xs
xsm
sm
md
lg

Shopee แจงปรับโครงสร้างไม่ใช่การลดค่าใช้จ่าย พร้อมเต็มที่ลุยดิจิทัลแบงกิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซี ประเทศไทย หรือ Sea (ประเทศไทย) บริษัทแม่แพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ “ช้อปปี้” (Shopee) เผยถึงการเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ว่าเป็นการปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดปัจจุบัน ย้ำไม่ใช่การลดค่าใช้จ่ายเพราะภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ระบุบริการสินเชื่อรายย่อยไปได้ดีหนี้สูญน้อย พร้อมขยายให้บริการด้านการเงินที่หลากหลายหากประเทศไทยเปิดให้ขอไลเซนส์

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงการปรับโครงสร้างบริษัทที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดว่าเป็นการปรับโครงสร้างตามความเป็นไปของตลาดปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ โดยคาดว่าหากตลาดเป็นไปตามคาดการณ์และไม่เกิดเหตุที่เกินคาดอีก สิ่งที่บริษัทปรับโครงสร้างและทรัพยากรที่มีในขณะนี้จะมีความพร้อมเต็มที่ในการให้บริการตามแผนที่วางไว้

“เป็นการปรับตามตลาดที่เปลี่ยนอย่างผันผวนรุนแรงมาก ไม่ใช่ลดค่าใช้จ่าย แต่เป็นการปรับตามตลาดมากกว่า” มณีรัตน์ ระบุ “เราชะลอการขยายบริการช้อปปี้ฟูด ช้อปปี้เพย์ในตลาดใหม่ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจดี เราก็ยังกลับมาขยายต่อ”

ข่าวการเลิกจ้างพนักงานและปรับโครงสร้างของช้อปปี้นั้นได้รับความสนใจในช่วงปลายมิถุนายน 65 โดยมีรายงานว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเครือ Sea Group กำลังเลิกจ้างพนักงานในหลายตลาดทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม โดยแหล่งข่าวของสำนักข่าว DealStreetAsia ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของทีมงานบริการชำระเงินดิจิทัล ShopeePay และบริการจัดส่งอาหาร ShopeeFood ของ Shopee ในประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการค้าปลีกและการบริโภคในภูมิภาค


ปัจจุบัน รายได้ส่วนใหญ่ของ Sea ยังคงมาจากบริการเกมออนไลน์ “การีนา” (Garena) โดยข้อมูลทางการเงินสำหรับไตรมาสแรก ปี 2565 ของ Sea Group สะท้อนว่ามีรายรับเพิ่มขึ้น 64.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี อัตรากำไรขั้นต้นพุ่งขึ้น 81.3% เป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับหน่วยธุรกิจ Shopee แม้จะเป็นธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเผาผลาญกระแสเงินสด แต่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 71.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ารวม 1.9 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปี 2565 ในขณะที่มูลค่าสินค้ารวมเพิ่มขึ้น 38.7% เป็น 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่สำคัญอัตรากำไรขั้นต้นของ Shopee ในส่วนอีคอมเมิร์ซนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ผลจากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นตามธุรกรรม และรายได้จากการโฆษณาที่เติบโตเร็วขึ้นทำให้เกิดอัตรากำไรที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับบริการเกม

อย่างไรก็ตาม Shopee ยังคงเผชิญกับปัญหาระดับมหภาค ทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการค้าปลีกและการบริโภค ทำให้บริษัทเปลี่ยนแผนการขยายธุรกิจสู่สากล รวมถึงการรุกเข้าสู่ยุโรปและละตินอเมริกา โดยก่อนหน้านี้ Shopee ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจในโปแลนด์และสเปนได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากฝรั่งเศสหลังจากผ่านไปเพียง 5 เดือนเนื่องจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

สำหรับประเทศไทย ผู้บริหารช้อปปี้ระบุว่าแม้จะปรับเปลี่ยนแผน แต่ยังบริษัทยังคงมีนโยบายรับบุคลากรเพิ่ม ปัจจุบันยังใช้เงินที่เพิ่มทุนมาได้อย่างครอบคลุม ในส่วนบริการซีมันนี่ (SeaMoney) นั้นเริ่มให้บริการนานเกิน 1 ปีแล้ว ยอดผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากวิกฤตโควิดและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งไม่สามารถเข้าระบบเพื่อรับสินเชื่อทางการเงินได้ จุดนี้ Sea ย้ำว่าบริษัทมีข้อมูลการใช้งานที่สามารถวิเคราะห์คุณภาพผู้ขอสินเชื่อที่แม่นยำ ซึ่งตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างดี

“ยอดตั้งแต่เปิดให้บริการเราเผยไม่ได้แต่เป็นไปตามคาดหมาย ยอดเงินสินเชื่อต่อบุคคลกำหนดตามใบอนุญาตที่ได้รับ อัตราหนี้สูญน้อย เพราะวงเงินไม่สูง พฤติกรรมชำระเงินดี เรามีระบบวิเคราะห์ความเสี่ยง หากประวัติการชำระเงินดี การให้สินเชื่อครั้งหน้าจะเพิ่มยอดมูลค่าขึ้น” มณีรัตน์ทิ้งท้าย “หากประเทศไทยเปิดให้ไลเซนส์ดิจิทัลแบงกิ้ง เราจะไปเข้าแถวเพื่อเปิดให้บริการรายแรกเหมือนที่ทำสินเชื่อดิจิทัลโลน”

ปัจจุบัน Sea ประเทศไทยมีพนักงานเต็มเวลา (ฟูลไทม์) จำนวน 7 พันคน โดยไทยเป็นตลาดขนาดใหญ่ระดับ Top 3 ของกลุ่ม Sea Group ธุรกิจหลักที่ทำรายได้คือเกม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดคือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เบื้องต้น ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าบริการด้านการเงินดิจิทัล คือบริการที่สร้างกำไรมากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น