สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. นับเป็นหน่วยงานกลางที่สำคัญในการวางกรอบนโยบายอุดหนุนขับเคลื่อน ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้วยการจัดสรรงบประมาณเงินงบประมาณอุดหนุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กำหนดเป้าวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญนำประเทศก้าวสู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจุบันมีงานวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่รอเดินหน้าต่อยอดสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์สถานการณ์ครบทุกมิติสังคม ซึ่งจะมีเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวถึงทิศทางการพัฒนางานวิจัยให้สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ในงานประชุมชี้แจงเป้าหมายการสนับสนุนงานมูลฐานและแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมปีงบประมาณ 2567 ผ่านทางออนไลน์ว่า ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) แม้จะเป็นกองทุนเปิดที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินโดยตรงและมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่า 5 เท่าของงบประมาณการลงทุนใน 5 ปี และยังมีแนวทางแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น โดยมีการปรึกษากับกองทุนอื่นๆ ของภาครัฐ เช่น กองทุนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า กองทุนพลังงานทดแทน รวมถึงการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เป็นต้น
สำหรับกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของ ววน.ปี 2566-2570 ได้กำหนดทิศทางในการพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นนโยบายที่มีเป้าหมายชัดเจนโดยใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตที่ยั่งยืน
งานวิจัยสู่นวัตกรรมตอบโจทย์สถานการณ์สังคม
โดยตลอดการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมานั้นมีงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอด สร้างศักยภาพประเทศอย่างมากมาย แบ่งออกเป็นหลายด้านดังนี้
ด้านการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เห็นได้ชัดเจนในด้านการแพทย์ซึ่งช่วงโควิด-19 ทำให้รู้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านการแพทย์สูงมาก เนื่องจากตอนนั้นการให้งบวิจัยมุ้งเน้นไปที่การแก้วิกฤตชาติ ซึ่งได้งานวิจัยที่สามารถนำออกมาใช้ได้จริงหลายโครงการ ซึ่งมีตัวอย่างนวัตกรรมที่มาจากงานวิจัยที่เห็นชัดเจนได้แก่ ชุดตรวจ “COVITECT-1” ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula - HFNC) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารสกัดกระชายขาว และชุดตรวจ SARS-CoV-2 ด้วยวิธีแลมป์เปลี่ยนสี (RT-LAMP) ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 300 ล้านบาท และมูลค่าเชิงสังคมที่สร้างผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5 เท่า ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน ด้วยการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่สามารถสร้างรายได้ในปี 2564 ให้แก่โรงงานชุมชนเฉลี่ย 13,625 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 170,000 บาทต่อปี โดยนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 33 จังหวัด
โครงการพลังเกษียณสร้างชาติ โดยใช้วิธีระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 6,688 คน จาก 17 พื้นที่ในภาคเหนือ สามารถเพิ่มทักษะดิจิทัลในการสร้างช่องทางขายออนไลน์ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และการศึกษาการกระจายตัวและแหล่งปนเปื้อนเชื้อก่อโรคและเชื้อดื้อยาในแหล่งน้ำ ช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดการคุณภาพน้ำและน้ำเสียได้ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่า 215 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น
ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ สำหรับด้านนี้จะเห็นผลชัดเจนในภาคเกษตรกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตมะม่วงตลอดจนการแปรรูป ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกด้วยเครื่องขุดเจาะหลุมปลูกแทนการใช้แรงงาน สามารถลดต้นทุนได้ถึงหลุมละ 15 บาท ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถสร้างราคาเพิ่มได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทและภายใน 5 ปี โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 10 เท่า คือไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และไม่รวมกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตามมองว่าหากสร้างการรับรู้ทางวิชาการให้เกษตรกรมีการใช้นวัตกรรมและเรียนรู้การจัดเก็บข้อมูลจะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น
ส่วนอีกโครงการที่น่าสนใจคือ การปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์กัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และผลิตสินค้าจากเส้นใยกัญชง สามารถสร้างรายได้จากการปลูกกัญชงประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อไร่ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการผลิตและเพิ่มมูลค่ามังคุดเชิงพาณิชย์ ช่วยลดระยะเวลาในการดูแลสวนของเกษตรกรจากเดิมใช้เวลา 7 วันในแต่ละแปลงเหลือเพียง 30 นาที
สุดท้ายด้านการพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้ และระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในส่วนนี้ผลงานที่เห็นชัดเจน คือ การพัฒนาเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าแบบใหม่เพื่อประเมินการรักษาโรครูมาตอยด์ด้วยยาซัลฟาซาลาซีน ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการตรวจวิเคราะห์ปริมาณยาซัลฟาซาลาซีนในเลือดของผู้ป่วย โดยคาดว่ามีอยู่ประมาณ 180,000 คนทั่วประเทศ และโครงการขยายผลจัดสร้างกำแพงกันกระสุนด้วยบล็อกประสานเพื่อใช้ในฐานปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินหรือเตือนภัยต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างสะดวกมากขึ้น เป็นต้น
“เรามั่นใจว่าผลงานวิจัยที่ผ่านการคัดกรองจากกองทุนฯ แล้ว เป็นผลงานที่เดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกันและสามารถผลิตนวัตกรรมออกมาจากการวิจัยสู่การนำไปใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ได้”