xs
xsm
sm
md
lg

ทวิตเตอร์-อีลอน มัสก์ จบแบบไหนก็เจ็บ! เปิดไทม์ไลน์ 3 เดือนแห่งการฟัดกันนัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากซ้าย แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ และอีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีที่กำลังยกเลิกดีลซื้อทวิตเตอร์ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นาทีนี้โลกไอทีส่องไฟไฮไลต์ไปจับที่ข่าวความขัดแย้งระหว่างทวิตเตอร์ (Twitter) และอีลอน มัสก์ (Elon Musk) หลายคนเกาะติดมุมมองและอิมแพกต์รอบด้านที่เกิดขึ้น ขณะที่บางคนวิเคราะห์ถึงทางออกของการทะเลาะกันในรอบนี้ที่อาจเป็นไปได้มากกว่า 8 รูปแบบ ซึ่งไม่ว่าข้อพิพาทนี้จะจบอย่างไร ทุกรูปแบบล้วนมีคนเจ็บตัว

จุดเริ่มต้นหลักของความขัดแย้งทั้งหมด คือการที่มหาเศรษฐีอย่างอีลอน มัสก์ ทำให้โลกประหลาดใจด้วยการประกาศซื้อทวิตเตอร์ ซึ่งถูกมองเป็น ‘ของเล่นชิ้นโปรด’ ด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่แล้วในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกก็ประกาศว่าไม่ต้องการซื้ออีกต่อไป ทำให้ทวิตเตอร์ต้องบอกว่า ‘ไปเจอกันที่ศาล’ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในระหว่างทางนั้น ทวิตเตอร์อยู่ในภาวะที่ประสบปัญหามากมาย ส่งผลให้หุ้นร่วงต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 33.27% นับตั้งแต่ช่วงเมษายน 2565

ปัญหาคาใจของทั้งคู่คือข้อโต้แย้งเรื่องจำนวนบัญชีปลอมหรือสแปมว่ามีกี่บัญชี ข้อโต้แย้งนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนตลอดเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งมัสก์ย้ำว่าต้องการให้ทวิตเตอร์เปิดเผยความจริงและความถูกต้อง และหากข้อมูลที่ให้มานั้นไม่ถูกต้อง ตัวเขาก็ไม่สามารถจ่ายราคาเดียวกันเพื่อซื้อ ‘สิ่งที่แย่กว่า’ ได้

คำพูดนี้ของมัสก์มาจากข้อมูลที่ทวิตเตอร์ชี้แจงว่า บัญชีปลอมบนแพลตฟอร์มนั้นมีน้อยกว่า 5% ซึ่งเป็น ‘บัญชีบอท’ ที่สร้างโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่บุคคลจริง แต่มัสก์มีความเชื่อว่าเปอร์เซ็นต์บัญชีบอทอาจสูงกว่านี้มาก ซึ่งที่ผ่านมา ทวิตเตอร์พยายามย้ำว่าได้ส่งข้อมูลให้มัสก์แล้ว แต่ในจดหมายชี้แจงการขอยกเลิกดีลซื้อกิจการที่ถูกส่งออกไปเมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคมนั้น  มัสก์กล่าวหาว่าทวิตเตอร์ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่เขาต้องการมานานกว่า 2 เดือน นำไปสู่การตั้งข้อหาว่าทวิตเตอร์ได้ทำผิดสัญญาเป็นเหตุให้มัสก์ตัดสินใจยกเลิกข้อตกลง

แต่การจะเดินจากไปนั้นไม่ง่าย เพราะไม่ว่ามัสก์จะพูดถูกหรือผิด แต่ข้อโต้แย้งนี้ไม่ใช่เหตุผลหลักของข้อตกลงการควบรวมกิจการ จุดนี้ แอน ลิปตัน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยทูเลน อธิบายว่าข้อตกลงการควบรวมกิจการมักถูกร่างขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการยกเลิกดีล ซึ่งเป็นสิ่งที่มัสก์กำลังทำ ด้วยการพยายามค้นหาข้อมูลที่ไม่ถูกใจบางอย่าง ก่อนจะตัดสินใจเดินจากไปดีกว่า

มีกระแสว่าอีลอน มัสก์ พยายามปฏิเสธหรือมีความไม่เต็มใจที่จะเข้าครอบครองทวิตเตอร์มานานหลายเดือนแล้ว
หลังจากมัสก์เผยแพร่จดหมายขอยกเลิกดีลต่อสาธารณะ ทวิตเตอร์ออกมาตอบโต้ทันที ในทวีตของประธานคณะกรรมการบริหารทวิตเตอร์ ‘เบรต เทย์เลอร์’ ระบุว่า บริษัทจะนำตัวมัสก์ขึ้นศาล เพื่อฟ้องให้มัสก์ลงมือทำการซื้อกิจการให้เสร็จสิ้นตามที่ตกลงไว้ก่อนหน้านี้

โจ กรันเฟสต์ อดีตหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ของรัฐบาลกลางซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้ความเห็นว่า หากดีลนี้ถูกยกเลิก มัสก์อาจต้องรับโทษถูกปรับ 1 พันล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น แต่สำหรับทวิตเตอร์ เงินเดิมพันนั้นสูงกว่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทลุกขึ้นมาฟ้องร้อง ‘ผู้เสนอซื้อที่ไม่เต็มใจที่จะทำข้อตกลงให้สำเร็จ’ เนื่องจากที่ผ่านมา ทวิตเตอร์นั้นพยายามดิ้นรนเพื่อสร้างผลกำไรและดึงดูดผู้ใช้และเงินค่าโฆษณาให้มากขึ้น แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก จนล่าสุดราคาหุ้นของทวิตเตอร์ลดลงอย่างรวดเร็ว และนักลงทุนกำลังรอนับหุ้นที่มัสก์สัญญาว่าจะจ่ายให้ 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น ดังนั้น การต่อสู้ทางกฎหมายที่ยืดเยื้อจึงดูเหมือนจะเป็นภาวะที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะหุ้นร่วงของทวิตเตอร์ มาจากความกังวลของนักลงทุนว่าดีลนี้จะไม่เกิดขึ้น โดยในช่วง 1 วันก่อนที่มัสก์จะส่งเอกสารระงับข้อตกลง มูลค่าตามราคาตลาดของทวิตเตอร์ลดลงเหลือ 9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาซื้อของมัสก์ที่ประมาณ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ภาวะนี้ยิ่งเลวร้ายลงอีกในช่วงเวลาที่หุ้นเทคโนโลยีหลายตัวดิ่งเหว จนดูเหมือนเป็นการล่มสลายของหุ้นไอทีระดับโลก โดยมูลค่าหุ้นทวิตเตอร์ลดลงกว่า 11% ในการซื้อขายวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม จนปัจจุบันมีมูลค่าซื้อขายต่ำกว่าราคา 54.20 ดอลลาร์ที่มัสก์ตกลงจ่ายถึง 40% โดยลดลงประมาณ 33% นับตั้งแต่มีการประกาศข้อตกลง

นอกจากความเสียหายเรื่องหุ้น ข้อตกลงดังกล่าวยังทำให้เกิดความไม่แน่นอนและทำให้ขวัญกำลังใจพนักงานของทวิตเตอร์แย่ลง ขณะเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ เช่น การปลดผู้บริหารระดับสูงออกจากทวิตเตอร์ รวมถึงมีการลาออกจากตำแหน่งของพนักงานอีกหลายตำแหน่ง จนมีกระแสว่ามัสก์พยายามปฏิเสธหรือมีความไม่เต็มใจที่จะเข้าครอบครองทวิตเตอร์

***8 ทางออกความขัดแย้ง

ดังนั้น ทวิตเตอร์จึงตัดสินใจฟ้องศาล เพื่อยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ละเมิดข้อตกลงในสัญญาเข้าซื้อกิจการ จุดนี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีวิเคราะห์ว่า มหากาพย์ความขัดแย้งระหว่างอีลอน มัสก์ และทวิตเตอร์นั้นสามารถจบลงใน 8 สถานการณ์ โดยสถานการณ์แรกที่เป็นไปได้คือดีลอาจถูกยกเลิก และมัสก์ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมการบอกเลิกสัญญา

ตามทฤษฎีแล้ว สถานการณ์แรกนี้ควรเป็นทางเลือกที่สะอาดเรียบร้อยสำหรับทุกฝ่ายและไม่มีการฟ้องร้องใดๆ หากมัสก์ตกลงจ่ายค่าธรรมเนียมการยกเลิกสัญญา 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อให้ทวิตเตอร์ดำเนินธุรกิจแบบเดิมต่อไป อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่าทวิตเตอร์อาจไม่ยอมให้ทุกอย่างจบง่ายๆ เนื่องจากการปล่อยให้มัสก์เดินจากไปหลังจากจ่ายแค่ค่าธรรมเนียมนั้นอาจจะผลักให้หุ้นของทวิตเตอร์ตกต่ำลงไปอีก ภาวะนี้ทำให้การซื้อขายหุ้นทวิตเตอร์เกิดขึ้นในราคาที่ลดลงอย่างมากเพราะนักลงทุนตั้งคำถามว่าข้อตกลงจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ไทม์ไลน์บทสรุปความเคลื่อนไหวของอีลอน มัสก์ และทวิตเตอร์ ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม 65
สถานการณ์ที่ 2 คือ ทวิตเตอร์ชนะคดีในศาล และสามารถบีบให้มัสก์ต้องซื้อบริษัท สถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในปี 2544 โดยศาลเดลาแวร์เคยตัดสินให้บริษัทไทสันฟู้ดส์ ต้องซื้อบริษัทไอบีพี อิงค์ ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ที่ 30 ดอลลาร์ต่อหุ้น โดยไทสันฯ นั้นพยายามถอนตัวออกจากข้อตกลงหลังจากที่ผลประกอบการทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทลดลงหลังจากการลงนามในข้อตกลง

เช่นเดียวกับที่มัสก์พยายามจะเดินหนีจากทวิตเตอร์ อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวถูกตัดสินว่าไทสันฯ ไม่สามารถยกเลิกดีลได้เพราะการเปลี่ยนใจ จึงถูกบังคับให้ซื้อบริษัทไอบีพีในราคา 3.2 พันล้านดอลลาร์ตามที่ตกลงกันไว้ โดยจนถึงทุกวันนี้ ไทสันฯ ยังคงเป็นเจ้าของบริษัทไอบีพีเช่นเดิม

แม้การบังคับใช้ข้อตกลงอาจเป็นกรณีที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนทวิตเตอร์ แต่สถานการณ์นี้อาจทำให้ทวิตเตอร์และพนักงานต้องเผชิญกับอนาคตที่ผันผวน หากมัสก์ไม่ต้องการเป็นเจ้าของทวิตเตอร์อีกต่อไปการบังคับมัสก์อาจนำไปสู่การขายอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงของผู้นำที่มากขึ้น ย่อมส่งผลต่อฐานพนักงานที่ต้องเผชิญกับลมพายุ แห่งความไม่แน่นอนที่อาจคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี

สถานการณ์ที่ 3 คือทวิตเตอร์ชนะคดีในศาล และมัสก์ต้องจ่ายค่าเสียหาย จุดนี้ซีเอ็นบีซีรายงานว่า มอร์แกน ริกส์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของสถาบันแวนเดอร์บิลต์ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้พิพากษาจะเลือกให้มัสก์ชดใช้ค่าเสียหายแทนการบังคับให้เข้าซื้อกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประวัติของมัสก์ในการดูหมิ่นกฎและข้อบังคับของรัฐบาล ผู้พิพากษาอาจกังวลว่าหากมัสก์ไม่ต้องการซื้อทวิตเตอร์ การบังคับอาจจะสร้างความเสียหายมากกว่า

สถานการณ์ที่ 4 คือมัสก์ตกลงที่จะเจรจากับทวิตเตอร์ ในกรณีนี้ มัสก์มีแนวโน้มต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการเลิกสัญญา 1 พันล้านดอลลาร์และค่าความเสียหายอื่นที่ทวิตเตอร์และมัสก์เห็นควร อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความเก่งกาจของทีมทนายความของ มัสก์ ซึ่งคือสำนักงานกฎหมายควินน์ เอมมานูเอล เออร์คูฮาร์ท แอนด์ ซัลลิแวน (Quinn Emanuel Urquhart & Sullivan LLP) ที่เคยว่าความให้มัสก์ จนชนะคดีหมิ่นประมาทเมื่อปี 2562 โดยในครั้งนั้น มัสก์ทวีตข้อความว่านายเวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษเป็น “ชายผู้ใคร่เด็ก” (pedo guy) ที่ขัดแย้งกันช่วงภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดสถานการณ์ที่ 5 ก็ได้ นั่นคือ มัสก์ชนะคดีในศาล โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ

สถานการณ์ที่ 5 นี้อาจเกิดได้หากมัสก์พิสูจน์ว่าทวิตเตอร์ให้ข้อมูลเท็จ และรายละเอียดที่แท้จริงอาจมีผลกระทบในทางลบต่อบริษัทอย่างมาก มัสก์จะสามารถเดินจากไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเลิกสัญญาซึ่งในเอกสารยื่นเรื่องเหตุผลที่ขอยกเลิกดีลนี้มัสก์อ้างว่าทวิตเตอร์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหลังจากที่ได้ลงนามในข้อตกลงการควบรวมกิจการ

อีลอน มัสก์ ถือเป็นหนึ่งในผู้ใช้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนเครือข่ายทวิตเตอร์ โดยมีผู้ติดตามมากกว่า 100 ล้านคน
สถานการณ์ที่ 6 คือมัสก์เปลี่ยนใจอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชาวโลกได้เห็นความกลับไปมาทั้งเรื่องการตกลงที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารทวิตเตอร์ของมัสก์ การระงับข้อตกลง และการจัดหาเงินทุน จนถึงการบอกว่าไม่ต้องการซื้อทวิตเตอร์อีกต่อไป ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนใจ สถานการณ์ที่ 7 ก็อาจเกิดขึ้นได้ นั่นคือ มัสก์และทวิตเตอร์สามารถตกลงลดราคาดีลลงได้ ขณะที่สถานการณ์ที่ 8 คืออาจมีอัศวินขี่ม้าขาวมาซื้อทวิตเตอร์แทน ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

***บาดเจ็บถ้วนหน้า


รายงานการวิเคราะห์นี้สะท้อนว่าทุกฝ่ายจะบาดเจ็บกันหมดไม่ว่าการพิพาทครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ที่ผ่านมา มัสก์นั้นถือเป็นหนึ่งในผู้ใช้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนเครือข่ายทวิตเตอร์ โดยมีผู้ติดตามมากกว่า 100 ล้านคน มหาเศรษฐีอย่างอีลอน มัสก์นั้นใช้ไซต์โซเชียลมีเดียสำหรับสื่อสารในหลายด้าน ทั้งการสื่อสารองค์กรสำหรับบริษัทในเครือของตัวเอง ไปจนถึงการวิจารณ์แพลตฟอร์มที่ตัวเองเคยคิดจะซื้อมาก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองการตัดสินใจของมัสก์ที่ขอยกเลิกซื้อกิจการทวิตเตอร์ ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เนื่องจากการมีทั้งบัญชีจริงและปลอมล้วนเป็นจุดแข็งและจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน ซึ่งเมื่อครั้งมัสก์ประกาศปิดดีลซื้อทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการ มหาเศรษฐีระดับโลกสัญญาว่าจะลดการเซ็นเซอร์บนแพลตฟอร์มลง แนวทางนี้ทำให้หลายกลุ่มกังวลว่าไอเดียของมัสก์จะทำร้ายอนาคตของทวิตเตอร์ เช่นกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่มองว่าการเซ็นเซอร์ที่น้อยลงอาจนำไปสู่การขาดการกลั่นกรองจนทำให้คำพูดแสดงความเกลียดชังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนก็ตั้งคำถามว่า บัญชีที่ถูกระงับไปโดย ‘ทวิตเตอร์ยุคก่อน’ จะได้รับอนุญาตให้กลับคืนมาหรือไม่?

สำหรับ แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์นั้นให้ความเห็นในเวลานั้นแบบเป็นกลาง โดยบอกว่าตัวเขามีความสุขที่แพลตฟอร์มจะยังคงให้บริการการสนทนาสาธารณะต่อไป และเชื่อมั่นว่า ‘ไม่ควรมีใครได้เป็นเจ้าของ’ หรือเรียกใช้ทวิตเตอร์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ก่อนจะย้ำว่า ทวิตเตอร์จะต้องเป็นสินค้าสาธารณะในระดับโปรโตคอล ไม่ใช่สินค้าของบริษัท พร้อมกับทิ้งท้ายว่า อีลอน มัสก์คือโซลูชันเดียวที่ไว้ใจได้สำหรับการแก้ปัญหาในการเป็นบริษัทของทวิตเตอร์ ถือเป็นความเห็นที่สวนทางกับปารัค อากราวาล ผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์ที่ได้ส่งสารถึงพนักงานในช่วงเมษายนที่ผ่านมา ว่าอนาคตของบริษัทยังไม่แน่นอน และบอร์ดบริหารเองยังไม่ทราบชัดว่าแพลตฟอร์มจะไปในทิศทางใดเมื่อเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่

บอกแล้วว่า จบแบบไหนก็เจ็บ


กำลังโหลดความคิดเห็น