็นสัญญาณชัดเจนที่แสดงว่าตลาดระบบคลาวด์กำลังขยายตัวเข้าสู่เฟสใหม่ เมื่อกูเกิลประกาศแผนการลงทุนเพื่อเปิดตัว “คลาวด์รีเจียน” (Cloud Region) โครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ที่ให้บริการลูกค้ากูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) โดยเฉพาะ การอัดฉีดเงินครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่ทยอยประกาศออกมาก่อนแล้วทั้งในมาเลเซียและนิวซีแลนด์ ซึ่งหาก Cloud Region ทั้งหมดนี้เปิดใช้งานจริง จำนวนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ประจำภูมิภาคทั้งหมดของ Google จะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 34 แห่ง ซึ่งยังน้อยกว่าคู่แข่งอย่างอาซัวร์ (Azure) ของไมโครซอฟท์ที่มีมากกว่า 60 แห่ง แต่จะมากกว่าเอดับลิวเอส (AWS) ของแอมะซอนที่มี 26 แห่ง

ความน่าตื่นเต้นของการลงทุนนี้ไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่นัยว่า Google Cloud กำลังเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ของบริการประมวลผลคลาวด์ และจะเดินหน้าขายบริการให้คู่ค้าพันธมิตรทั่วโลก ด้วยการเปิดตัวโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับภูมิภาคแห่งแรกใน 3 ประเทศเอเชียแปซิฟิก (APAC) เพื่อเสริมศักยภาพบริการคลาวด์จากเดิมที่มีอยู่ 11 แห่งในภูมิภาค ทำให้องค์กรในประเทศเหล่านี้สามารถลดความหน่วงในการรับส่งข้อมูล ช่วยให้องค์กรลดต้นทุน และปฏิบัติตามกฎหมาย หรือข้อกำหนดได้ดีขึ้น

การแทรกซึมตลาด APAC นี้เกิดขึ้นคู่ไปกับการขยายธุรกิจในเม็กซิโก ซึ่งจะทยอยเปิดใช้งานตามหลัง Cloud Region จำนวน 5 แห่ง ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็ววันนี้ ในเมืองโดฮา (กาตาร์) ตูริน (อิตาลี) เบอร์ลิน (เยอรมนี) ดัมมาม (ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย) และเทลอาวีฟ (อิสราเอล) องค์กรในพื้นที่เหล่านี้จะสามารถใช้บริการของ Google Cloud ได้หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งปกติแล้ว ผลิตภัณฑ์ใหม่มักจะเปิดใช้งานออนไลน์ภายใน 6 เดือนหลังจากเปิดตัว Cloud Region ใหม่

ที่ผ่านมา Google ได้ลงทุนเม็ดเงินหลายพันล้านในแต่ละปีเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่สำหรับขับเคลื่อนบริการคลาวด์ของ Google Cloud ในหลายประเทศ เบื้องต้นข้อมูลจากไอดีซี (IDC) คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายทั้งหมดบนบริการคลาวด์ในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) จะสูงถึง 2.82 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 ขณะที่การสำรวจในปี 2564 พบว่าบริการคลาวด์คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 84% ของการใช้จ่ายด้านไอทีและบริการธุรกิจในภูมิภาค APAC (ข้อมูลไตรมาส 3 ปี 2564) ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น

  Google ยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาว่าเมื่อใดที่ Cloud Region ใหม่ในไทยจะเปิดให้บริการ
ไม่เพียง Google Cloud คู่แข่งรายอื่นก็มองหาโอกาสโตในตลาดคลาวด์เช่นกัน ตัวอย่างคือ AWS ที่เพิ่งร่างแผนลงทุนระยะเวลา 2 ปีในการขยายบริการโลคัลโซน (AWS Local Zone) มายังกรุงเทพมหานคร รวมถึงโอ๊คแลนด์ มะนิลา และอีกหลายเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนของทุกบริษัทจะช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นขององค์กรในการขยายธุรกิจบนโลกดิจิทัล เป็นการเปิดโอกาสที่กว้างขึ้นเพื่อสร้างนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในส่วนของ Google Cloud แม้ตลาดการประมวลผลบนคลาวด์จะมีการแข่งขันสูงและรุนแรง แต่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงและทำกำไรได้ รายงานสถานะล่าสุดของตลาดคลาวด์จากบริษัทวิจัยเอสอาร์จี (Synergy Research Group) แสดงให้เห็นว่า Google Cloud เป็นเบอร์ 3 ที่มีคะแนนไล่หลัง AWS และ Azure อยู่หลายเปอร์เซ็นต์ในแง่ของการใช้งาน โดย AWS เป็นเจ้าตลาดที่ครองส่วนแบ่งคลาวด์ทั่วโลกประมาณ 34% ตามด้วย Azure ที่มี 21% และ Google ที่มี 10%

แต่ในทางกลับกัน Google Cloud มีรายรับทะลุ 6.3 พันล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในไตรมาส 2 ปี 2565 เพิ่มขึ้น 220% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2562 ซึ่งเป็นสัญญาณถึงโอกาสขยายธุรกิจ Google Cloud ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

***ครั้งแรกในไทย

แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ Google ประเทศไทย กล่าวว่า Cloud Region แห่งใหม่เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของ Google ในประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของบริษัทในการส่งเสริมโอกาสในการเติบโตแบบครอบคลุมที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย Cloud Region ในประเทศไทยจะให้บริการธุรกิจและระบบคลาวด์ศักยภาพสูงที่จำเป็นต่อองค์กร เพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัล และสร้างข้อได้เปรียบใหม่ๆ ในการแข่งขัน ตลอดจนตอกย้ำเจตนารมณ์ของ Google Cloud ที่ต้องการสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจในเฟสต่อไปของรัฐบาลไทย

“เป็นเวลากว่า 11 ปีที่ทีมของเราทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ ชุมชน และนักการศึกษาในประเทศไทย เพื่อจัดหาเครื่องมือ การฝึกอบรม และการศึกษาที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จในอนาคตดิจิทัล หลังจากนี้ Cloud Region จะช่วยเสริมความสามารถเฉพาะตัวของเราในการนำระบบนิเวศขององค์กร และผู้บริโภคเข้ามาใกล้กันมากขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมทั้งโปรแกรม Search, YouTube, Maps, Play, Cloud และอื่นๆ เพื่อให้เราสามารถเป็นพันธมิตรกับองค์กรท้องถิ่นทุกขนาดอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสามารถให้บริการในตลาดภายในประเทศ และส่งออกผลิตภัณฑ์ และบริการไปทั่วโลก”

เฉพาะประเทศไทย รายงานจากผลวิจัยของ AlphaBeta ภายใต้การสนับสนุนของ Google พบว่าหากใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล อาจสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีได้สูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท (79.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แก่ประเทศไทย ภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับ 16% ของ GDP ท้องถิ่นในปี 2563

***เมื่อไหร่ไม่บอก

Google ยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาว่าเมื่อใดที่ Cloud Region ใหม่ในไทยจะเปิดให้บริการ โดยระบุเพียงว่าปัจจัยที่เสริมรับกับการลงทุนครั้งนี้คือการเพิ่มขึ้นของสตาร์ทอัปหน้าใหม่ในประเทศไทย รวมทั้งการที่ 9 ใน 10 ของคนไทยคุ้นเคยกับการใช้สมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวัน ซึ่งความคิดสร้างสรรค์และความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ รวมถึงการเปิดกว้างพร้อมรับเทคโนโลยีใหม่เสมอ ถือเป็นปัจจัยที่สะท้อนว่าไทยมีความพร้อมยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล และการประกาศแผนติดตั้ง Cloud Region ในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไทยมีศักยภาพมากขึ้น

เบื้องต้น Google Cloud วางเป้าหมายที่จะส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรุดหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และส่งมอบระบบโครงสร้างคลาวด์ที่จำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนและเติบโตของภาคธุรกิจ ทั้งในด้านการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำงานแบบไฮบริด หรือการมีแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ และต่อเงื่อนไขข้อกำหนดต่างๆ Google Cloud จึงรู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสในการขยายโครงสร้างคลาวด์ เพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่กลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าได้สูงถึง 36.25 ล้านล้านบาท (1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2573 นี้

ผยง ศรีวณิช
ในอนาคต เมื่อระบบเปิดให้บริการ Cloud Region ในประเทศไทยจะช่วยยกระดับการปฏิบัติงานขององค์กรในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีความหน่วงต่ำ รวมถึงสร้างระบบรักษาความปลอดภัย 3 โซน ที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้การบริการหยุดชะงัก นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ยังสามารถเข้าถึงระบบควบคุมที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่าศูนย์เก็บข้อมูลจะได้รับความคุ้มครองโดยระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสูงสุด ซึ่งรวมถึงข้อมูลเฉพาะที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ Cloud Region ยังติดตั้งอยู่ในศูนย์ Dedicated Cloud Interconnect ของ Google Cloud ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ทุกการเชื่อมต่อทั้งระหว่างเครือข่ายภายในองค์กรโดยตรง และเครือข่ายทั่วโลกของ Google Cloud

ปัจจุบัน Google Cloud ให้บริการแก่ลูกค้าทุกขนาดองค์กร ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SME) รวมถึงสตาร์ทอัป เชื่อว่า Cloud Region แห่งใหม่ของ Google Cloud จะช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นขององค์กรในด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นอิสระ และเปิดโอกาสสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และนวัตกรรมในประเทศไทยที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปิดตัว Cloud Region แห่งใหม่นี้ Google Cloud ช่วยเพิ่มตัวเลือกให้แก่ลูกค้าในการเข้าถึงบริการจาก Cloud Region ในพื้นที่ รวมถึงช่วยรองรับการเข้าสู่สภาพแวดล้อมแบบไฮบริดและมัลติคลาวด์ได้ในเวลาเดียวกัน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวในฐานะลูกค้ารายใหญ่ของ Google Cloud ประเทศไทยว่า เครือข่ายทั่วโลกของ Google Cloud มีบทบาทสำคัญต่อธนาคารกรุงไทยในการนำการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความสามารถด้านการธนาคารแบบเปิดมาดำเนินการให้บริการธุรกิจธนาคาร เพื่อสร้างและรักษาความไว้วางใจของชาวไทยกว่า 40 ล้านคนที่ใช้บริการดิจิทัลของกรุงไทย

"กรุงไทยลงทุนด้านไอทีมูลค่าหมื่นล้านบาทต่อปีอยู่แล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา" ผยง กล่าว “Cloud Region แห่งใหม่จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการคิดค้นนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการกำกับดูแลในประเทศ ซึ่งจะทำให้เราสามารถให้บริการคนไทยทุกระดับรวมถึงผู้บริโภคที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กได้ทุกที่ ทุกเวลา”

ขณะนี้ Google ได้ฉลองครบรอบ 11 ปีของการทำงานในประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็น 1 ในกว่า 200 ประเทศและดินแดนทั่วโลกที่มีผู้ใช้บริการ Google สำหรับ Cloud Region ใหม่ในประเทศไทย บริษัทไม่สามารถเปิดเผยแผนเพิ่มบุคลากร แต่ระบุเพียงว่า Google ประเทศไทยมีบุคลากรครบทีมอยู่แล้ว และ Cloud Region ในไทยจะเป็นแห่งที่ 3 ที่รองรับงานในท้องถิ่นหลังจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซียที่ให้บริการมาแล้วก่อนหน้านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น