กสทช. เร่งกวดขันโอเปอเรเตอร์ให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการลงทะเบียนซิมการ์ด หากพบใช้มากกว่า 5 เลขหมายต้องไปแสดงตน ป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงประชาชน พร้อมพิจารณาค่าปรับทางปกครองกรณีไม่ทำให้ถูกต้องใน 30 วัน ปรับไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านบาท
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. มีการประชุมร่วมกันและได้มีมติให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการกวดขันให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
หากใช้บัตรประชาชนใบเดียวลงทะเบียนซิมเป็นจำนวนมากกว่า 5 เลขหมาย จะต้องไปแสดงตนที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำซิมไปใช้ในการหลอกลวงประชาชนให้เกิดความเดือดร้อนและก่อให้เกิดความเสียหายเสียทรัพย์ดังที่ปรากฏเป็นปัญหากว้างขวางในปัจจุบัน
โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการลงทะเบียนซิมการ์ดผ่านตัวแทนจำหน่าย (ลูกตู้) พบว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศ กล่าวคือ พบกรณีที่ผู้ใช้บริการ 1 ราย สามารถลงทะเบียนเปิดใช้ซิมการ์ดกับตัวแทนจำหน่ายได้มากกว่า 5 เลขหมายเป็นจำนวนสูงมาก จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย ก่อนรายงานให้บอร์ด กสทช.รับทราบเพื่อกำหนดมาตรการทางปกครอง หากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการที่จะดำเนินการทางปกครอง
เบื้องต้น บอร์ด กสทช. ได้พิจารณาค่าปรับทางปกครองครอบคลุมถึงกรณีความของความผิด ขนาดของปัญหา และกรณีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหรือคำสั่งเกี่ยวกับการอนุญาตและการกำกับดูแลที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และได้ข้อสรุปว่าอัตราค่าปรับน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านบาท
***คณะทำงานพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ เร่งหาทางออก
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมโดยประธานคณะทำงาน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ได้เสนอให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 1 (ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง) และแบบที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตนเอง) หาวิธีการเพิ่มเครื่องหมาย + นำหน้าทุกสายที่มีโทร.มาจากต่างประเทศ และเสนอให้เพิ่มช่องทาง USSD ให้ประชาชนสามารถเลือกไม่รับสายโทร.เข้าจากต่างประเทศตามความสมัครใจ
นอกจากนี้ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้เสนอจะพัฒนาแอปพลิเคชันในการตรวจสอบและสกรีนเบอร์ที่มีแนวโน้มจะเป็นเบอร์มิจฉาชีพ ในลักษณะเดียวกับ Whoscall เพื่อป้องกันเบอร์ที่น่าสงสัยโทร.เข้ามารบกวน ต่อยอดจากแอป “กันกวน” เดิมของ กสทช.
รวมถึงโอเปอเรเตอร์ได้เสนอให้ กสทช. เป็นหน่วยงานกลางในการรับลงทะเบียน Sender’s Name สำหรับ SMS เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ จะได้ไม่มีการใช้ชื่อผู้ส่งปลอมมาหลอกลวงผู้รับ