xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจ ‘อินเทล’ กับจังหวะเร่งเครื่องรักษาผู้นำตลาดพีซี (Cyber Weekend)!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาที่โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาด แต่ในขณะเดียวกัน นับเป็นโอกาสของบรรดาผู้ผลิตชิปเซ็ตจากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ‘อินเทล’ ที่เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดก็เผชิญกับปัญหาขีดจำกัดทางเทคโนโลยี จนทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้กลับมารักษาความเป็นผู้นำในตลาดนี้ในระยะยาวให้ได้

ในช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา อินเทล ยอมรับว่าไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องของกำลังการผลิตชิปเซ็ต เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลากหลายภูมิภาค เพื่อรับกับปริมาณความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมอื่นที่มีการนำดิจิทัลไปช่วยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

โดยล่าสุด อินเทลเพิ่งประกาศความร่วมมือทางกลยุทธ์กับทาง MediaTek ในการใช้โรงงานผลิตชิปเซ็ต เพื่อป้อนบรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจะช่วยให้ทาง MediaTek สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้น ขณะที่อินเทลจะได้โอกาสในการรับผลิตชิปจำนวนมากจากโรงงานผลิตที่ลงทุนไป

ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของความท้าทายแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อินเทลเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในการผลิตชิปเซ็ต จากทั้งบรรดาผู้ผลิตชิปเซ็ตอุปกรณ์พกพาที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคอย่างการหันมาใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน คู่แข่งโดยตรงในสายธุรกิจอย่างเอเอ็มดี (AMD) ก็มีพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการผลิตหน่วยประมวลผล Ryzen ที่ออกมาจับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพในการใช้งาน และระดับราคาที่มีความคุ้มค่ากว่า

จนทำให้ปัจจุบันส่วนแบ่งทางการตลาดของอินเทลทั่วโลกในช่วงต้นปีที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ราว 72.3% และส่วนแบ่งของ AMD เพิ่มขึ้นมาเป็น 27.7% แสดงให้เห็นถึงส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ AMD โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดพีซีกลับมาเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์

ในอีกมุมหนึ่งพันธมิตรทางธุรกิจอย่างยาวนานของอินเทลอย่างแอปเปิล (Apple) ก็มีการเปลี่ยนผ่านหน่วยประมวลผลที่ใช้งานจากอินเทลสู่ Apple Silicon ไปพร้อมกับท้าทายอินเทลในแง่ของประสิทธิภาพการประมวลผลเมื่อเทียบกับพลังงานที่ใช้ ซึ่งหน่วยประมวลผลของอินเทลจะใช้พลังงานที่สูงกว่าเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน

เมื่อเห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้ปัจจุบันอินเทลที่กำลังทำตลาดหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่อย่าง 12th Gen Intel Core ต้องกลับมาสร้างทั้งสีสัน และความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในตลาด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ที่บรรรดาโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่กำลังทยอยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย

โจนาธาน อัง กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายขาย และการตลาด อินเทล ประจำประเทศไทย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน บังกลาเทศ และศรีลังกา ชี้ให้เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่นี้คาดการณ์ว่าจีดีพี (GDP) จะเติบโตราว 2.5-3.5% โดยเฉพาะการลงทุนที่จะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์แพร่ระบาดจะมาเป็นตัวช่วยให้ตลาดไอทีมีการเติบโต

“ประเทศไทยมีจำนวนพีซีที่ใช้งานมานานเกิน 4 ปี มากกว่า 8 ล้านเครื่อง และกว่า 6.4 ล้านเครื่องอยู่ในกลุ่มคอนซูเมอร์ ทำให้ปีนี้มีโอกาสที่ผู้บริโภคจะซื้อเครื่องใหม่เพื่อช่วยให้ประสิทธิภาพการใช้งาน และทำงานดีขึ้นเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ”

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากในปีที่ผ่านมาตลาดพีซีเติบโต 26% ทั้งจากปัจจัยการทำงานและการเรียนจากที่บ้าน รวมถึงพฤติกรรมการทำงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์แพร่ระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มพีซีเกมมิ่งที่นับเป็นสัดส่วนหลักในการเติบโตของไทย

“โควิด-19 ได้เข้ามาทำให้รูปแบบการใช้งานคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่จากเดิมอยู่ราว 5 ปี มีโอกาสที่จะเปลี่ยนเร็วขึ้น รวมถึงจำนวนการใช้งานในแต่ละครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 2-3 ดีไวซ์ เนื่องจากความจำเป็นในการใช้งาน”


วรชัย รวยอารีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย กลุ่มธุรกิจค้าปลีก บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มถึงกลยุทธ์ของอินเทล ในการนำเสนอแพลตฟอร์ม Intel EVO รุ่นที่ 3 ซึ่งจะมาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊กพกพาประสิทธิภาพสูง ที่รองรับการทำงานอย่างต่อเนื่อง

“โปรเจกต์ Athena หรือแพลตฟอร์ม Intel EVO 3 เปรียบเหมือนมาตรฐานที่ทางอินเทลกำหนดให้บรรดาผู้ผลิตโน้ตบุ๊กนำไปใช้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ที่ถูกทดสอบผ่านเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผล 12th Gen Intel Core ได้อย่างแท้จริง”

โดยโน้ตบุ๊กรุ่นที่ผ่านมาตรฐาน Intel EVO 3 จะครอบคลุมทั้งในแง่ของการใช้งาน และความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นตัวเครื่องที่พร้อมใช้งานทันทีที่เปิดหน้าจอขึ้นมา ประสิทธิภาพ และความเร็วในการส่งต่อข้อมูลที่รวดเร็วกว่ารุ่นก่อนหน้า มีการนำ AI มาช่วยในการทำงานทั้งการลดเสียงรบกวน เพิ่มคุณภาพของกล้องเว็บแคม ต่อเนื่องมาถึงระยะเวลาใช้งานบนแบตเตอรี่นานกว่า 9 ชั่วโมง รองรับการชาร์จเร็ว ตัวเครื่องยังสามารถเชื่อมต่อได้รวดเร็วบนเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสมัยใหม่อย่าง WiFi 6E รวมถึง LTE และ 5G ในรุ่นที่รองรับ และยังมีฟอร์มแฟกเตอร์ที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันมีโน้ตบุ๊กที่ผ่านมาตรฐาน Intel EVO 3 มากกว่า 70 ดีไซน์ทั้งที่เป็นโน้ตบุ๊กทั่วไป และฟอร์มแฟกเตอร์ใหม่อย่างโน้ตบุ๊ก 2 หน้าจอ โน้ตบุ๊กพับจอได้ และในจำนวนนี้มีกว่า 13 รุ่นที่เป็นสินค้าในระดับพรีเมียมซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง


พร้อมกันนี้ อินเทลได้นำกิจกรรมอย่าง Intel EVO Challenge มาสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคด้วยการร่วมมือกับ 7 ครีเอเตอร์ที่นำแล็ปท็อปไปสร้างสรรค์ผลงานภายใต้โจทย์ที่แตกต่างกัน เพื่อนำเสนอความสามารถของแล็ปท็อปที่ผ่านมาตรฐาน Intel EVO ตั้งแต่วันนี้-9 กันยายน 2565

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากแบรนด์ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการทำตลาดของอินเทลในช่วงปีที่ผ่านมาว่า ได้ปรับมาทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ทั้งการเข้าไปสนับสนุนงบประมาณทางการทำตลาดร่วมกับแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะหลังจากที่เปิดตัวชิปเซ็ตรุ่นใหม่อย่าง 12th Gen Intel ออกสู่ตลาด

“การแข่งขันในตลาดชิปเซ็ตตอนนี้จะไม่กลับไปเป็นเหมือนยุคก่อนหน้านี้แล้วที่อินเทลครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมด เพราะหลังจากที่ AMD ขยายตลาดของ Ryzen ขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ทำให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในภาพรวมของตลาดคิดว่าสัดส่วนขึ้นมาอยู่ที่ราว 65% ต่อ 35% แล้ว และในบางแบรนด์มีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 50%”

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการที่อินเทลมีการเพิ่มทีมฝ่ายขายที่เป็นคนไทยเข้ามาดูแลพาร์ตเนอร์ ที่ลงไปดูแลในระดับหน้าร้านค้าทำให้ปัจจุบันนับว่ามีการแข่งขันกันเพิ่มมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ AMD เข้าถึงบรรดาดิสทริบิวเตอร์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น