แม้ว่าภายในงานประชุมนักพัฒนาของแอปเปิล (Apple) มักจะมุ่งเป้าไปที่การเปิดเผยรายละเอียดของซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ที่จะได้ทยอยใช้งานกันในปลายปีนี้ รวมถึงการต่อยอดชิปเซ็ตรุ่นใหม่อย่าง Apple M2 ที่ทรงพลังมากขึ้น จะกลายเป็นประเด็นหลักของงาน
แต่เมื่อมองถึงความสามารถใหม่ๆ ที่ถูกถ่ายถอดออกมาทั้งบน iOS 16 iPadOS 16 macOS Ventura และ watchOS 9 ได้เปิดช่องทางให้เหล่านักพัฒนาได้เข้าถึงเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใช้งานให้แก่ผู้ใช้ และในขณะเดียวกัน ก็สร้างรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการขายสินค้าที่เป็นฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนนักพัฒนาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งได้เข้ามาช่วยสร้างสรรค์ประสบการณ์ใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภค โดยที่ทางแอปเปิล พร้อมที่จะเข้าไปให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน
“ก่อนหน้านี้แอปเปิลได้ทำโครงการสนับสนุนนักพัฒนาต่างๆ กว่า 17 Academy ทั่วโลก เพื่อผลักดันให้เกิดกลุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่ รวมถึงการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาแก่นักพัฒนาอย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะในกลุ่มนักพัฒนาผู้หญิง คนผิวสี และชาวละตินในสหรัฐฯ จนกลายเป็นชุมชนนักพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากจำนวนนักพัฒนากว่า 34 ล้านคน”
โดยภายในงานครั้งนี้ได้มีการเปิดชุดเครื่องมือให้นักพัฒนาสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบปฏิบัติการต่างๆ ของแอปเปิลได้ อย่าง WidgetKit API ที่ให้นักพัฒนาปรับแต่งวิตเจ็ตบนหน้าจอล็อกของ iOS 16 ได้มากขึ้น รวมถึงนำความสามารถในการดึงข้อความจากรูปภาพ วิดีโอมาประมวลผลภายในตัวอุปกรณ์เพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิต และทำงานระยะไกล แอปเปิลได้เพิ่มเครื่องมือในการทำงานร่วมกันในแอปต่างๆ ทำให้สามารถแชร์ข้อมูลกับเพื่อนร่วมงาน หรือครอบครัวได้สะดวกขึ้น
แน่นอนว่าความสามารถใหม่ๆ เหล่านี้จะเริ่มใช้งานได้บน iOS 16 ที่จะเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้าถึงในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะฟีเจอร์อย่างการปรับแต่งหน้าจอล็อกที่มีเฉพาะบน iPhone เท่านั้น และยังไม่มีแผนขยายมาให้ใช้งานบน iPad ด้วย
เคร็ก เฟดเดอริกี้ รองประธานอาวุโส ฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ แอปเปิล กล่าวว่า การอัปเดต iOS 16 ในรอบนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ช่วยเปลี่ยนวิธีการใช้งาน iPhone ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม
“ภายในทีมงานของแอปเปิลได้ทบทวนรูปแบบ และการใช้งานหน้าจอล็อก ที่จะมอบความเป็นส่วนตัว ที่ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงอีกหลากหลายคุณสมบัติที่ทำให้การใช้งาน iPhone สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวได้มากขึ้น”
จุดที่น่าสนใจในการอัปเดต iOS 16 และ iPadOS 16 คือการแยกแอปพลิเคชัน Fitness ที่แต่เดิมผูกอยู่กับผู้ใช้งาน Apple Watch เป็นหลัก ออกมาให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้งานได้ และกลายเป็นจุดที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสมัครใช้งานบริการบอกรับสมาชิกในการออกกำลังกายอย่าง Fitness+ ในอนาคตด้วย
นักวิเคราะห์จากสื่อต่างประเทศ มองไปในทิศทางเดียวกันถึงแนวทางสร้างรายได้ของแอปเปิล ที่จะหันมาให้ความสำคัญกับบริการบอกรับสมาชิกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเปิดบริการอย่าง Apple One ที่รวบรวมบริการดิจิทัลทั้ง Apple Music Apple TV+ Apple Arcade iCloud+ Apple News+ และ Apple Fitness+ เข้าด้วยกัน จนเริ่มกลายเป็นแหล่งรายได้ที่มาจากเซอร์วิสซึ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
***จุดเริ่มต้นของ WWDC ยุคหลังโควิด-19
สำหรับความพิเศษของการจัดงานประชุมนักพัฒนาในปีนี้ของ Apple คือเริ่มปรับการจัดงานมาในลักษณะของไฮบริด ที่ผสมผสานการจัดงานคีย์โน้ตซึ่งเปิดให้นักพัฒนาได้เข้ามาร่วมงาน พร้อมไปกับการจัดแบบออนไลน์เพื่อให้นักพัฒนาทั่วโลกได้เข้าถึงเนื้อหาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยในแต่ละหัวข้อแบบเจาะลึกที่เปิดให้นักพัฒนาได้เข้ารับฟังข้อมูลจากทีมวิศวกรของ Apple โดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์เหมือนเดิม ทำให้นักพัฒนาที่สนใจไม่พลาดข้อมูลสำคัญที่จะนำไปใช้ต่อยอดในการทำธุรกิจ
ขณะเดียวกัน WWDC22 ครั้งนี้ถือเป็นอีเวนต์ใหญ่ครั้งแรกในรอบ 2 ปีของ Apple ที่เปิดให้นักพัฒนา รวมถึงสื่อมวลชนจากประเทศที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วเข้าร่วม และนับเป็นการเปิด Apple Park ให้นักพัฒนาได้เข้าใช้งานพื้นที่บางส่วนด้วย
จากเดิมที่การจัดงานประชุมนักพัฒนาจะใช้พื้นที่บริเวณเมืองซานโฮเซ่ ที่สามารถรองรับนักพัฒนาจำนวนหลายพันคนได้ และนับเป็นหนึ่งในงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองแห่งนี้ก็ว่าได้ ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่เงียบเหงา ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เมืองแห่งนี้จะฟื้นตัวกลับมาหรือไม่
***Apple Silicon ชิป M2 ก้าวถัดไปในยุคเปลี่ยนผ่าน
ย้อนกลับไปในงานประชุมนักพัฒนาเมื่อปี 2020 ที่แอปเปิลประกาศเปิดตัวชิปเซ็ต Apple Silicon พร้อมกับระบุว่าจะใช้ระยะเวลา 2 ปีในการเปลี่ยนผ่านชิปเซ็ตในอุปกรณ์ที่ใช้งานซีพียูของ Intel มาใช้เป็น Apple Silicon ทั้งหมด ก่อนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นแรกที่ใช้งาน Apple M1 อย่าง MacBook Air และ MacBook Pro ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ Apple Silicon อย่างแท้จริง
ถ้ามองถึงไลน์ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันกลายเป็นว่าอุปกรณ์ที่แอปเปิลวางจำหน่ายไม่ว่าจะเป็น iPad MacBook iMac Mac mini จนถึง Mac Studio ได้เปลี่ยนผ่านมาสู่ Apple M1 ซีรีส์ (M1, M1Pro, M1 Max และ M1 Ultra) กันหมดแล้ว จะเหลือเพียงสินค้าในกลุ่ม Mac Pro เท่านั้นที่ยังไม่ได้นำมาใช้งาน
ทำให้การเปิดตัวชิป M2 ภายในงานนี้ จะแสดงให้เห็นถึงการพลิกโฉมผลิตภัณฑ์ในตระกูล Mac ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ยังประหยัดพลังงานเช่นเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยี 5 นาโนเมตร รุ่นที่ 2 มาใช้ ภายในใส่ทรานซิสเตอร์มากกว่า 2 หมื่นล้านตัว มากกว่าชิป M1 25% ทำให้การประมวลผลซีพียูเร็วขึ้นถึง 18%
ในขณะที่การประมวลผลภาพที่เพิ่มจำนวน GPU เป็น 10 คอร์ ทำให้ได้การประมวลผลที่เร็วขึ้น 35% ต่อด้วย Neural Engine แบบ 16 คอร์ สามารถประมวลผลได้สูงสุด 15.8 ล้านล้านรายการต่อวินาที และด้วยการที่ฝังหน่วยความจำไว้ภายในชิปที่ใส่ได้สูงสุด 24 GB ได้แบนด์วิดท์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 100 GB/s เร็วกว่า M1 ถึง 50% ไม่นับรวมกับการใส่ชิปช่วยถอดรหัสวิดีโอทำให้ในการใช้งานตัดต่อมีความเร็วเพิ่มขึ้นด้วย
โดยทางแอปเปิลได้ลองนำประสิทธิภาพซีพียูของ M2 เทียบกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Intel รุ่นที่มี 10 คอร์ จะให้ความเร็วในการประมวลผลดีกว่า 1.9 เท่า โดยใช้พลังงานเพียง 1 ใน 4 และในส่วนของ GPU ชิป M2 แรงกว่าถึง 2.3 เท่า โดยใช้พลังงาน 1 ใน 5 ส่วนเท่านั้น
นั่นหมายความว่า MacBook Air ที่ใช้ชิปเซ็ต M2 ยังคงมีจุดเด่นในเรื่องของการประมวลผลที่รวดเร็วทั้งซีพียู GPU และยังประหยัดพลังงานอย่างมาก เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กทั่วไปในท้องตลาดเวลานี้ และกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แอปเปิล มั่นใจว่า MacBook Air จะรักษาการเป็นแล็ปท็อปรุ่นที่ขายดีที่สุดในโลกได้ต่อไป
ที่น่าจับตาดูคือการเปิดตัวซีพียูรุ่นใหม่ในช่วงที่ภาวะตลาดยังคงประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิปเซ็ตทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการล็อกดาวน์ในประเทศจีน ทำให้ปัจจุบันแม้แต่ชิปเซ็ต M1 ที่วางขายอยู่ก็ยังขาดตลาด ทำให้ต้องรอดูกันว่าผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชิปเซ็ต M2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในต่างประเทศช่วงเดือนกรกฎาคมด้วยหรือไม่
***เก็บรายละเอียดเพิ่มเติม iOS16 - iPadOS16
สำหรับฟีเจอร์ที่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งาน iPhone ทั่วโลก คือการที่แอปเปิลเปิดให้สามารถแก้ไข หรือลบข้อความที่ส่งได้ในแอป Messages ซึ่งแน่นอนว่า จะมีคำถามที่ตามมาว่า ช่วงเวลาที่สามารถแก้ไข หรือลบข้อความได้จะนานแค่ไหน คำตอบที่ได้คือ แอปเปิล เปิดระยะเวลาให้ 15 นาทีในการแก้ไข หรือลบข้อความ
เพียงแต่หลังจากที่มีการแก้ไข หรือลบข้อความ คู่สนทนาฝ่ายตรงข้ามก็ยังจะได้รับการแจ้งเตือนว่า มีการแก้ไขข้อความ หรือลบข้อความออกอยู่เช่นเดิม และที่สำคัญคือการจะเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ ทั้ง 2 เครื่องที่ส่งข้อความหากันจะได้ทำงานบน iOS 16 ด้วย
ส่วนใน iPadOS 16 ที่เพิ่มความสามารถสำคัญให้ iPad Pro และ iPad Air ที่ใช้ชิป M1 สามารถใช้งาน Stage Manager (ตัวจัดการให้อยู่ตรงกลาง) เหมือนใน macOS Ventura ทำให้ iPad มีความใกล้เคียงกับการเป็นแล็ปท็อปมากยิ่งขึ้น
เบื้องหลังที่ทำให้ iPad สามารถทำงานแบบมัลติทาสก์ได้ไม่แตกต่างจาก MacBook คือการใช้ความสามารถของชิป M1 ที่ประมวลผลได้รวดเร็ว และสามารถดึงพื้นที่เก็บข้อมูลที่เหลืออยู่มาใช้งานแทนหน่วยความจำได้สูงสุดถึงแอปพลิเคชันละ 16 GB ดังนั้น จึงทำให้สามารถเปิดใช้งานหลากหลายแอ และประมวลผลพร้อมกันได้ พร้อมกับช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับมอนิเตอร์ภายนอกเพื่อใช้งานแทนคอมพิวเตอร์ได้ด้วย