xs
xsm
sm
md
lg

5 ปี "ธนวัฒน์" คุมไมโครซอฟท์ไทย ป้ายต่อไปเล็งปั้นอนาคตประเทศ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์’ เพิ่งฉลองโอกาสครบรอบ 5 ปี ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ด้วยการวางเป้าหมายใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม นั่นคือการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่อนาคตยุคต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยเรียกรวมพันธกิจครั้งนี้ว่าเป็นการ ‘สร้างคน สู่อนาคต เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า’ โดยเฉพาะในฐานะผู้ผลิตและผู้คิดค้น บนโจทย์ใหญ่ว่าทำอย่างไรให้ประเทศไทยก้าวจาก ‘Made in Thailand’ ไปสู่ ‘Born in Thailand’?

ป้ายต่อไปที่ธนวัฒน์ จะพาไมโครซอฟท์ไปสร้าง ‘ประเทศไทยที่ดีกว่า’ นั้นต้องผ่านเส้นทางหินอย่างการ ‘สร้างคน’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอเทคโนโลยีหลากหลายจากไมโครซอฟท์ โดยเฉพาะโซลูชันคลาวด์ที่ครอบคลุมทั้งแกนของเมตาเวิร์ส ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัมคอมพิวติง และไฮบริดเวิร์ก ขณะเดียวกัน ต้องแล่นไปคู่กับความร่วมมือกับพันธมิตรทุกกลุ่มทั้งเล็ก กลาง ใหญ่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับชาติ

การประกาศนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไมโครซอฟท์ในสหรัฐฯ แถลงผลประกอบการรวมไตรมาส 4 ที่น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของวอลสตรีท (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 65) แม้ตัวเลขรายได้รวมทั้งปีของบริษัทจะสูงเกิน 5.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ บนรายรับสุทธิของบริษัทที่คิดเป็น 1.67 หมื่นล้านเหรียญ แต่เมื่อแจกแจงแล้วจะพบว่ารายได้จากธุรกิจเกมอย่างเอ็กซ์บ็อกซ์ (Xbox) และธุรกิจดั้งเดิมอย่างวินโดวส์ (Windows) นั้นหดตัวเพราะพิษชิปคอมพิวเตอร์ขาดตลาด ซึ่งแม้ธุรกิจอุปกรณ์อย่างเซอร์เฟซ (Surface) จะทำกำไรได้ดีขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะดึงให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น โดยกำไรต่อหุ้นของบริษัทลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ.2559 เบ็ดเสร็จแล้ว รายรับของไมโครซอฟท์เพิ่มขึ้น 12% และรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 2% เท่านั้น เป็นตัวเลขการเติบโตที่น้อยที่สุดในรอบ 3 ปี

***ไทยไปต่อ ไม่กระทบ-ไม่ลดลงทุน

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายหลักของบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ต่อเนื่องเพื่อรักษาการเติบโตในตลาดไทย โดยขณะนี้ไม่ได้รู้สึกถึงผลกระทบจากภาวะผลประกอบการบริษัทแม่ที่น้อยกว่าการประเมินของนักวิเคราะห์ในวอลสตรีท เนื่องจากการคาดการณ์นั้นเป็นไปตามสภาพปัจจุบันในภาพรวมของโลก แต่ทั้งนี้เมื่อประกาศผลประกอบการแล้ว มูลค่าหุ้นไมโครซอฟท์เพิ่มขึ้น 5% แปลว่านักลงทุนยังคงมีความมั่นใจในไมโครซอฟท์

‘ถ้าในมุมมองของประเทศไทย ไม่ได้รู้สึกถึงผลกระทบนี้เลย เราโฟกัสในเรื่องของวิสัยทัศน์ที่ประกาศออกมาเพื่อนำไปซัปพอร์ตลูกค้าและพาร์ตเนอร์ในเรื่องของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และการลงทุนของประเทศไทยในปีนี้ เรายังคงลงทุนต่อไป เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต’

นักวิเคราะห์นั้นคาดหวังว่าไมโครซอฟท์จะทำรายได้มากกว่านี้จากบริการกลุ่ม Productivity and Business Processes ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ด้านกระบวนการทางธุรกิจ โดยไมโครซอฟท์ทำได้ 1.44 หมื่นล้านเหรียญ เทียบกับที่คาดไว้ 1.67 หมื่นล้านเหรียญ ขณะเดียวกัน บริการคลาวด์อัจฉริยะทำได้เพียง 2.09 หมื่นล้านเหรียญ เทียบกับที่คาดไว้ 2.11 หมื่นล้านเหรียญ แต่ไมโครซอฟท์แย้งว่าทั้งหมดเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยน ความผันผวนของเศรษฐกิจจากภาวะสงคราม และเม็ดเงินโฆษณาที่น้อยลง

ทิศทางการพัฒนาที่น่าสนใจที่สุดในอนาคต เชื่อว่าจะมาจากการผสมผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทั้งการจับคู่เมตาเวิร์สกับการทำงานแบบไฮบริด หรือ AI กับควอนตัม
สำหรับสถานการณ์ในไทย ไมโครซอฟท์มองว่าวงการเทคโนโลยีไทยได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้คลาวด์กลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานใหม่ในการทำธุรกิจทั่วโลก ทั้งยังเปิดเวทีให้เทคโนโลยีใหม่ได้เข้ามามีบทบาทเชื่อมโยงโลกปัจจุบันเข้ากับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเมตาเวิร์ส, AI, ควอนตัมคอมพิวติ้ง หรือการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งทิศทางการพัฒนาที่น่าสนใจที่สุดจะมาจากการผสมผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทั้งการจับคู่เมตาเวิร์สกับการทำงานแบบไฮบริด หรือ AI กับควอนตัม

การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคตเหล่านี้ทำให้ไมโครซอฟท์ย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า ‘ทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะต้องเดินต่อไปทางไหน?’ และผลสำรวจ World Digital Competitiveness Ranking ของสถาบัน IMD จากสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงปลายปี 2021 สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างหลายจุดที่ยังต้องเติมเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทักษะเชิงดิจิทัล การจ้างงานในสายงานเชิงวิทยาศาสตร์และเทคนิค และการจดสิทธิบัตรด้านนวัตกรรม

ไมโครซอฟท์ประเทศไทยมองว่าโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นภารกิจใน 3 ด้านหลัก ด้านแรกคือสร้างคน ซึ่งไมโครซอฟท์ยังคงเดินหน้าเสริมทักษะเชิงดิจิทัลให้คนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสร้างทักษะให้คนไทย 10 ล้านคน ภายในปี 2024 โดยมีกิจกรรมและโครงการเด่นคือโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน (Accelerating Thailand) ที่ก้าวเข้าสู่เฟส 2 ด้วยเป้าหมายในการยกระดับทักษะให้คนไทย 180,000 คน หลังจากที่ในรอบปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาทักษะไปกว่า 280,000 คนในเฟสแรก ช่วยให้ 14,000 คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น 4,500 คนมีโอกาสเติบโตในสายอาชีพ 4,500 คนมีรายได้เพิ่มขึ้น และ 1,900 คนได้ประกอบอาชีพใหม่

ด้านที่ 2 คือเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์แสดงความพร้อมนำเสนอเทคโนโลยีสู่ตลาดไทยในหลากหลายด้านเพื่อตอบสนองความต้องการด้านนวัตกรรมของธุรกิจในยุคนี้ ที่โดดเด่นคือการปรับไฮบริดเวิร์กให้ผู้คนสามารถทำงานนอกสำนักงานได้โดยไม่เสียจังหวะชีวิต สินค้าหลักที่ไมโครซอฟท์เร่งโปรโมตคือบริการกลุ่มวีว่า (Microsoft Viva) ที่เชื่อว่าจะยกระดับประสบการณ์ในองค์กรให้ทุกคนทำงานได้ดี ช่วยให้ข้อมูลและการสื่อสารจากองค์กรถ่ายทอดไปถึงพนักงานมากขึ้น และช่วยให้ฝ่ายบุคคลขององค์กรเข้าใจความรู้สึก พฤติกรรมของพนักงานลึกซึ้งขึ้นกว่าการจัดทำแบบสำรวจรายปี รวมถึงบริการกลุ่มนวัตกรรมบนคลาวด์ Microsoft Azure ที่ทำให้กระบวนการทำงานด้านเทคโนโลยีมีความง่ายขึ้น เช่น การสร้างแอปพลิเคชันแบบเขียนโปรแกรมน้อย (low-code) และการออกแบบแอปพลิเคชันด้วยการวาดรูปเพื่อให้ AI มารับหน้าที่สร้างแอปจากภาพแบบอัตโนมัติ (Power Apps express design)

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยืนยันว่าจะพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยีในด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติชี้ว่ามีอุปกรณ์ในไทยถึง 1,249,442 เครื่องที่ตรวจพบมัลแวร์ ซึ่งปัจจุบันไมโครซอฟท์มองตัวเองเป็นผู้นำระดับโลกด้านความปลอดภัยที่ปกป้ององค์กรถึง 785,000 รายใน 120 ประเทศ วิเคราะห์สัญญาณอันตรายในโลกดิจิทัลถึง 24 ล้านล้านรายการต่อวัน และบล็อกภัยร้ายที่แพร่กระจายทางอีเมลได้ถึง 32,000 ล้านครั้งในปีที่แล้ว

ด้านสุดท้ายคือความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วนเพื่อสร้างประเทศไทยที่ดีกว่า ไฮไลต์ที่น่าสนใจคือการร่วมมือกับเอไอเอส ครอบคลุมทั้งการสร้างสรรค์ดิจิทัลโซลูชันร่วมกัน การสร้างทักษะระดับ deep tech ให้พนักงานของเอไอเอส ไปจนถึงการร่วมกันสนับสนุนสตาร์ทอัปไทย ยังมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ร่วมกันศึกษาและสำรวจแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน และ ปตท. ผ่านความร่วมมือ 5 ปีเต็ม เพื่อพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีและยกระดับทักษะบุคลากร ร่วมด้วยธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เอสซีจี บ้านปู เน็กซ์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งนอกจากองค์กรเหล่านี้ ไมโครซอฟท์ได้นำโซลูชัน Cloud for Sustainability มาเริ่มปรับใช้กับหลายองค์กรในประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2050 และก้าวสู่สถานะ Net Zero เต็มตัวในปี 2065

‘เราเห็นโอกาสหลายด้านมาก เราเห็นโอกาสที่จะไปซัปพอร์ตลูกค้ามากขึ้นโดยการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อต่อยอด 5G ซึ่งจะเห็นอะไรที่เป็นเรื่องของเอดจ์คอมพิวติ้งมากขึ้น และปรับใช้เอดจ์กับยูสเคสมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทแฟกทอรี สมาร์ทซิตี และ smart อื่นๆ’ ธนวัฒน์ ระบุ ‘แต่ในขณะเดียวกัน เราเห็นโอกาสมากมายในพื้นที่ e-government ซึ่งเราเริ่มแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในการทำ MOU กับทางสำนักงานกฤษฎีกา และรัฐวิสาหกิจอย่างเช่น EGAT หรือ PTT เพราะฉะนั้นเรามองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปช่วยให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลและองค์กรรัฐวิสาหกิจ ให้สามารถปรับใช้ในเรื่องของเทคโนโลยี และทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้’

***สู่มือของทุกคน

ในอีกด้าน ธนวัฒน์ ชี้ว่าในพื้นที่บริษัทขนาดเล็กอย่างสตาร์ทอัป หรือบริษัทที่เป็นดิจิทัลเนทีฟที่เกิดบนระบบในดิจิทัล ไมโครซอฟท์ประเทศไทยเห็นโอกาสเติบโตเช่นกัน ถือเป็นช่องทางมากมายที่บริษัทจะสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนได้ เพื่อให้เทคโนโลยีขั้นสูงถูกส่งไปอยู่ในมือของทุกคน

‘เพราะฉะนั้น โอกาสของเราไม่ใช่มีเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ แต่มันมีอยู่กับบริษัทที่เป็น startup แล้วบริษัทที่บอร์นอินดิจิทัล ก็เป็นโอกาสมหาศาล เป็นอีกพื้นที่ที่เราจะโฟกัสต่อไป’

เมื่อขอให้ธนวัฒน์ ให้คะแนนตัวเองเพื่อประเมินผลงาน 5 ปีที่ผ่านมา จากเต็ม 10 กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไมโครซอฟท์ ประเทศไทยให้คะแนนตัวเอง 7 คะแนนเนื่องจากมองว่าทีมไมโครซอฟท์ที่ประเทศไทยทำงานได้ผลค่อนข้างดี และวันนี้ไมโครซอฟท์ประเทศไทยถือเป็นแถวหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นหรือเมื่อมองในมุมมองของลูกค้าจะพบว่าบริษัทได้เข้าไปสนับสนุนในทุกเซกเมนต์ ไม่ว่าจะเล็ก กลาง ใหญ่ ภาครัฐหรือภาคเอกชน

‘เราทำได้ค่อนข้างดี ลูกค้าให้ความมั่นใจแล้วมีความเชื่อมั่นในไมโครซอฟท์ ซึ่งอันนี้ต้องให้เครดิตกับทีมและทุกคนในการทำงาน’ ธนวัฒน์ ทิ้งท้าย ‘ทำไมถึงไม่ให้ 10 ทำไมให้แค่ 7 เพราะยังรู้สึกว่ามันสามารถมีอะไรที่เราก็เรียนรู้ได้ตลอดเวลา เราไม่ได้ทำทุกอย่างถูกต้องทั้งหมด แต่เรามองในสิ่งที่เราอาจจะยังไม่ได้ทำ หรือทำไปแล้วไม่ถูกต้อง จะเป็นพื้นที่ให้เราจะพัฒนาต่อยอดต่อไป’


กำลังโหลดความคิดเห็น