xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกไทยแห่ย้ายไปคลาวด์ AWS โชว์ The 1 เหลือออนพริมฯ แค่ 10%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอดับลิวเอส (AWS) อัปเดตตลาดคลาวด์ไทยคึกคักหลังโควิด-19 ระบุธุรกิจค้าปลีกลุยย้ายไปคลาวด์ หรือ cloud migration มากขึ้นตามกระแสยุคอีคอมเมิร์ซบูม ด้านเดอะวัน (The 1) เผยข้อมูลในระบบถูกย้ายขึ้นคลาวด์ 90% แล้ว เพื่อเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี เชื่อมโยงทุกไลฟ์สไตล์ เพื่อสมาชิกและพาร์ตเนอร์ธุรกิจ รับทยอยย้ายจนเหลือ CRM บนระบบเซิร์ฟเวอร์ดั้งเดิม หรือออนพริมิส (on premise) เพียง 10% เท่านั้น

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager จาก AWS ประจำประเทศไทย บรรยายในหัวข้อ "The 1 AWS data analytic" ว่า AWS เห็นสถานการณ์การเปลี่ยนไปใช้คลาวด์ของธุรกิจไทยปีนี้ขยายตัวในอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยจากการแบ่งลูกค้าออกเป็น 5 กลุ่มขนาด ได้แก่ องค์กรขนาดใหญ่ กลุ่มเอสเอ็มบี สตาร์ทอัป ดิจิทัลเนทีฟ และไอเอสวี พบว่าองค์กรไทยแต่ละกลุ่มมีการย้ายมาใช้คลาวด์ในความเร็วระดับต่างกัน แต่กรณีศึกษาที่แสดงว่าองค์กรขนาดใหญ่ย้ายจากระบบเดิมมาปรับใช้คลาวด์จนประสบความสำเร็จนั้นช่วยปลดล็อกและกระตุ้นให้เกิดการวางแผนจัดการข้อมูลมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้สัดส่วนองค์กรที่วางแผนข้อมูลมีจำนวนเพิ่มขึ้น เสริมให้มูลค่าตลาดคลาวด์ทั่วโลกที่เติบโตราว 40% ในไตรมาสที่ผ่านมา จะมีทิศทางการเติบโตในทิศทางเดียวกัน หรือมากกว่าในประเทศไทย

"กลุ่มที่ย้ายมามากขึ้นคือค้าปลีก โควิด-19 มีผลทำให้พฤติกรรมชอปปิ้งเปลี่ยนและอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซขยายตัว เป็นการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่กลุ่มสถาบันการเงินย้ายมาคลาวด์มาก นอกจากกลุ่มค้าปลีก ยังมีกลุ่มโรงพยาบาล และโรงงาน"

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์
อีกปัจจัยที่เสริมให้ cloud migration เกิดขึ้นในธุรกิจไทยมากขึ้นคือการเพิ่มของข้อมูลที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เติบโตขึ้นเป็น 1,000 เท่า (เติบโตขึ้น 10 เท่าตัว) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้นอกจากการเก็บข้อมูลในระยะยาวที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคนที่สร้างและนำข้อมูลมาใช้ อย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) และธุรกิจต่างๆ ที่นำข้อมูลไปใช้อย่างหลากหลายและแบบเรียลไทม์


ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Aberdeen ชี้ให้เห็นว่า คนที่นำข้อมูลมาใช้ในการทำธุรกิจจะมีความได้เปรียบ ช่วยให้มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน และส่งผลให้รายได้มีการเติบโตใน 20-30% โดยประมาณ เทียบกับธุรกิจที่ไม่ได้นำข้อมูลมาใช้อย่างจริงจังจะมีค่าเฉลี่ยการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 15% การนำข้อมูลมาใช้และวิเคราะห์ให้ประโยชน์แก่องค์กรใน 3 ด้าน ดังนี้ 1) เพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร 2) การตัดสินใจได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น 3) เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับองค์กร ซึ่งในปัจจุบัน องค์กรกว่า 68% ยังไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ที่ AWS เรามองว่าการจัดการข้อมูลต้องมีความชัดเจนในการพัฒนา Data Platform เพื่อให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจต่างๆ จึงเป็นที่มาของ “Modern Data Strategy” ซึ่งเน้นให้องค์กรเตรียมความพร้อมด้านการลงทุน การสร้างทีมงาน มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และมีการจัดเก็บที่ปลอดภัย ป้องกันความเป็นส่วนตัวของลูกค้า โดยสามารถรวบรวมและสร้างความต่อเนื่องของข้อมูลได้ คู่กับนำข้อมูลมาสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วย AI และ Machine Learning ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บน AWS Well-Architected Framework ที่มีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด รองรับถึง 98 มาตรฐานความปลอดภัย และบริการของ AWS ทั้ง 117 รายการที่จัดเก็บข้อมูลลูกค้ามีความสามารถให้เข้ารหัสข้อมูลได้"

คณินท์ ปิ่นสุวรรณ์ และธีรพล ไทยหิรัญ
นายคณินท์ ปิ่นสุวรรณ์ Head of Product and Operations จาก The 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรค้าปลีกไทยที่ทำ cloud migration อย่างจริงจัง กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่เดอะวันตัดคำว่า "การ์ด" ออกไป แล้วเปลี่ยนตัวเองมาเป้นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล คือการมองเห็นเซกเมนต์สำคัญ ทำให้บริษัทในเครือเซ็นทรัล สามารถขยายจากธุรกิจชอปปิ้งและอาหาร โดยเริ่มไปที่ตลาดบริการด้านการเงิน ท่องเที่ยว เป็นการเรียนรู้ดาต้ามากขึ้นที่สามารถเสิร์ฟพาร์ตเนอร์ได้ นำไปสู่การคิดบิสิเนสโซลูชันที่นำพาสมาชิกไปสู่อีโคซิสเต็มของพาร์ตเนอร์ เป็นการพาทราฟฟิกไปพบกับพาร์ตเนอร์ที่มีบริการที่ตรงใจกับเซกเมนต์นั้น

The 1 เลือกที่จะไม่ย้ายข้อมูลจากระบบเซิร์ฟเวอร์ดั้งเดิม (ออนพริม) ขึ้นสู่คลาวด์แบบทั้งหมดในรอบเดียว เพราะจากที่เริ่มต้นในปี 2006 เดอะวันการ์ดต้องจัดการกับดาต้าหลากหลายรูปแบบและหลายแหล่งที่มา ดังนั้น จึงใช้วิธีกำหนดเป็นยูสเคส เพื่อย้ายข้อมูลที่ตอบโจทย์เฉพาะยูสเคส จากนั้นจึงค่อยขยาย โดยปัจจุบันยังมีการใช้ระบบงานบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM บนระบบออนพริมราว 10% ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับคลาวด์ได้แบบไร้รอยต่อ

"จากออนพริม ที่ใช้เวลานานในการสั่งซื้อ-ติดตั้ง ขยายยาก ดูแลพื้นที่ยาก ปัจจุบันเราหันมาใช้คลาวด์ 80-90% แล้ว เปิดให้พันธมิตรวิเคราะห์ข้อมูลได้ มีระบบที่สร้างไว้ก่อน ช่วยให้สร้างแอปได้เร็วขึ้นจาก 6 เดือนเป็น 2 เดือน" คณิณท์ระบุ "การตลาดรุนแรง องค์กรที่ยังอยู่ในออนพริมจะแข่งยาก เดอะวันต้องเตรียมการรับทราฟฟิก ตรงนี้ไม่ควรต้องใช้เวลาทำล่วงหน้านาน แต่ควรทำได้ทันทีในวันรุ่งขึ้น"

นอกจากนี้ คณิณท์ย้ำอีกว่าเมื่อคลาวด์ใช้ง่าย การจ่ายก็ง่ายตามไปด้วย องค์กรควรต้องรู้และวางแผนการใช้งานระบบคลาวด์ และปิดในเวลาที่ไม่จำเป็น องค์กรจะต้องเรียนรู้และคำนวณให้ดี


สำหรับแผนในอนาคตของบริษัทคือการเปิดกว้างดาต้าให้บุคลากรในบริษัทเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ขณะที่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เดอะวันจะโฟกัสที่สมาชิกที่ยังไม่เปิดใช้แอปพลิเคชัน เพื่อให้ไม่เสียประโยชน์จากการเข้าไม่ถึงดีลที่มีมากมายจากพาร์ตเนอร์ในระบบ อีกจุดคือการเพิ่มฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์สมาชิกที่มาใช้งานบนแอปแล้ว 6 ล้านคน เชื่อว่าปี 2566 จะสามารถเปิดตัวประสบการณ์ชอปปิ้งรูปแบบใหม่ที่จะดึงดูดใจผู้ใช้มากขึ้น และใน 1-2 ปีคาดหวังจะมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านรายบนแอปพลิเคชัน โดยจะเพิ่มบุคลากรจากปัจจุบันที่เป็นเอาต์ซอร์ส 70% จาก 200 คน มาเป็นบุคลากรของตัวเอง 50% ในปีหน้า

The 1 นั้นถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่นำเรื่องข้อมูลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพบนคลาวน์ของ AWS โดยปัจจุบัน The 1 มีพาร์ตเนอร์ 2,000 ราย ครอบคลุมกว่า 32,000 จุดให้บริการ ปัจจุบันมีการนำ AI และ Machine Learning มาใช้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการเชื่อมต่อ Data Source ทั้งหมดที่มีให้อยู่ที่เดียวกันเพื่อให้ผู้ใช้ทางธุรกิจ (Business User) และผู้ใช้วิเคราะห์ (Analytic User) เข้ามาใช้งานและเห็นเส้นทางการใช้บริการของผู้บริโภค (Customer Journey) ได้ครบ นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาดของ The 1 ในการมอบประสบการณ์ที่ดีให้สมาชิกในรูปแบบเฉพาะบุคคล (Hyper-Personalized Marketing) ยังได้นำ Amazon Personalize มาใช้ ซึ่งในอดีตระยะเวลาการทำ data personalization ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนหรือ 1 ปี แต่ Data Personalization ด้วย AWS Personalize ใช้เวลาเพียง 2 เดือนในการดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น