แม้จะมีเซียนไซเบอร์ซิเคียวริตีผู้เก่งกาจเรื่องการป้องกันภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์จำนวนไม่น้อย แต่ฟอร์ติเน็ต (Fortinet) พบว่าตัวเลขผู้ขาดความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีในเอเชียนั้นมีมากกว่า ภาวะนี้กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดช่องโหว่องค์กรในเอเชียสูงถึง 72% โดยผลการศึกษาพบว่าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกมีช่องว่างบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีใหญ่ที่สุด คิดเป็นจำนวน 1.42 ล้านคน
ทั้งที่ตัวเลขนี้ลดลงจากปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่รายงานเรื่องช่องว่างทักษะความปลอดภัยทางไซเบอร์ประจำปี 2022 ในเอเชียชี้ว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนทักษะความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังคงท้าทายและส่งผลกระทบหลายประการต่อองค์กรในเอเชีย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของภัยที่หลากหลาย และการสูญเสียชื่อเสียงเงินทอง ส่งให้ช่องว่างด้านทักษะเป็นหนึ่งในข้อกังวลสูงสุดสำหรับผู้บริหารหลายองค์กร และกำลังเป็นสิ่งสำคัญที่บอร์ดหรือคณะกรรมการบริหารองค์กรจะโฟกัสมากขึ้น
ในขณะที่รายงานนี้ไม่มีการแยกรายละเอียดเฉพาะประเทศไทย แต่ศึกษาแบบคลุมทั้งสิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย บทสรุปของรายงานได้เสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาช่องว่างด้านทักษะ เช่น การฝึกอบรมและการสอบใบรับรองเพื่อเพิ่มทักษะของพนักงาน เช่น ในประเทศไทยที่ฟอร์ติเน็ตผลักดันและให้ความรู้บุคลากรไทยแล้วกว่า 1,700 ราย โดยยังคงมองเห็นศักยภาพที่จะขยายการอบรมต่อเนื่องทั้งด้านจำนวนคนและด้านองค์ความรู้ เพื่อตอบโต้กับภัยโจมตีที่เพิ่มขึ้น
***ผลกระทบขยายวง
นายราชีช แพนเดย์ รองประธานฝ่ายการตลาด ฟอร์ติเน็ต เปิดเผยถึงผลการรายงานในภาคพื้นเอเชีย เกี่ยวกับช่องว่างด้านทักษะไซเบอร์ซิเคียวริตี ประจำปี 2022 (2022 Cybersecurity Skills Gap Report) ว่า การจัดทำสำรวจในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง นับเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานทั่วโลกที่แสดงให้เห็นว่า 71% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจต่างประสบกับความยากลำบากในการว่าจ้างผู้มีความสามารถซึ่งมีคุณสมบัติด้านเทคโนโลยีไซเบอร์ซิเคียวริตีเข้าทำงาน โดย 63% เห็นว่าการขาดคนเก่งที่มีทักษะดังกล่าวนั้นส่งผลร้ายกับธุรกิจ และเนื่องจากมีองค์กรจำนวนมากขึ้นที่นำเทคโนโลยีอย่างคลาวด์และระบบออโตเมชันมาใช้งาน จึงทำให้การขาดผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีกลายเป็นปัญหาที่หนักขึ้น
“เพื่อมุ่งเน้นแก้ปัญหาช่องว่างดังกล่าว ฟอร์ติเน็ตจึงได้ขึ้นโครงการ Training Advancement Agenda (TAA) และโปรแกรม Training Institute เพื่อช่วยให้เข้าถึงโปรแกรมฝึกอบรมได้มากขึ้น พร้อมมอบใบรับรองด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรที่มีการว่าจ้างบุคลากรในสายนี้ ตามที่ระบุอยู่ในรายงาน โดยฟอร์ติเน็ตได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะฝึกอบรมมืออาชีพจำนวน 1 ล้านคนให้ได้ภายในปี 2026 และจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในประเทศ เรายังประสบความสำเร็จในการออกใบรับรองจำนวนกว่า 840,000 ฉบับ นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการนำโปรแกรมนี้มาปรับใช้”
ตามรายงาน Cyber Workforce Report ปี 2564 สรุปได้ว่าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกมีช่องว่างบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีใหญ่ที่สุด คิดเป็นจำนวน 1.42 ล้านคน แม้ว่าช่องว่างด้านบุคลากรในเอเชียแปซิฟิกจะลดลงจาก 2.04 ล้านคนที่พบในปีก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่ยังต้องปรับปรุงให้ช่องว่างลดลงอีก โดยการสำรวจชี้ว่า 79% ขององค์กรมีคณะกรรมการบริหารที่แนะนำว่าควรเพิ่มบุคลากรเพื่อมาดูแลด้านไอทีและไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็นพิเศษ และอีก 89% ขององค์กรในภาคพื้นเอเชียมีคณะกรรมการบริหาร ยอมรับว่าที่ประชุมคณะกรรมการขององค์กรได้ถามคำถามเจาะจงเรื่องของไซเบอร์ซิเคียวริตีโดยเฉพาะ
“เป็นสัญญาณที่ดีว่า 80% ของผู้บริหารองค์กรมองเห็นความสำคัญของปัญหาและให้ความสนใจกับการยกระดับไซเบอร์ซิเคียวริตีขององค์กร ว่าจะช่วยปกป้องข้อมูลและทรัพย์สินอื่นองค์กรได้ แต่ยังมีช่องว่างเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ทำให้ผู้บริหารบางส่วนไม่เข้าใจความจำเป็น องค์กรจึงต้องลดช่องว่างเรื่องนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายในองค์กรเห็นว่าปัญหาซิเคียวริตีมีความสำคัญ ถ้าทำได้ ทุกฝ่ายในองค์กรจะทำงานร่วมกันในแนวทางที่ดีขึ้น
***ทางออกคือใบเซอร์ฯ
แนวทางที่ควรเกิดขึ้นในสายตาของฟอร์ติเน็ตคือการเสริมความก้าวหน้าด้านทักษะไซเบอร์ซิเคียวริตีด้วยการฝึกอบรมและการออกใบรับรองที่เรียกกันสั้นๆ ว่าใบเซอร์ฯ หรือ Certifications โดยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีและไซเบอร์ซิเคียวริตี จำนวนกว่า 110 รายใน 6 ประเทศท่ามกลางสายอุตสาหกรรมหลากหลาย ได้แก่ บริษัทด้านเทคโนโลยี ภาคการผลิต และบริการด้านการเงิน พบว่าผู้บริหารองค์กร 97% เชื่อว่าการออกใบรับรองที่มุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยีจะให้ผลกระทบเชิงบวกในเรื่องการทำงานและทีมงานขององค์กร ในขณะที่ 86% อยากจ้างพนักงานที่มี certifications รับรองแล้ว โดยอีก 89% ยินดีจะจ่ายเงินให้บุคลากรที่มีใบรับรอง
นอกจากการให้คุณค่ากับใบรับรอง พบว่า 93% ขององค์กรได้นำโปรแกรมฝึกอบรมมาใช้เพิ่มการรับรู้เรื่องไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม 51% ของผู้นำเชื่อว่าบุคลากรของตนยังขาดความรู้ที่จำเป็นอยู่ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าโปรแกรมการสร้างการรับรู้เรื่องการรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่มีประสิทธิภาพหรือไม่
การสำรวจพบว่าความท้าทายสำคัญสำหรับองค์กรคือการสรรหาและรักษาบุคลากรที่เหมาะสมเพื่องานสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ ตลอดจนนักวิเคราะห์ประจำศูนย์ SOC โดยในรายงานชี้ว่า 60% ของผู้นำในเอเชียให้การยอมรับว่าองค์กรต้องพยายามอย่างมากในการสรรหาพนักงาน ในขณะที่อีก 57% พยายามอย่างยิ่งในการรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้
อีกส่วนของปัญหาท้าทายเรื่องการจ้างงาน คือการสรรหาบุคลากรผู้หญิง นักศึกษาจบใหม่ และชนกลุ่มน้อย โดย 76% ขององค์กรในเอเชีย มองว่าการสรรหานักศึกษาจบใหม่เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ในการว่าจ้างงาน ตามด้วย 75% ของผู้นำ มองเรื่องการสรรหาบุคลากรผู้หญิง และ 62% กล่าวว่า การว่าจ้างชนกลุ่มน้อยถือเป็นความท้าทาย ซึ่งในขณะที่องค์กรต่างต้องการสร้างทีมงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นและมีความสามารถสูงขึ้น การสำรวจจึงพบว่า 90% ของบริษัทในเอเชียต่างมีเป้าหมายที่เด่นชัดว่าความหลากหลายนับเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการว่าจ้างงาน
นอกจากนี้ รายงานยังแสดงให้เห็นว่า 75% ขององค์กรมีโครงสร้างอย่างเป็นทางการในการสรรหาบุคลากรผู้หญิงโดยเฉพาะให้มากขึ้น และ 59% มีกลยุทธ์อยู่แล้วในการจ้างชนกลุ่มน้อยเข้าทำงาน นอกจากนี้ 65% ขององค์กรยังมีความพยายามในการจ้างผู้มีประสบการณ์มากขึ้น
น.ส.ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต ย้ำว่า บริษัทได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของช่องว่างด้านทักษะที่เป็นความกังวลใจของธุรกิจทั่วโลก ฟอร์ติเน็ตจึงมุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี ด้วยโปรแกรมการฝึกอบรมในระดับต่างๆ ให้คู่ค้าของฟอร์ติเน็ตอย่างจริงจังต่อเนื่อง ซึ่งกลยุทธ์ด้านการฝึกอบรมเพื่อเติมเต็มช่องว่างทักษะสำหรับองค์กรของฟอร์ติเน็ต จะเน้นดำเนินการผ่านบริการฝึกอบรมและสร้างการรับรู้เรื่องการรักษาความปลอดภัย (Security Awareness and Training service) โดยสถาบันฝึกอบรมของฟอร์ติเน็ตเอง พร้อมระบุว่าบริการนี้ช่วยปกป้องสินทรัพย์ดิจิทัลที่สำคัญขององค์กรจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ด้วยการสร้างการรับรู้ให้พนักงานเกี่ยวกับไซเบอร์ซิเคียวริตี ทำให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวิธีการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีพัฒนาการล่าสุด เพื่อป้องกันบริษัทจากการละเมิดช่องโหว่และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบัน ฟอร์ติเน็ตเคลมตัวเองเป็นผู้นำตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี มูลค่าตลาดของบริษัททะลุ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รายได้เติบโตปี 2564 มากกว่า 44% ยอดจัดส่งไฟร์วอลล์ทั่วโลก 35% เหนือกว่าคู่แข่งของฟอร์ติเน็ตทั้งซิสโก้ เช็กต์พอยต์ และพาโลอัลโต้ สำหรับตลาดไทย บริษัทเผยว่ามีส่วนแบ่งรายได้สูงสุดในตลาดเน็ตเวิร์ก ซิเคียวริตีในประเทศไทยที่ 28.5% และเทรนด์แรงที่จะทำให้มีการประสานระบบไซเบอร์ซิเคียวริตีหลายค่ายหลากชนิดมาทำงานร่วมกัน (Mesh) จะเป็นโอกาสที่ดียิ่งขึ้นอีกสำหรับฟอร์ติเน็ต