xs
xsm
sm
md
lg

แคนนอน ร่วมสำนักพิมพ์จุฬาฯ ติดตั้งเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ทป้อนม้วน ทรานส์ฟอร์มธุรกิจงานพิมพ์รับสิ่งพิมพ์ยุคใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แคนนอน-สำนักพิมพ์จุฬาฯ ประเดิมทรานส์ฟอร์มงานพิมพ์ รับความต้องการยุคใหม่ที่ไม่เน้นเรื่องปริมาณ แต่ย้ำเรื่องคุณภาพ และความรวดเร็ว ด้วยการติดตั้งเครื่องพิมพ์ระบบอิงก์เจ็ทป้อนม้วนความเร็วสูงจากแคนนอน มาใช้งานรองรับงานพิมพ์ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น

นางอรทัย นันทนาดิศัย กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักพิมพ์จุฬาฯ ทำงานร่วมกับแคนนอนมาตั้งแต่ปี 1988 ทำให้มีสัมพันธ์อันดีระหว่างสำนักพิมพ์ และแคนนอน โดยในการลงทุนติดตั้งเครื่องพิมพ์ระบบใหม่นี้จะเข้ามาช่วยเสริมในแง่ของคุณภาพงานพิมพ์ที่แม่นยำ ถูกต้อง และให้ความรวดเร็วที่จะช่วยให้แข่งขัน และตอบสนองงานพิมพ์ได้หลากหลาย

“จากเดิมขั้นตอนในงานพิมพ์จะมีตั้งแต่ตัดกระดาษขึ้นแท่นพิมพ์ เริ่มกระบวนการพิมพ์ ก่อนเข้าสู่แท่นพับ และเครื่องเก็บเรียง ทำให้ใช้ระยะเวลาในการพิมพ์ รวมถึงต้องเน้นในเรื่องของงานภาพปริมาณสูง เพื่อให้คุ้มค่ามาก แต่กลับกันเมื่อเป็นงานพิมพ์ในยุคเทคโนโลยี 4.0 ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ถูกแทนที่แบบอัตโนมัติ ทำให้ช่วยลดระยะเวลา และไม่มีข้อจำกัดของปริมาณงานพิมพ์ขั้นต่ำด้วย”

อรทัย นันทนาดิศัย
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้สำนักพิมพ์จุฬาฯ เริ่มมองหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในแง่ของงานพิมพ์ เกิดจากความท้าทายในแง่ของการจัดการบุคลากร เนื่องจากระบบพิมพ์แบบเดิมต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และจำนวนคนค่อนข้างมาก เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทดแทนได้ จะทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าแรงของบุคลากรได้ และปรับเปลี่ยนให้บุคลากรสามารถพัฒนาต่อยอดไปรับงานพิมพ์ใหม่ๆ ได้เพิ่มเติม

นอกจากนี้ เมื่อใช้งานเครื่องพิมพ์ความเร็วสูงแบบป้อนม้วนอัตโนมัติ ทำให้ช่วยลดต้นทุนกระดาษ วัสดุ คุณภาพหมึกที่ไม่ต้องสูญเสียจากกระบวนการงานพิมพ์แบบเท่าพิมพ์ ช่วยลดระยะเวลา และขั้นตอนต่างๆ ได้ทำให้เกิดสามารถรองรับงานพิมพ์ได้เพิ่มขึ้น เพื่อรับกับธุรกิจที่เปลี่ยนไปในอนาคต

ณัฐพล รุ่งสมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์ โปรเฟสชั่นแนล พริ้นติ้ง โปรดักส์ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงเครื่องพิมพ์ที่ทางสำนักพิมพ์จุฬาฯ เลือกใช้คือรุ่น ColorStream 6700 ที่สามารถรองรับงานพิมพ์ได้หลากหลาย ตอบโจทย์งานพิมพ์ของสำนักพิมพ์จุฬาฯ ที่ต้องการนำไปใช้ในงานพิมพ์หนังสือเรียน หนังสือวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มหนังสือที่ให้ความรู้ ที่ยังมีความต้องการของผู้บริโภคอยู่

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างแคนนอนกับจุฬาฯ ในครั้งนี้จะเป็นเหมือนพันธมิตรทางธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากในการลงทุนติดตั้งเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ระดับนี้จะใช้งานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทำให้สามารถสร้างรายได้ระยะยาวจากการให้บริการ ซึ่งนับเป็นโมเดลหลักของเครื่องพิมพ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น