xs
xsm
sm
md
lg

‘NT’ พระเอกตัวจริงสายสื่อสารลงดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘สายสื่อสารรกรุงรัง’ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงตลอดเวลาโดยเฉพาะปัญหาการห้อยระโยงระยางก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดเหตุไฟไหม้บ่อยครั้งในหลายจุด รวมถึงทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม แต่ทำไม ‘สายสื่อสารรุงรัง’ จึงยังไม่หมดไปจาก กทม.เสียที

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เร่งโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร ทั้งตัดสายตายหรือสายที่ไม่ได้ใช้งานออกตามพื้นที่ถนนเส้นทางหลัก ขณะที่การไฟฟ้านครหลวงมีนโยบายหักเสาไฟฟ้าทิ้งเพื่อทำท่อร้อยสายทั้งสายไฟและสายสื่อสารในครั้งเดียวกัน แต่เป็นโครงการระยะยาว ที่ค่อยๆ เห็นผลในบางพื้นที่หลักก่อน ทำให้ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

***ย้อนรอยแก้ปัญหาสายสื่อสาร


แนวคิดในการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินทั่วพื้นที่ กทม.จึงเป็นนโยบายสำคัญที่เร่งด่วนของรัฐบาล โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที บริษัทลูกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ดูแล กทม.จึงดำเนินโครงการดังกล่าวเองผ่านการจัดซื้อจัดจ้างด้วยงบของกรุงเทพมหานคร แต่ทว่า เมื่อได้สร้างท่อร้อยสายใหม่เพียง 7 กิโลเมตร กลับไม่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) รายใดเช่าใช้แทนการพาดสายกับเสาไฟฟ้า เนื่องจากราคาค่าเช่าแพงกว่ากันถึง 10 เท่า จากที่ไอเอสพีจ่ายเพียงหลักร้อยบาทต่อเดือนต่อกิโลเมตร กลับต้องจ่ายถึงหลักหลายพันบาทต่อเดือนต่อกิโลเมตร

มรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT
เอกชนซึ่งต้องมีต้นทุนในการเช่าเพิ่มจากท่อร้อยสายใต้ดินที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ภายใต้งบประมาณที่เคทีวางไว้เกือบ 20,000 ล้านบาททำให้การนำสายสื่อสารลงดินไม่มีความคืบหน้า รัฐบาลจึงได้แก้ปัญหาเบื้องต้นก่อนด้วยการจัดระเบียบสาย โดยการตัดสายเก่าทิ้งและเดินสายไฟเบอร์ใหม่ซึ่งการทำงานต้องทำพร้อมกันทุกไอเอสพี ทำให้การทำงานในแต่ละพื้นที่ล่าช้า เนื่องจากมีต้นทุนเรื่องค่าแรง และสายสื่อสารที่ต้องซื้อใหม่ ที่สำคัญในบางพื้นที่เมื่อจัดระเบียบไปแล้วพบว่ามีสายสื่อสารเถื่อนมาพาดเพิ่มสร้างความระโยงระยางไม่มีที่สิ้นสุด

***NT โชว์ความพร้อมท่อร้อยสาย

‘ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราจัดระเบียบสายสื่อสารโดยตัดสายตายมาโดยตลอด แต่เมื่อผู้บริโภคมีการย้ายค่ายตามโปรโมชันของไอเอสพี กลับมีการเดินสายใหม่ทับถมสายเก่าในขณะที่สายเก่าไม่ถูกรื้อออกไป โดยเฉพาะช่วงโควิดมีการใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้านบูมมาก สายตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ’ มรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวถึงปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้เอกชนและสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย มีความร่วมมือกันในการจัดระเบียบสายสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น NT มีการเสนอต่อเอกชนมานานแล้ว ถามว่าทำไม NT ถึงมีท่อร้อยสายใต้ดินจำนวนมากและพร้อมใช้งาน ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในยุคนั้น เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้าน จึงมีการทำท่อร้อยสายทองแดง และ กทม.ชั้นในคือจุดกำเนิดโทรศัพท์เพราะเป็นแหล่งชุมชนเมือง ทำให้มีท่อร้อยสายใต้ดินจำนวนมากปัจจุบันมีครอบคลุมถึง 3,600 กิโลเมตรใน กทม.แต่เมื่อเกิดปัญหาดิจิทัล ดิสรัปชัน มีการใช้สายไฟเบอร์แทนสายทองแดง ท่อร้อยสายจำนวนมากของ NT ถูกรื้อออกหมดเหลือเพียงท่อว่างเปล่า และต่อมามีการขยายถนนทำให้ท่อบางส่วนเสียหายไปบ้าง แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถใช้งานได้


NT จึงมีความพร้อมในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในท่อที่ NT มีอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนสร้างใหม่ ทำให้ค่าเช่าไม่แพงเพราะไม่ได้มีต้นทุนในการขุดหรือสร้างใหม่ NTเองเริ่มทยอยนำสายสื่อสารของตนเองลงท่อร้อยสายของตนเองแล้ว

แต่ยังติดปัญหาการทำไรเซอร์หรือจุดเชื่อมต่อจากท่อสู่บ้านเรือนหรืออาคารของผู้ใช้บริการซึ่งต้องทำถี่ขึ้นตามความหนาแน่นของการใช้งาน เพื่อรองรับการใช้งานของไอเอสพีรายอื่นๆ จึงต้องได้รับความร่วมมือจาก กทม.ในการเปิดพื้นผิวฟุตปาธที่เป็นก้อนอิฐตัวหนอน ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในเวลากลางคืนและสามารถคืนพื้นผิวฟุตปาธในเวลาเช้า ทำให้ประชาชนแทบไม่ทราบเลยว่าเกิดอะไรขึ้น

ดังนั้น หากใครจะทำต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่คือ กทม.และกำหนดให้ชัดเจนว่าทำได้แค่นี้ เพื่อไม่ให้กระทบการจราจรและการเดินทางของประชาชน

นอกจากนี้ NT ได้ทำแผนที่ดิจิทัล เพื่อระบุถึงเส้นทางที่ NT มีท่ออยู่ใน กทม.ให้กรุงเทพมหานครสามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลาแล้ว NT ได้เสนอราคาค่าเช่าให้เอกชนอยู่ที่ 3,000 บาทต่อไมโครดักส์ต่อกิโลเมตรต่อเดือน แต่หากใช้ท่อที่สร้างใหม่อาจมีราคาค่าเช่าถึง 7,000 บาท ซึ่ง NT เองจะมีราคาพิเศษสำหรับผู้เช่าระยะยาว หรือรายเล็กสามารถรวมตัวกันเพื่อเช่าใช้ร่วมกันก็ได้

***ตั้งคณะทำงานหาข้อสรุปสายสื่อสารลงดิน

‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รมว.ดีอีเอส ยืนยันว่า เรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารนั้น ดีอีเอสมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและดำเนินการมาระยะหนึ่งและทำเสร็จสิ้นหลายพื้นที่แล้ว แต่ยังมีบางจุดที่ยังทำไม่ทั่วถึง สำหรับแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ดีอีเอสทำงานร่วมกับ กสทช. โดยมอบงบประมาณ 700 ล้านบาท จัดระเบียบสายสื่อสารให้แล้วเสร็จ 800 กิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่เร่งด่วน 450 กิโลเมตร 16 เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และ 350 กิโลเมตรในส่วนที่เหลือ ซึ่งขณะนี้ทำเสร็จแล้ว 20 กิโลเมตร

ส่วนเรื่องการนำสายสื่อสารลงดินจำเป็นต้องทำโดยต้องตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างดีอีเอส ัNTทกรุงเทพมหานคร เคที และ กสทช.เพื่อหาข้อสรุปในการทำงานร่วมกันเพราะ NT มีความพร้อมและใช้งบประมาณไม่มากสามารถทำได้ทันทีเร็วกว่า เนื่องจากมีท่อร้อยสายอยู่ใต้ดินอยู่แล้ว และ กสทช.รับปากว่าจะให้งบประมาณครึ่งหนึ่งในการทำคือ 10,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอต่อการดำเนินการ


ด้าน ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เคทีสร้างท่อร้อยสายใหม่เสร็จแล้ว 7 กิโลเมตร แต่ยังไม่มีเอกชนมาเช่าเลย ต้องกลับไปทบทวนก่อนว่าจะให้เคทีทำต่อหรือไม่ ถามว่าจะล้มโครงการของเคทีหรือไม่นั้น ต้องขอดูสถานการณ์ก่อนเพราะทำแล้วไม่มีคนเช่าคงไม่ทำต่อ โดยต้องหารือร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ตั้งคณะทำงานหารือร่วมกัน

‘กรุงเทพมหานครจะออกประกาศบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพื่อไม่ให้มีการพาดสายสื่อสารรกรุงรัง ตอนนี้อะไรที่ทำเร็วกว่าให้ทำก่อนต้องจัดระเบียบสายก่อน ส่วนเรื่องนำสายลงดินค่อยทำทีหลัง ต้องหารือกันตั้งคณะทำงานร่วมกัน’

ขณะที่ ‘ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล’ รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.มีโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารอยู่แล้ว ผู้ให้บริการสามารถนำค่ารื้อสายมาขอเบิกงบประมาณกับ กสทช.ได้ และ กสทช.อาสาจะนำเรื่องเสนอของบประมาณสนับสนุนโครงการนำสายลงดินให้ครึ่งหนึ่งของงบประมาณ ต่อคณะกรรมการ กสทช.อีกครั้งหนึ่งต่อไปเพื่อความเป็นระเบียบ ผู้ให้บริการรายใดจะพาดสายใหม่นอกจากต้องมาขออนุญาตแล้วต้องรื้อสายเก่าให้ กสทช.ดูก่อน และหากมีแผนทำท่อร้อยสายแม้ในเส้นทางนั้นไม่ได้อยู่ในแผนหักเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงผู้ให้บริการต้องนำสายลงดินด้วย


ทั้งนี้ จากข้อมูลเอกสารความคืบหน้าในการทำโครงการท่อร้อยสายของเคทีระบุว่าโครงการนำร่องแล้วเสร็จ 4 พื้นที่ คือ ถนนวิทยุ ถนนรัชดาภิเษก ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนวิทยุ และถนนพระราม 1 รวมระยะทาง 7.2 กิโลเมตร ส่วนพื้นที่ที่เหลืออยู่ระหว่างจัดทำความเป็นไปได้ทางธุรกิจของโครงการเพื่อประสานขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่ง โดยต้องดำเนินการสร้างท่อร้อยสายใหม่ทั้งหมด 2,450 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการจระเข้ขวางคลองที่ทำให้การจัดระเบียบสายสื่อสารไม่ไปไหนสักที เมื่อมีผลประโยชน์ของการก่อสร้างใหม่ให้งาบเต็มปากเต็มคำ

*** ‘ฐากร’ แนะสายตายต้องจัดการแบบ e-waste

ในขณะที่การจัดการของสายสื่อสารตายที่ตัดลงมา มีแนวทางที่น่าสนใจจาก ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ อดีตเลขาธิการ กสทช.ที่ระบุว่าการจัดระเบียบสายสื่อสารภายในปีนี้ก่อน 800 กิโลเมตร คาดว่าจะมีสายตายที่ถูกนำลงมาจากเสาไฟฟ้ามากกว่า 500 ตัน หรือมากกว่า 500,000 กิโลกรัม สายตายถือเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า‘อี-เวสต์’ (e-waste) การจะนำไปกำจัดต้องมีกระบวนการที่ถูกต้องและเหมาะสม

พลาสติกสีดำที่หุ้มลวดทองแดงไว้นั้นต้องรูดออกมาเพื่อนำไปหลอมทำเป็นพลาสติกรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แต่หากเป็นพลาสติกที่เสื่อมสภาพแล้วนำเอาไปรีไซเคิลอีกไม่ได้ ต้องหาวิธีกำจัดไม่ให้เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนทองแดงที่อยู่ข้างในพลาสติก สามารถนำมาหลอมรวมและนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เวลานี้มีโรงงานหลายแห่งบริการหลอมรวมทองแดง

กระแสผู้ว่าฯ ชัชชาติ ฟีเวอร์ขนาดนี้น่าจะเป็นโอกาสดีในการปลุกให้ชาว กทม.รวมพลังแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ใช้งานประจำวันเข้าไปด้วยเลย เช่น แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ทั่วๆ ไป มือถือที่เลิกใช้งานหรือคอมพิวเตอร์เสื่อมสภาพเพื่อไปกำจัดให้เป็นระบบลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษลงได้อย่างมากแน่ๆ นี่เป็นอีกหนึ่งโอกาสของคนไทยที่มี ‘ชัชชาติ’ ปลุกกระแสขึ้นมาจะได้สร้างวินัย สร้างการรักสิ่งแวดล้อมให้คนไทยทั่วประเทศ ต้องรีบทำกันเถอะอย่าปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป




กำลังโหลดความคิดเห็น