xs
xsm
sm
md
lg

ฟีเจอร์แน่น-ใช้คนน้อย! ไซเบอร์ อีลีท ควงไอบีเอ็มให้บริการ CSOC ใหม่ลดทีมได้ 50% เล็งไปอาเซียนใน 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไซเบอร์ อีลีท จับมือไอบีเอ็ม เปิดตลาดบริการศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์แบบครบวงจร หรือ Cyber Security Operations Center (CSOC) ใหม่ที่ลดพนักงานลงได้ 50% วางเป้าหมายลูกค้าคลุมตั้งแต่ SMB ถึง Enterprise มั่นใจคว้าส่วนแบ่งตลาด 30% ขึ้นอันดับ 1 ผู้ให้บริการ CSOC ในไทยได้ภายใน 3 ปี ขีดเส้นไปอาเซียนต้นปี 2024 เพื่อขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ CSOC ระดับภูมิภาคภายใน 5 ปี

นายศุภกร กังพิศดาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ในกลุ่มเบญจจินดา กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์แบบครบวงจร หรือ Cyber Security Operations Center (CSOC) ที่ได้ร่วมมือระหว่างไซเบอร์ อีลีท และไอบีเอ็ม ในครั้งนี้จะผสานความแข็งแกร่งระหว่างกันให้ดูแลป้องกันภัยคุกคามให้ลูกค้าได้ทุกระดับ โดยมีจุดต่างจากบริการ CSOC ที่มีในท้องตลาดที่ความเก่งของฟังก์ชันและการใช้พนักงานน้อยลงกว่า 50% ทำให้มั่นใจว่าจะตอบความท้าทายเรื่องการขาดบุคลากรซึ่งองค์กรไทยต้องปวดหัวมาตลอด

“ภาวะขาดคนทำให้องค์กรอยากบริหาร SOC ได้แบบไม่ต้องใช้คนมาก เทคโนโลยีของไอบีเอ็มตอบโจทย์ตรงนี้ และตรงกับหนึ่งในคีย์หลักของธุรกิจไซเบอร์ อีลีท นั่นคือแมนเนจซิเคียวริตี เซอร์วิส โปรเจกต์นี้จะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ของทุกฝ่าย ทำให้ CSOC ของเราแตกต่างในเรื่องความแน่นและใช้คนน้อย เราในฐานะบริษัทไทยจะสามารถพูดคุยกับลูกค้าได้มากขึ้นกว่าคู่แข่งที่เป็นต่างชาติ ขณะเดียวกัน ธุรกิจ SOC วันนี้ไม่มีเขตแดน จึงมีความพร้อมจะขยายไปอินโดจีน และประเทศอื่นในอนาคต”

ดร.ศุภกร กังพิศดาร
ดร.ศุภกร ระบุว่าความร่วมมือระหว่างไซเบอร์ อีลีท กับไอบีเอ็มในครั้งนี้เป็นการยกระดับเทคโนโลยีป้องกันภัยอัจฉริยะ (Threat Intelligence) จากภายนอกเข้าไปเพื่อเสริมความสามารถในการรับรู้เทรนด์ของภัยคุกคามล่าสุด เพื่อให้ระบบตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น การนำเทคโนโลยีระดับโลกของไอบีเอ็มจะทำให้ไซเบอร์ อีลีท สามารถให้บริการศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามแบบครบวงจร เป็นไปตามเทรนด์ที่เกิดขึ้นในวงการ CSOC ระดับโลก

สำหรับปี 2565 ตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีมีมูลค่าราว 12,000 ล้านบาท บนการเติบโตในอัตรา 10% ในขณะที่ตลาดงานบริการ Managed Security Service มีการเติบโตในอัตราประมาณ 10-15% สำหรับบริการ CSOC ของไซเบอร์ อีลีท ตั้งเป้ารายได้ปีแรกของการให้บริการ CSOC ไว้มูลค่า 150 ล้านบาท เป็นการชิงพื้นที่จาก 5 ผู้เล่นในตลาดรายหลักในไทย เชื่อว่าจะส่งให้รายได้ในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 350-400 ล้านบาท จากลูกค้าที่ได้ตามเป้าหมายในกลุ่มภาคการเงิน ภาครัฐ และภาคธุรกิจที่เป็นองค์กรภายใต้กำกับของหน่วยงานกำกับต่างๆ


“ความท้าทายของตลาดบริการ SOC คือเรื่องคน นอกจากคนคือการมีเพลเยอร์ต่างประเทศมากขึ้น แต่บริษัทต่างชาติจะให้บริการต่างจากบริษัทคนไทย โดยเฉพาะการขอรายงานเพิ่มจากมาตรฐานที่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือมีบางกรณีที่บริการของบริษัทต่างชาติไม่เข้ากับองค์กรไทย เชื่อว่าความต่างนี้จะทำให้ไซเบอร์ อีลีท ครองส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้น” ดร.ศุภกร ระบุ

ตลอดครึ่งปีแรกของการเปิดดำเนินการ ไซเบอร์ อีลีท ย้ำว่าบริษัทมีอัตราการเติบโตเกินกว่า 400% โดยรายได้หลักมาจากการให้บริการโซลูชัน (Cyber Security Solution) และบริการที่ปรึกษา (Security Advisory) ในขณะเดียวกัน ดำเนินการยกระดับบริการ Managed Security Services ให้สอดคล้องกับบริบทในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับทิศทางในครึ่งปีหลังของปี 2565 ไซเบอร์ อีลีท จะสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มการให้บริการป้องกันภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะธุรกิจภาคการเงิน พลังงาน โทรคมนาคม ภาครัฐ รวมทั้งองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ภาวศุทธิ ศรีวิโรจน์
ด้าน น.ส.ภาวศุทธิ ศรีวิโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม ซอฟต์แวร์ กล่าวว่าเอเชียเป็นเป้าโจมตีไซเบอร์สูงสุดในปัจจุบัน โดยมีอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและประกันภัยเป็นกลุ่มที่ถูกโจมตีมากที่สุด การโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มจำนวนและทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ และวันนี้กลายเป็นภัยคุกคามสูงสุดของทุกองค์กรทั่วโลก จึงตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต้องเร่งลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยมอนิเตอร์ ตรวจจับ หรือตอบสนองการโจมตี

“ในแต่ละวันไอบีเอ็มเฝ้าติดเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย 150,000 ล้านเหตุการณ์ ในกว่า 130 ประเทศ โดยเป็นหนึ่งในผู้นำโลกที่มีศักยภาพครอบคลุมที่สุดในแง่การวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีด้านซิเคียวริตี เมื่อผนวกเทคโนโลยี SOAR, SIEM และ UEBA ระดับโลกของไอบีเอ็ม เข้ากับความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของภัยคุกคามไซเบอร์ในไทยเป็นอย่างดีของไซเบอร์ อีลีท จึงเป็น 2 พลังที่จะช่วยองค์กรจัดการความเสี่ยงและป้องกันภัยคุกคามใหม่ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”




กำลังโหลดความคิดเห็น