xs
xsm
sm
md
lg

สกมช.มอบรางวัลหน่วยงานด้านไซเบอร์ กระตุ้นเกิด CII คาดเพิ่มเป็น 120 หน่วยงานต้นปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลมอบโล่รางวัลหน่วยงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 21 หน่วยงาน จำนวน 31 รางวัล สร้างแรงจูงใจหน่วยงานรัฐ-เอกชน สู่ CII ตั้งเป้าเพิ่มจาก 60 องค์กรเป็น 120 องค์กรในต้นปีหน้า ขณะที่หัวเว่ย คว้ารางวัลหน่วยงานให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศดีเด่น ย้ำเร่งพัฒนาบุคลากรไซเบอร์ ตอบโจทย์งบประมาณจำกัด

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนมอบโล่และประกาศเกียรติคุณ Prime Minister Awards : Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022 หน่วยงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่นระดับชาติ ให้หน่วยงานที่มีผลงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2565 เพื่อแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ชัดในการมุ่งมั่นพัฒนา และรักษามาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนการกำกับ ดูแล ให้หน่วยงานต่างๆ สามารถป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์


พล.อ.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม Prime Minister Awards : Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานและกำกับดูแลให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ยกระดับขีดความสามารถในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 และเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักและการรับรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์

สำหรับการดำเนินการคัดเลือกหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2565 ใช้วิธีการตอบแบบสอบถามข้อมูลการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ประกอบกับหลักฐานการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับการประเมินตัวชี้วัด GCI (Global Cyber Index) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อวัดขีดความสามารถด้านไซเบอร์ของประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ซึ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมจะตอบแบบสอบถามจะมีเกณฑ์การการประเมิน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยอ้างอิงจากพระราชบัญญัติความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2.ด้านความร่วมมือ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับประเทศ และระดับภูมิภาค และ 3.ด้านการพัฒนาศักยภาพความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นการอ้างอิงจากดัชนีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไอทียูในด้านการพัฒนาศักยภาพ และด้านความร่วมมือ

รางวัลดังกล่าวได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ โดยพิจารณาหน่วยงานที่เข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน 133 หน่วยงาน ซึ่งจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ สกมช. ได้แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณา มีหน่วยงานที่ผ่านการประเมินด้านความมั่นคงปลอดภัย และได้รับใบประกาศเกียรติคุณสำหรับหน่วยงานที่มีการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเลิศ (Certificate of Cyber Safety) ทั้งสิ้นจำนวน 34 หน่วยงาน รวมถึงมีหน่วยงานที่ได้รับโล่รางวัลตามประเภทต่างๆ ทั้งสิ้น 21 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 31 รางวัลประกอบด้วยรางวัลต่างๆ ดังนี้

ประเภทประกาศนียบัตร แบ่งเป็น 2 ประเภท จำนวน 34 หน่วยงาน ได้แก่

1.ใบประกาศนียบัตรเข้าร่วมโครงการ Prime Minister Awards : Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022 (Certificate of Participation)

2.ใบประกาศเกียรติคุณสำหรับหน่วยงานที่มีการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเลิศ (Certificate of Cyber Safety)

ประเภทโล่รางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่น แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.รางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาพรวมดีเด่น สำหรับหน่วยงานที่มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรฐานสากลดีเด่น (Cybersecurity Performance Excellence Awards) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

2.รางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่นและรางวัลชมเชยในสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 ดังนี้

• สาขาการเงินการธนาคาร Cybersecurity Excellence Awards (Banking) รางวัลดีเด่น ได้แก่ ธปท. Nationail ITMX ธนาคารออมสิน สำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารกรุงไทย

• สาขาความมั่นคงของรัฐ Cybersecurity Excellence Awards (National Security) รางวัลดีเด่น ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย

• สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม Cybersecurity Excellence Awards (Information Technology and Telecommunications) รางวัลดีเด่น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

• สาขาบริการภาครัฐที่สำคัญ Cybersecurity Excellence Awards (Public Services) รางวัลดีเด่น ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. และกรมสรรพสามิต

• สาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ Cybersecurity Excellence Awards (Transportation and Logistics) รางวัลดีเด่น ได้แก่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

• สาขาพลังงานและสาธารณูปโภค Cybersecurity Excellence Awards (Energy and Utilities) รางวัลดีเด่นได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รางวัลดีเด่น ได้แก่ สพร. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

3.รางวัลสำหรับหน่วยงานที่มีการดำเนินการด้านต่างๆ ดีเด่น ได้แก่

• สาขาความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น Cybersecurity Excellence Awards (Corporate Social Responsibility) ได้แก่ สำนักงาน ก.ล.ต. สพร.และ สวทช.

• สาขาการพัฒนาศักยภาพบุคลากรดีเด่น Cybersecurity Excellence Awards (Capacity Development) ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย สวทช. ธนาคารกรุงไทย

• รางวัลสำหรับหน่วยงานให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศดีเด่น Cybersecurity Excellence Awards (Supporting) ได้แก่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มเบญจจินดา บริษัท เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด Tech Talk Thai Group และบริษัท พาโล อัลโตเน็ตเวิร์กส์ จำกัด

ด้าน พล.อ.ต.อมร ชมเชย รองเลขาธิการ กมช. กล่าวว่า การจัดรางวัลนี้ถือเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นหน่วยงานภายใต้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII : Critical Information Infrastructure) ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการประมาณ 60 หน่วยงาน ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 120 หน่วยงานภายในต้นปีหน้าโดยต้องการให้หน่วยงานเกี่ยวกับการสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลเข้าร่วม CII มากขึ้น โดยหน่วยงาน CII ประกอบด้วย 7 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงภาครัฐ ด้านบริการภาครัฐที่สำคัญ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และด้านสาธารณสุข แต่ด้วยงบประมาณจำกัด สกมช.ต้องเร่งให้ความรู้ผ่านการสร้างบุคลากรด้านไซเบอร์ร่วมกับเอกชน

ขณะที่นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนในระยะยาว และเรายังคงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการก้าวไปสู่ประเทศแถวหน้าของยุคดิจิทัล ในขณะเดียวกัน รับประกันระดับการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยจะยังคงช่วยยกระดับความตระหนักรู้และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดีที่สุด รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น 'Thailand Cyber Top Talent' หรือการแข่งขัน 'Cyber SEA Game' นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย 'Grow in Thailand, Contribute to Thailand' ของบริษัท หัวเว่ยจะพยายามอย่างเต็มที่และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 และกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลที่ปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หัวเว่ย ประเทศไทย ได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ เช่น งาน 'Thailand National Cyber Week' และ 'Cyber Defense Initiative Conference' บริษัทได้ร่วมกับ สกมช. จัดงาน ‘Thailand Cyber Top Talent 2021’ ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ครั้งแรกของประเทศไทย มีนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรด้านไอทีที่มีความสามารถโดดเด่นจำนวน 800 คน เข้าร่วมแข่งขัน นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำทักษะของทรัพยากรบุคคลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย หัวเว่ยได้ส่งทีมตัวแทนชาวไทยเข้าร่วมการแข่งขัน 'Cyber SEA Game 2021' ที่มีทีมจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมแข่งขัน โดยทีมไทยสามารถคว้ารางวัลอันดับหนึ่ง และได้ชื่อว่าเป็นทีมรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดีที่สุดในอาเซียน

เมื่อต้นปีนี้ ผู้บริหารระดับสูงทางด้านการรักษาความปลอดภัยให้โครงสร้างเครือข่ายและความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ (CISO) จากหัวเว่ย ประเทศไทย ได้สำเร็จหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับผู้บริหารนอกจากนี้ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) บริษัทยังได้แบ่งปันความรู้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ด้วย และเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับ สกมช. เพื่อพัฒนาและเร่งทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับบุคลากรไอทีของไทย โดยกำลังดำเนินการตามแผนเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างน้อย 4,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ภาคปฏิบัติผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ e-Lab ของหัวเว่ย ที่มีโครงสร้างพื้นฐานและเวิร์กชอปการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ครอบคลุมระดับแรงงานในโลกไซเบอร์ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง ระดับสูง และระดับผู้เชี่ยวชาญ














กำลังโหลดความคิดเห็น