xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ฯ ต้านข่าวปลอม ชี้ข่าวสุขภาพครองอันดับหนึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ฯ ต้านข่าวปลอม เผยผลทำงาน 3 ปี พบกรมประชาสัมพันธ์ส่งเรื่องตรวจสอบมากสุด ขณะที่หมวดสุขภาพยังครองอันดับหนึ่งข่าวปลอม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเน้นบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือในการประสานการตรวจสอบข่าวปลอมกับหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ปี 63 ถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือมากที่สุด 10 ลำดับแรก ดังนี้ 1.กรมประชาสัมพันธ์ จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 1,012 เรื่อง ตอบกลับ 1,008 เรื่อง 2.กรมการแพทย์ จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 417 เรื่อง ตอบกลับ 408 เรื่อง 3.สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 214 เรื่อง ตอบกลับ 214 เรื่อง 4.กรมการขนส่งทางบก จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 104 เรื่อง ตอบกลับ 103 เรื่อง

5.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 111 เรื่อง ตอบกลับ 99 เรื่อง 6.กรมบัญชีกลาง จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 74 เรื่อง ตอบกลับ 73 เรื่อง 7.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 63 เรื่อง ตอบกลับ 61 เรื่อง 8.กรมชลประทาน จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 59 เรื่อง ตอบกลับ 59 เรื่อง 9.กรมการจัดหางาน จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 60 เรื่อง ตอบกลับ 58 เรื่อง และ 10.สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวนที่ส่งตรวจสอบ 52 เรื่อง ตอบกลับ 49 เรื่อง

ทั้งนี้ เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรีมีประกาศให้ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการแจ้งดำเนินคดีต่อตำรวจเองในกรณีที่หน่วยงานของตนเองถูกปลอมข่าว เนื่องจากเป็นผู้เสียหายโดยตรง เมื่อมีการแจ้งดำเนินคดีต่อตำรวจก็จะทำให้ตำรวจสามารถจับหรือหาต้นตอของข่าวปลอมได้ เพื่อหยุด หรือลบข่าวปลอมที่ทำให้ประชาชนสับสน

สำหรับภาพรวมของข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ฯ เมื่อเดือน พ.ย.62-20 ก.ค.65 มีจำนวนข้อความทั้งหมด 799,705,387 ข้อความ มีเรื่องที่ส่งตรวจสอบ 16,843 เรื่อง โดยหมวดหมู่สุขภาพ ครองอันดับ 1 คิดเป็น 49% รองลงมาเป็นหมวดหมู่นโยบายรัฐ 46% หมวดหมู่เศรษฐกิจ 3% และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 2%

น ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ศูนย์ได้จัดประกวดคลิปวิดีโอสั้น เพื่อกระตุ้นการสร้างการรับรู้ ในการรู้เท่าทัน และรับมือกับข่าวปลอมให้ประชาชน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในการเลือกรับ และปรับใช้สื่อเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม และเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน

กลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรีชั้นปีที่ 1-2) และระดับอาชีวศึกษา (ปวส. ชั้นปีที่ 1-2) หรือเทียบเท่า ภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ กับการต่อต้าน Fake News” ชิงทุนการศึกษาและรางวัลมูลค่ารวมกว่า 250,000 บาท และประเภทหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ภายใต้หัวข้อ “ป้องกัน ปกป้อง ประชาชนให้พ้นภัยข่าวปลอม”


กำลังโหลดความคิดเห็น