xs
xsm
sm
md
lg

‘AI For Thai’ แพลตฟอร์ม AI แห่งชาติ ก้าวสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากความท้าทายของภาษาไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้การสอนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ และจดจำภาษาไทยนั้นต้องใช้ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ของคนไทย ในการสอนให้ AI สามารถรู้จำทั้งภาพ เสียง และภาษาที่สามารถสื่อสารออกมาเป็นภาษาไทยได้ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ‘เนคเทค’ ได้เริ่มนำเสนอ AI For Thai แพลตฟอร์ม AI ที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทย เพื่อคนไทย ที่หวังจะให้คนไทยทุกคนได้เข้ามาใช้งาน

จุดเริ่มต้นของ AI For Thai เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับประเทศไทย ตามแผนแม่บท AI แห่งชาติ ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจต่างๆ เข้ามาเลือกนำระบบ AI ไปใช้งานเพื่อพัฒนาประเทศ เสริมประสิทธิภาพของธุรกิจ ช่วยให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น

โดยในช่วงที่เริ่มต้นให้บริการแพลตฟอร์ม AI For Thai ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ช่วงนั้นการนำ AI มาใช้งานยังไม่แพร่หลาย ขณะเดียวกันด้วยการที่เป็นหน่วยงานของรัฐทำให้มีความยากในการติดต่อ โดยเฉพาะในขั้นตอนเอกสารต่างๆ ที่มีความยุ่งยาก ทำให้ยังไม่มีองค์กรเข้ามาใช้งานมากเท่าที่ควร

ส่วนเป้าหมายหลังจากนี้ของ AI For Thai คือการเปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาเลือกนำบริการไปใช้งานให้มากที่สุด จากที่ปัจจุบันมีการเรียกใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนราว 1 ล้านครั้ง ในลักษณะของการทดสอบ ทดลองนำไปใช้งานก่อนเข้าสู่เฟสถัดไปที่จะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ควบคู่กับบริการสาธารณะ

ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ นักวิจัย งานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี ฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศกรรมและเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์ม AI For Thai มีชุดคำสั่ง (API) ให้เชื่อมต่อใช้งานกว่า 53 บริการ ในการประมวลผลข้อมูล 3 รูปแบบหลักๆ คือ การประมวลผลภาพ การประมวลผลเสียง และการประมวลผลทางด้านภาษา

โดยจะรองรับทั้งการประมวลผลภาษาไทย การแปลงภาพตัวอักษรเป็นข้อความ แปลงเสียงพูดเป็นข้อความ แปลงข้อความเป็นเสียงพูด จนถึงระบบวิเคราะห์ใบหน้า สร้างแชตบอท ระบบวิเคราะห์ความคิดเห็น วิเคราะห์บุคคล รวมถึงระบบรู้จำวัตถุภาษาไทยที่มีความโดดเด่นจากการที่พัฒนาบนพื้นฐานของคนไทย ทำให้สามารถแยกแยะรายละเอียดได้มากยิ่งขึ้น


อย่างเช่นการแยกแยะภาพก๋วยเตี๋ยว ถ้าเป็น AI ที่พัฒนาโดยต่างประเทศ จะแสดงผลออกมาเป็น Noodle เท่านั้น แต่ถ้าเป็น AI ที่คนไทยพัฒนาเองสามารถต่อยอดให้แยกแยะได้เลยว่าเป็น ผัดไทย คั่วไก่ ก๋วยเตี๋ยวเรือ หรือบะหมี่หมูแดง เป็นต้น ขึ้นอยู่กับโจทย์ของการนำไปใช้งานซึ่งทำให้เหมาะกับการนำไปให้คนไทยใช้งานมากกว่า

ในช่วงแรกแพลตฟอร์ม AI For Thai ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอย่าง INET และ NT รวมถึง GDCC ที่เปิดให้นำชุดคำสั่ง AI ไปประมวลผลบนคอมพิวเตอร์ประมวลระดับสูง ในช่วงของการทดสอบให้บริการ แต่เมื่อกำลังจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ ทำให้ทางเนคเทคต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยับขยายให้รองรับการใช้งาน และการประมวลผลที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

“พื้นฐานข้อมูลในการนำมาพัฒนาบริการต่างๆ บน AI For Thai คือการนำข้อมูลวิจัยกว่า 20 ปี ของ สวทช. มาต่อยอด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ายิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ AI เหมาะกับการนำไปต่อยอดใช้งานได้มากเท่านั้น รวมถึงในแง่ของความถูกต้อง และความแม่นยำด้วย”

นอกเหนือจากข้อมูลวิจัยต่างๆ แล้วทางเนคเทคยังได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมจากพันธมิตรที่เข้ามาช่วยในการเทรนด์ AI ไม่ว่าจะเป็นการนำฐานข้อมูลของพันทิปเว็บบอร์ดที่มีข้อมูลน่าสนใจจากหลากหลายความสนใจของผู้ใช้งาน รวมถึงสำนักข่าวต่างๆ ที่เปรียบเหมือนฐานข้อมูลภาษาไทยในการฝึกฝน ร่วมกับนักพัฒนา และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน


ที่ผ่านมาเริ่มมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่สนใจเข้ามาเลือกใช้บริการในแพลตฟอร์ม AI For Thai แล้ว ในลักษณะของการเชื่อมต่อ API เพื่อทดสอบใช้งานในลักษณะของ Proof of Concept ที่จะแสดงให้เห็นว่าบริการต่างๆ สามารถนำไปใช้งานได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาทางเนคเทคเพื่อร่วมทดสอบใช้งานได้ทันที แต่จะมีการจำกัดปริมาณคำสั่งที่ใช้ทดสอบอยู่ที่ราว 1 แสนคำสั่งต่อเดือนสำหรับผู้ใช้แต่ละคนจากข้อจำกัดของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประมวลผล

สำหรับบริการ AI ที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ จะมีทั้งการรู้จำเสียง ที่นำไปใช้กับบริการ Call Center ที่จะสามารถใช้ในการวิเคราะห์เสียงและสรุปออกมาเป็นเนื้อหาสำคัญ ทำให้สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาปรับปรุงการให้บริการต่อได้ ต่อเนื่องมายังบริการ Chatbot ที่จะเข้าไปช่วยตอบคำถามเบื้องต้นแก่ลูกค้า หรือประชาชนที่เข้าไปสอบถามข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ

“ที่ผ่านมาเริ่มมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนสนใจเข้ามาทดลองใช้งานกันแล้วอย่าง บริการที่ได้รับความนิยมในระดับองค์กร เช่น การนำ Chatbot ไปช่วยตอบคำถาม รวมถึงบริการอย่าง S Sense ที่เป็นเหมือน Social Listening Tools ช่วยให้แบรนด์สามารถติดตามเทรนด์ และการพูดถึงที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียได้”

***ก้าวสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์

สำหรับเฟสถัดไปของ AI for Thai หลังจากเริ่มให้ทดลองใช้งานมากว่า 2 ปี จะเกิดขึ้นภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ด้วยการปรับรูปแบบของบริการให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่สนใจสามารถนำ AI ที่อยู่บนแพลตฟอร์มที่จะมีทั้งบริการที่นักวิจัยของสวทช. พัฒนาขึ้นมา รวมกับบริการ AI ของบริษัทในประเทศไทยที่เข้ามาให้บริการ

โดยทางเนคเทคจะเน้นที่การสร้างแพลตฟอร์มกลาง (Core Technology) เพื่อรองรับการเชื่อมต่อผู้ใช้งานเข้ากับพันธมิตรเจ้าของบริการ AI รวมถึงแหล่งทรัพยากรที่จะเข้ามาใช้ในการประมวลผลต่างๆ เพื่อสร้างธุรกิจการให้บริการเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ในประเทศทำให้เกิดรายได้จากการให้บริการ มีการจัดสรรผลประโยชน์ไปยังผู้เกี่ยวข้องกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย


จากความจำเป็นที่เกิดขึ้นทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เนคเทคเริ่มมองหาคอมพิวเตอร์ที่จะมาช่วยประมวลผลการทำงานของ AI ที่จะรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปิดให้องค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs เข้ามาทดสอบใช้งานเพิ่มเติม และรองรับรูปแบบการทำงานของ AI ยุคใหม่ ที่พัฒนาขึ้นด้วยการดึงประสิทธิภาพในการประมวลผลของกราฟิกการ์ด (GPU) ทำให้ได้ความเร็วในการประมวลผลที่เร็วกว่าหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) หลายเท่าตัว

ประกอบกับนักวิจัยรุ่นใหม่ของเนคเทค เริ่มหันมาใช้งาน GPU ในการประมวลผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากก่อนหน้านี้ที่มีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประมวลผลเฉพาะ CPU ของเนคเทค 312 Core RAM 750 GB กับของทาง GDCC ที่มี CPU 216Core RAM 828 GB จึงได้ลงทุนคอมพิวเตอร์ที่มี GPU เพิ่ม ในโครงการล่าสุดทำให้มี CPU สำหรับประมวลผล 480 Core GPU 288Core RAM 2560 GB

ทำให้จากเดิมที่ต้องใช้ทรัพยากรของทาง INET NT และ GDCC เพื่อรองรับการประมวลผลที่ได้ขีดความสามารถกว่า 7 แสนคำสั่ง เพิ่มขึ้นมาเป็น 1 ล้านคำสั่งจากการลงทุนในครั้งนี้ ด้วยมูลค่าการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

***นำ Altos เติมเต็มการประมวลผลขั้นสูง


ก่อให้เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างอัลทอส (Altos) และเนคเทค ที่สามารถจัดหาคอมพิวเตอร์สำหรับการประมวลผลระดับสูงที่มาพร้อม GPU NVIDIA ตามข้อกำหนดของทีโออาร์ได้ แม้อยู่ในช่วงที่ชิปเซ็ตขาดแคลนจากผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้น

ดร.กริช กล่าวว่า ในแง่ของการประมวลผลนั้นยอมรับว่า Altos สามารถตอบสนองความต้องการได้เป็นอย่างดี เมื่อประกอบกับความคุ้มค่า และช่วงระยะเวลาที่สามารถจัดหาคอมพิวเตอร์มาได้ตามที่กำหนด โดยเฉพาะในเรื่องของการให้คำปรึกษาบริการติดตั้ง และการรับประกันที่มีให้ถึง 3 ปี ด้วยบริการหลังการขายแบบ On-site ที่สามารถดูแลให้กับเราได้แบบ 24x7 ที่จะช่วยให้เนคเทคสามารถเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ได้

“ตอนนี้เครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนา และการวิจัยทางด้าน AI ถูกผูกเข้ากับการประมวลผลผ่าน GPU ของ NVIDIA เพื่อที่จะทำให้สามารถพัฒนาการประมวลผลให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น”

เบื้องต้นเท่าที่ทีมงาน AI For Thai ใช้งานคอมพิวเตอร์ประมวลผลระดับสูงของ Altos ที่ใช้งานมาต่อเนื่องกว่า 10 เดือน ถือว่าพิสูจน์เพิ่มเติมในแง่ของความเสถียร และความทนทานทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถรองรับการใช้งานต่อเนื่องในอนาคตได้ด้วย

***ต่อยอดจากงานวิจัยสู่การใช้งานจริง


อีกหนึ่งความน่าสนใจของแพลตฟอร์ม AI For Thai ที่เปิดให้บริการมากว่า 2 ปีแล้วก็คือ การที่ปัจจุบันทีมนักพัฒนา AI ของเนคเทคที่มีอยู่กว่า 60 คน ซึ่งแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเรื่องข้อความ ภาพ และเสียงตามสายที่ถนัด ซึ่งมีความพร้อมในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อตอบโจทย์ของการนำไปใช้จริง เช่น เมื่อเร็วๆ นี้นักวิจัยด้าน AI ที่เชี่ยวชาญทางด้านการประมวลผลข้อความ ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับแอปพลิเคชันยอดฮิตในเวลานี้อย่าง ‘ทราฟี่ฟองดูว์’ ในการใช้ AI ไปช่วยในการแยกประเภทของคำถามจำนวนมากที่เข้ามาในแอปพลิเคชัน ลดขั้นตอนการใช้งานของผู้ใช้ทั่วไปและเพิ่มความแม่นยำของการรายงานปัญหา

แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำ AI มาใช้งาน คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้วผู้ใช้ไม่ต้องรับรู้ก็ได้ว่าบริการเหล่านี้เป็น AI เพียงแต่ผู้ที่นำบริการเหล่านี้มาทำให้ประชาชนใช้งาน

“อยากให้นักพัฒนาคนไทยได้เข้ามาลองใช้งานแพลตฟอร์มนี้ เพื่อที่จะได้นำบริการเหล่านี้ไปต่อยอดใช้งานในอนาคต และสุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์คือประชาชนที่ใช้งานบริการที่ถูกพัฒนาออกมา โดยที่ไม่จำเป็นต้องรับรู้ก็ได้ว่าเบื้องหลังของบริการเหล่านี้คือ AI ที่ทางเนคเทค หรือ สวทช. พัฒนาขึ้นมา” ดร.กริช กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น